วัดเวียงต้าทิศตะวันออก

Description

Digital Data

TITLE:
แพร่
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังทิศตะวันออก แถวล่างช่องที่ 1 เขียนเรื่องราวในชาดกเรื่อง “ก่ำก๋าดำ” ภาพเขียนในช่องนี้เขียนเล่าเรื่องราวต่างๆไว้หลายตอน ประกอบด้วย ภาพเขียนบริเวณกลางภาพ (ฝั่งขวาของปราสาท) เป็นเหตุการณ์ในตอนที่ก่ำก๋าดำ ตอบปริศนาของนางเทพกัญญาและนางพิมพา ส่วนภาพเขียนบริเวณฝั่งซ้ายของปราสาท เป็นเหตุการณ์ในตอนที่พระอินทร์ถามปริศนากับก่ำก๋าดำ เพื่อให้เกิดการรู้แจ้งแก่คนทั่วไป ถัดมาบริเวณด้านล่างของปราสาท เป็นเหตุการณ์ในตอนที่ก่ำก๋าดำถอดรูปเสื้อทิพย์ผิวดําออก เพื่อไปตอบปัญหาปริศนาธรรมกับพระอินทร์ ครั้นนางเทพกัญญาและนางพิมพา มาพบจึงนำไปเผาไฟเสีย 

ในจิตรกรรมช่องนี้มีชุดอักษรล้านนากำกับอยู่ด้วยกันหลายชุด ประกอบด้วย ชุดอักษรบริเวณด้านบนซ้าย อ่านได้ความว่า “พญาอินทร์ถามปั๋ญหากับเจ้าก๋าดําในโอกาสเปื้อใคร่หื้อแจ้งแก่ปริสัทตังหลายแล” แปลได้ว่า “พระอินทร์ถามปริศนากับเจ้าก่ำก๋าดํา เพื่อต้องการให้เหล่าบริษัททั้งหลายได้รู้แจ้งด้วย” 

ถัดมาเป็นชุดอักษรบริเวณกลางภาพด้านบน อ่านได้ความว่า “อินทร์พรหมตังหลายลงมาอุสสาราจ๊ะภิเสกเจ้าก๋าดํา หื้อเป๋นพญาราชปั๋ณฑิตตะในเมืองปาราณสีแล้วหื้อ สองนางปี้น้องเป๋นราชจ๊ะเตวีวันนั้น แม่นหนี้แล” แปลได้ว่า “พระอินทร์และพระพรหมลงมาบรมราชาภิเษกให้เจ้ากาดําเป็นพระเจ้าราชบัณฑิต (ก่ำก๋าดำ) ในเมืองพาราณสี แล้วให้นาง สององค์พี่น้องเป็นพระราชเทวีในวันนั้น” 

ถัดมาเป็นชุดอักษรบริเวณมุมบนขวา อ่านได้ความว่า “อันนี้แม่นสองนางปี้น้องไปสวน” แปลได้ว่า “อันนี้คือนางสององค์พี่น้องไปเที่ยวยังอุทยาน” 

ถัดมาเป็นชุดอักษรบริเวณด้านซ้ายของภาพ (เหนือกำแพง) มีทั้งหมด 3 คำ ประกอบด้วย อักษรบริเวณซ้ายสุดคำแรกอ่านได้ว่า “เตวดา” แปลว่า “เทวดา” คำที่สองอ่านได้ว่า “วิสุก๋รรม” แปลว่า “พระวิษณุกรรม” และคำที่สามอ่านได้ว่า “มหาพรหม” แปลได้ว่า “ท้าวมหาพรหม”  

ถัดมาเป็นชุดอักษรบริเวณมุมล่างซ้าย อ่านได้ว่า “พญาฮ้อยเอ็ด” แปลได้ว่า “พญามาจากร้อยกว่าเมือง” และชุดอักษรบริเวณฝั่งซ้าย (หน้าลานปราสาท)  อ่านได้ว่า “พญาปาราณสี” แปลว่า “พญาพาราณสี” 

ถัดมาเป็นชุดอักษรบริเวณปราสาท (ฝั่งซ้ายในช่องล่างซ้าย) อ่านได้ความว่า “ปิมปาคะนุ่นงิ้ว” แปลได้ว่า “นางพิมพา (พิมพานุ่นงิ้ว)” ถัดมาเป็นชุดอักษรบริเวณด้านขวาล่าง อ่านได้ว่า “นางเต๊ปป๊ะกั๋ญญา” แปลได้ว่า “นางเทพกัญญา”

ถัดมาเป็นชุดอักษรบริเวณช่องกลางของปราสาท อ่านได้ความว่า “เจ้าก๋าดําแก้ปั๋ญหาสองปี้น้อง” แปลได้ว่า “ก่ำก๋าดําไขปริศนาของสองพี่น้อง” 

ถัดมาเป็นชุดอักษรบริเวณช่องขวาสุดของปราสาท อ่านได้ว่า “ปิมปาคะนุ่นงิ้ว” แปลได้ว่า “นางพิมพา (พิมพานุ่นงิ้ว)” และ “นางเต๊ปป๊ะกั๋ญญา” แปลได้ว่า “นางเทพกัญญา” 

ถัดมาเป็นชุดอักษรบริเวณปราสาท (ฝั่งซ้ายด้านล่างของปราสาท) มีอักษรล้านนากำกับอยู่ อ่านได้ว่า “ปิมปาคะนุ่นงิ้ว” แปลได้ว่า “นางพิมพา (พิมพานุ่นงิ้ว)” และ “นางเต๊ปป๊ะกั๋ญญา” แปลได้ว่า “นางเทพกัญญา” 

ถัดมาเป็นชุดอักษรบริเวณ ด้านซ้ายล่างหน้าปราสาท อ่านได้ความว่า “นางจั๋นต๊ะ” แปลได้ว่า “นางจันทะเทวี” 

ถัดมาเป็นชุดอักษรบริเวณกลางภาพด้านล่าง (หน้าปราสาท) อ่านได้ความว่า “เอาคราบเผา” น่าจะแปลได้ว่า “นำรูปเสื้อทิพย์ผิวดําของก่ำก๋าดำเอาไปเผาไฟ” 

ถัดมาเป็นชุดอักษรบริเวณลานหน้าปราสาทฝั่งขวา ชุดอักษรขวาสุด อ่านได้ความว่า “สองนางปี้น้องไล่เอาเจ้าก๋าดําแล” แปลได้ว่า “นางสองคนพี่น้องไล่จับก่ำก๋าดำ” 

ถัดมาเป็นชุดอักษรบริเวณบริเวณกลางลานมี 2 คำ อ่านได้ว่า “ปิมปาคะนุ่นงิ้ว” แปลได้ว่า “นางพิมพา (พิมพานุ่นงิ้ว)” และ “นางเต๊ปป๊ะกั๋ญญา” แปลได้ว่า “นางเทพกัญญา” 

ถัดมาเป็นชุดอักษรบริเวณด้านล่างขวา (ฝั่งซ้ายของประตูวัง) อ่านได้ความว่า “เจ้าก๋าดําลอกคราบไว้ไปหานางแล” แปลได้ว่า “เจ้าก่ำก๋าดําลอกคราบเสื้อทิพย์สีดําทิ้งไว้แล้วไปเที่ยวหาหญิงสาว” 

ถัดมาเป็นชุดอักษรบริเวณมุมล่างขวา (บริเวณกำแพงวัง) อ่านได้ความว่า “เจ้าก๋าดําไปแอ่วหาสองนางปี้น้องคืนมาแล” แปลได้ว่า “ก่ำก๋าดําไปเที่ยวหานางสองคนพี่น้องแล้วกลับคืนมา”

นอกจากนี้ยังมีจารึกอักษรล้านนาที่เขียนขึ้นภายหลังด้วยดินสอและปากกา เพื่อเป็นการเตือนไม่ให้จับหรือลูบบนภาพเขียน ซึ่งภาพอาจจะเกิดความเสียหายได้ โดยเขียนกำกับเป็นข้อความอักษรล้านนาไว้หลายจุด ประกอบด้วย ชุดอักษรบริเวณกลางภาพ (เหนือปราสาท) อ่านได้ความว่า “ปุก๊ะละผู้ใดมาเหยี้ยมจะไปหยุบเน้อ” แปลได้ว่า “บุคคลผู้ใดมาเยี่ยมชมห้ามจับ” ถัดมาเป็นชุดอักษรบริเวณเหนือขบวนนางสนมกำนัล อ่านได้ความว่า “หะกั๋นธะวะขะเล” (ไม่สามารถแปลความหมายได้) หรือที่จั่วของปราสาท เขียนด้วยดินสออ่านไดความว่า “1 8 โก๋ 1 8 4 8 0” (ไม่สามารถแปลความหมายได้)

ส่วนภาพเขียนบริเวณมุมล่างด้านขวานี้ น่าจะเป็นส่วนเริ่มเล่าเรื่องในจิตรกรรมฝาผนังในช่องนี้ เขียนเรื่องราวในชาดกตอนหนึ่งความว่า “ครั้นนั้นก่ำก๋าดำได้ถอดรูปเสื้อทิพย์สีดํา ออกไปเที่ยวหาสาวในเมืองพาราณสี และเข้าไปในวัง ครั้นได้ปพบกับนางเทพกัญญาและนางพิมพา” บริเวณนี้มีอักษรล้านนาเขียนกำกับอยู่ (บริเวณด้านล่างขวาฝั่งซ้ายของประตูวัง)  อ่านได้ความว่า “เจ้าก๋าดําลอกคราบไว้ไปหานางแล” แปลได้ว่า “เจ้ากาดําลอกคราบเสื้อทิพย์ผิวดําทิ้งไว้แล้วไปเที่ยวหาหญิงสาว” มุมล่างขวาบริเวณกำแพงวัง อ่านได้ความว่า “เจ้าก๋าดําไปแอ่วหาสองนางปี้น้องคืนมาแล” แปลได้ว่า “ก่ำก๋าดําไปเที่ยวหานางสองคนพี่น้องแล้วกลับคืนมา” 

ในภาพบริเวณประตูวัง จะเห็นก่ำก๋าดำถอดรูป คราบเสื้อทิพย์ผิวดําออก ปรากฎเป็นเจ้าชายรูปงาม เพื่อไปหานางเทพกัญญาและนางพิมพา และกลับมาใส่คราบเสื้อทิพย์ผิวดําเมื่อรุ่งสาง 

ก่ำก๋าดำทรงเครื่องแบบคล้ายกับเจ้าชาย เครื่องทรงทำมาจาดผ้ายกทอง คือสวมเสื้อคอตั้งแขนยาว นุ่งโจงกระเบน มีผ้าสีแดงขลิบชายด้วยดิ้นทองมาคล้องคอห้อยชายไปด้านหลัง ไว้ผมทรงมหาดไทย

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิ รองศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิ รองศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
15/02/2021
RESOURCE TYPE:
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา มูลนิธิ รองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
SOURCE:
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
COVERAGE:
วัดเวียงต้า อำเภอลอง จังหวัดแพร่ (มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์)
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิ รองศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
แพร่
IMAGE CODE:
02_27_20210215_MR27-01_01
SUBJECT AGE:
ประมาณปี พ.ศ. 2380 – 2410
CATEGORY:
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
หอภาพถ่ายล้านนา, มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์,แปลอักษรล้านนา โดยคุณภูเดช แสนสา
COVERAGE:
วัดเวียงต้า อำเภอลอง จังหวัดแพร่ (มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์) View map
ORIGINAL SIZE:
9.24 x 2.04 เมตร
DIGITAL SIZE:
20,585 x 5173 Pixels