ความเป็นมาของโครงการ

ความเป็นมาของโครงการ

          การใช้ภาพถ่ายเพื่อบันทึกเรื่องราวต่างๆ ได้แพร่หลายอย่างกว้างขวางจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ภาพถ่ายนั้นสามารถบ่งบอกถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแผ่ขยายไปยังเมืองต่างๆในทุกมุมโลก เช่นเดียวกันในสยามประเทศ รวมถึงหัวเมืองต่างๆในเขตล้านนา  ภาพถ่ายถือเป็นสิ่งบันทึกข้อมูลด้านต่างๆของประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงเรื่องราวทางศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต ทั้งภาพถ่ายบุคคล, ภาพถ่ายสถานที่สำคัญ และสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในล้านนา เมื่อภาพถ่ายเหล่านั้น ผ่านช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์สู่ยุคปัจจุบัน ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ อันเป็นแหล่งข้อมูลในการเรียนรู้ สามารถนำไปอ้างอิง ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ได้ อนึ่งหากภาพถ่ายโบราณเหล่านี้ไม่ถูกจัดเก็บ และรวบรวมอย่างเป็นระบบ อาจทำให้ภาพถ่ายโบราณเหล่านั้นสูญหาย และเสื่อมสลายไปพร้อมกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญและทรงคุณค่า

          หอภาพถ่ายล้านนา ได้ถูกริเริ่มโดยรองศาสตรจารย์กันต์  พูนพิพัฒน์ ผู้ก่อตั้ง สาขาวิชาศิลปะการถ่ายภาพ ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เล็งเห็นถึงคุณค่าของภาพถ่ายโบราณของล้านนาเหล่านี้ และไม่สามารถละเลยได้กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ จึงเป็นผู้ริเริ่มในการดำเนินการจัดตั้ง “หอภาพถ่ายล้านนา” เพื่อเป็นศูนย์กลางในการจัดเก็บภาพถ่ายล้านนาโบราณรวมถึงข้อมูลต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏบนภาพถ่ายโบราณ และภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนังในล้านนา เพื่อดำเนินการอนุรักษ์และจัดการอย่างเป็นระบบ คือภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนังของวัดต่างๆในล้านนา โดยใช้สื่อเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบันทึก และจัดเก็บให้เป็นระบบที่ควรจะเป็น โดยบูรณาการองค์ความรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เพื่อให้ได้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ จากความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ ตลอดจนสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในหลากหลายด้าน การดำเนินงานเพื่อจัดตั้ง “หอภาพถ่ายล้านนา” นั้น ถือเป็นการจัดตั้งหอภาพถ่ายแห่งแรก และแห่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน และเป็นแห่งที่สองของเอเชีย ซึ่งปัจจุบันสามารถพบหอภาพถ่ายได้ในหลายประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศสตั้งอยู่ที่กรุงปารีส (Paris), ประเทศรัสเซียตั้งอยู่ที่กรุงมอสโคว์ (Moscow), ประเทศอังกฤษตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน (London) เป็นต้น จะเห็นได้ว่าในแต่ละอารยะประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการจัดเก็บภาพถ่ายโบราณ  อันบ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ ข้อมูลและบันทึกทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นตัวบ่งชี้ ถึงความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคต่างๆผ่านการะบวนการถ่ายภาพ ซึ่งถูกบันทึกไว้ในช่วงเวลานั้น

        ปัจจุบันหอภาพถ่ายล้านนา เข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของมูลนิธิรองศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์ ภายใต้การจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันในการขอใช้พื้นที่อาคารสำนักงานของเทศบาลนครเชียงใหม่ เพื่อดำเนินตามวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานให้บรรลุเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้ คืองานด้านการอนุรักษ์ เผยเเพร่ ต่อยอดให้เกิดกระบวนการเรียนด้านทางด้านประวัติศาสตร์ของล้านนาในมติต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อสังคมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ผ่านภาพถ่ายโบราณ ภาพจิตรกรรมฝาผนังในล้านนา รวมถึงความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่างๆทั้งในและต่างประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

 

                                                                                                             ศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

                                                                                                                                  ผู้ก่อตั้งหอภาพถ่ายล้านนานา และมูลนิธิรองศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์