รอยแห่งวัฒนธรรม

“หากไม่เปิดเปลือยจะไม่รู้ว่ามีความงามใดซ่อนอยู่.. หากไม่สังเกต อาจหลงเข้าใจว่าบุรุษนุ่งเตี่ยวยืนกลางลำธารใสเย็น ..”

ตามตำนานที่เล่าขานมาสู่ยุคปัจจุบันและภาพที่ปรากฏบนจิตรกรรมฝาผนังอายุนับร้อยปีในหลายภูมิภาค ในอดีตนับร้อยหรืออาจย้อนไปนับพันปี แผ่นดินไทยทางภาคกลางตอนบน ภาคเหนือ และภาคอีสาน เคยปรากฏรูปแบบศิลปะแห่งการ “สัก” บนเรือนกายท่อนล่าง นับจากเอวสู่ต้นขา อาจยาวไปถึงโคนเข่า หรือปลายเท้า มีลักษณะคล้ายคลึงกันในบุรุษชาติพันธุ์เดียวกัน แต่มีเอกลักษณ์เฉพาะของลวดลายที่แตกต่างจากลายสักของชนชาติพันธุ์อื่น ความงดงามที่ดูเข้มขลังนี้ถูกเรียกขานจากผู้ที่พบเห็นด้วยชื่อที่บ่งบอกถึงลักษณะที่ปรากฏว่า “สักขาลาย” “สักหมึก” “สักเตี่ยวก้อม” “สักกางเกง” ฯลฯ

ในอดีต “บุรุษ” ของกลุ่มชาติพันธุ์ในดินแดนล้านนา อาทิ คนเมือง (ไตยวน) ไทใหญ่ (ไต) ลัวะ (ละว้า) กะเหรี่ยง (ปกาเกอะญอ หรือ ยาง) ไทลื้อ (ไตลื้อ) ขมุ (ลาวเทิง) ฯลฯ เมื่อย่างเข้าสู่วัยฉกรรจ์มีจำนวนมากที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการสืบทอดลวดลายโบราณที่มีแบบแผนอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะในแต่ละชาติพันธุ์ เป็นความงามที่สืบต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น อาจหลายร้อยปีหรือนับพันปี ถือเป็นตัวแทนศิลปะบนเรือนกาย เป็นความงามที่ต้องอดทนต่อความเจ็บปวดที่อาจต้องแลกด้วยชีวิต จึงมีคำบอกเล่าว่า “คนในยุคนั้นหากไม่ใช้ฝิ่นจะไม่สามารถทนต่อความเจ็บปวดได้” และไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในทุกสิบคนจะมีคนเสียชีวิตสองถึงสามคนเสมอ แต่คนส่วนใหญ่ถือว่าคุ้มค่า เป็นความภาคภูมิใจที่จะปรากฏอยู่บนเรือนร่างและคงอยู่ตราบลมหายใจสุดท้ายของชีวิต โดยมีคำกล่าวหยอกล้อในหมู่ผู้เฒ่าที่ปรากฏในทุกพื้นที่ของการเดินทางบันทึกภาพว่า “กบเคียดขามันยังลาย ถ้าป้อจายขาบะลายบะเอามาแป๋งผัว” (กบเขียดขายังลาย ถ้าผู้ชายขาไม่ลายไม่เอาเป็นผัว)

ปัจจุบันเมื่อความเจริญเข้าสู่ทุกพื้นที่ วิถีแห่งความเชื่อ ความคิด การดำรงซึ่งอัตลักษณ์เฉพาะแห่งท้องถิ่น เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แทบไม่ปรากฏบุรุษอายุต่ำกว่า 80 ปี จะสักขาลายตามวิถีแห่งคนยุคก่อนอีก ความภาคภูมิใจในวิถีแห่งบุรุษสักขาลายกำลังกลายเป็นเพียงสิ่งตกค้างของกาลเวลาที่ใกล้จะจากไปพร้อมอายุขัยของผู้ครอบครองเรือนกาย ภาพที่บันทึกคือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่คงอยู่เพื่อบอกเล่าให้คนในยุคปัจจุบันได้เห็นและภาคภูมิใจในคุณค่าของ “อัตลักษณ์เฉพาะแห่งรอยสักในแผ่นดินไทย”