วัดหนองบัว ทิศใต้ช่องที่ 1-2-3(กัณฑ์ที่ 9)1.0

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพเขียนจิตรกรรมเรื่องราวในกัณฑ์ที่ 9 ตโยเสฏฐีธิตาเปสนกัณฑ์ เริ่มเขียนเล่าเรื่องตั้งแต่ฝาผนังทิศใต้บริเวณผนังระหว่างหน้าต่างช่องที่ 2 และ 1 (ส่วนล่าง) แล้วจึงวกกลับไปฝาผนัง (ส่วนบน) ตั้งแต่เหนือหน้าต่างช่องที่ 1 และเขียนเล่าเรื่องต่อไปยังฝาผนังบริเวณหน้าต่างช่องที่ 1 และ 2 (ส่วนบน) ถัดไปจึงเขียนภาพที่ฝาผนังบริเวณเหนือหน้าต่างช่องที่ 2 (ส่วนบน) เขียนเล่าเรื่องไปยังในส่วนบนของฝาผนังระหว่างหน้าต่างช่องที่ 2 และ 3 แล่วจึงเขียนภาพบนผนัง (ส่วนบน) ของหน้าต่างช่องที่ 3 ไปยังบริเวณด้านบนของฝาผนังบริเวณระหว่างหน้าต่างช่องที่ 3 และ 4 ซึ่งภาพเขียนในกัณฑ์ที่ 9 ตโยเสฏฐีธิตาเปสนกัณฑ์ เขียนจบที่บริเวณเหนือหน้าต่างช่องที่ 4 (ด้านบน)

เรื่องราวในกัณฑ์ที่ 9 ตโยเสฏฐีธิตาเปสนกัณฑ์ เป็นเรื่องราวการเดินทางของเจ้าจันทคาธและธิดาทั้ง 3 ของเศรษฐี เพื่อนำนางทั้งสามกลับเมืองสังกัสนคร ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เขียนต่อมาจากกัณฑ์ที่ 8 วนวสนกัณฑ์ โดยภาพจิตรกรรมในช่องที่ 1 (ระหว่างหน้าต่างช่องที่ 2 และเหนือหน้าต่างช่องที่ 1) เป็นภาพเขียนในส่วนแรกของกัณฑ์นี้ 

เป็นเรื่องราวของเศรษฐี 5 ตระกูลได้รับความเดือดร้อน เหล่าญาติลูกหลาน บ่าวไพร่รวมถึงสัตว์เลี้ยงต่างๆได้ถึงความพินาศ เกิดวิบัติด้วยโรคภัย จึงหารือกันถึงหนทางการแก้ไขความเดือดร้อนนี้ และได้ยินมาว่ามีบุรุษผู้หนึ่งมีฤทธาอัศจรรย์ ใครถามสิ่งใดย่อมบอกได้ดุจตาเห็น พวกเราควรไปถามดู” กระนั้นจึงพากันไปพบเจ้าจันทคาธที่อาศัยอยู่กับพวกกรมช้าง เมื่อเจ้าจันทคาธทรงทราบความจากเหล่าเศรษฐีทั้ง 5 ตระกูล จึงบอกเศรษฐีทั้ง 5 ไปว่า “ในที่ใกล้เรือนของพวกท่านมีขุมทรัพย์ใหญ่ขุมหนึ่ง พวกภูตที่รักษาเกิดอดอยาก ได้พากันเบียดเบียนคน สัตว์ กินมังสะและโลหิต” ได้ยินเช่นนั้นเศรษฐีทั้ง 5 จึงไหว้วานให้เจ้าจันทคาธช่วยขับไล่ภูตเหล่านั้นเสีย ได้ยินเช่นนั้นเจ้าจันทคาธจึงบอกให้เศรษฐีทั้ง 5 จงเอาเนื้อสดไปวางไว้ที่ขุมทรัพย์แล้วมาบอกเรา เมื่อเศรษฐีทั้ง 5 กระทำตามที่เจ้าจันทคาธบอกแล้ว จึงกลับไปแจ้งแก่เจ้าจันทคาธ มหาบุรุษผู้มีฤทธาจึงถือพระขรรค์แก้ว แล้วเสด็จออกไปที่ตั้งขุมทรัพย์ ทอดพระเนตรเห็นพวกภูตกำลังกินเนื้อนั้นอยู่ จึงชักพระขรรค์ออกแกว่ง ด้วยฤทธาของพระขรรค์เหล่าภูตผีจึงพากันหนีไป

จากนั้นเจ้าจันทคาธจึงให้คนทั้งหลายขุดเอาทรัพย์ในขุมนั้นขึ้นมา เเละเหล่าเศรษฐีทั้งหลายจึงได้ยกทอง 5 แสนถวายเจ้าจันทคาธ นับแต่นั้นคนเเละเหล่าสัตว์ทั้งหลายมิได้เจ็บไข้ล้มตายเหมือนในกาลก่อน ฝ่ายเจ้าจันทคาธจึงนำทองที่ได้จากเศรษฐีถวายทานแก่สมณพราหมณ์และยาจกวณิพพก 

ในภาพมีการเขียนภาพชาวเมืองนิมนต์พระภิกษุมาช่วยในการทำพิธีขับไล่ภูตผี รวมทั้งภาพการถวายทานแก่สมณพราหมณ์และยาจกวณิพพกของเจ้าจันทคาธ แทนการเขียนจิตรกรรมในตอนที่ไปหาขุมทรัพย์ 

ส่วนภาพเขียนฝั่งซ้าย เป็นภาพเขียนชาวบ้านที่มาร่วมกันทำบุญในครั้งนี้ ส่วนภาพเขียนฝั่งขวาเขียนภาพเจ้าจันทคาธขณะกำลังทำการปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้กับเศรษฐี 5 ตระกูลเเละญาติที่ได้รับความเดือดร้อน

ต่อมาเป็นภาพเขียนบริเวณด้านบนเหนือหน้าต่างช่องที่ 1 ยังคงเป็นเรื่องราวในส่วนต่อจากตอนแรกของกัณฑ์ที่ 9 ตโยเสฏฐีธิตาเปสนกัณฑ์ เป็นเรื่องราวในตอนที่เจ้าจันทคาธพาธิดาทั้ง 3 ของเศรษฐีกลับมาส่งที่เมืองสังกาสะ 

ครั้นนั้นเจ้าจันทคาธเดินทางเพื่อพาธิดาทั้ง 3 ของเศรษฐีกลับมาส่งที่เมืองสังกาสะ ระหว่างทางทอดพระเนตรเห็นเรือนๆหนึ่ง เข้าพระทัยว่าเป็นเรือนมนุษย์จึงเสด็จแวะเพื่อหยุดพัก ทรงเหลือบเห็นหญิงชาวเมือง 7 คนที่กำลังทำงานอยู่ ก็ทรงทราบอาการทันทีว่าเป็นยักษ์ ครั้นเมื่อนางยักษ์เห็นมนุษย์เดินผ่านมา จึงคิดว่าควรจะลวงคนทั้ง 4 นี้ไว้จนกว่าสามีเรากลับมา ฝ่ายธิดาทั้ง 3 ของเศรษฐีซึ่งไม่รู้ว่าหญิงชาวเมืองที่เห็นคือนางยักษ์ จึงได้พากันอ้อนวอนให้เจ้าจันทคาธพักเสียที่นี้ก่อน แต่เจ้าจันทคาธทรงรู้ว่าที่เเห่งนี้คือเรือนของยักษ์ จึงไม่อยากเเวะพัก ณ เรือนนี้ เป็นเวลาเดียวกันกับที่ยักษ์เพศชายตนหนึ่งกลับมาพร้อมกับซากมนุษย์ ครั้นเมื่อนางทั้ง 3 เห็นก็พากันตกใจกลัว เมื่อพวกยักษ์เห็นเจ้าจันทธคาธเเละนางทั้ง 3 จึงจ้องเข้ามาจับ เมื่อเห็นเช่นนั้นเจ้าจันทคาธจึงลุกขึ้นเเล้วมุ่งตรงไปที่สระหนึ่ง เห็นเป็นเช่นนั้นนางทั้ง 3 จึงขึ้นเเล้วเดินตามไป ครั้นเมื่อถึง​สระ เจ้าจันทคาธจึงรับสั่งให้นางทั้ง 3 ยืนอยู่ริมสระ ส่วนตนนั้นลงไปในสระ เมื่อยักษ์ตามถึงเเล้วมิเห็นเจ้าจันทคาธจึงแสดงอาการเเละหันไปจับนางทั้ง 3 เเทน เมื่อเห็นกระนั้นพวกนางจึงร้องหวีดหวาดขึ้นว่า “จงรีบขึ้นเถิด ยักษ์มาจะจับพวกดิฉันแล้ว” นางทั้ง 3 ต่างก็ร้องไห้อ้อนวอนต่อยักษ์ว่า  “พี่จงให้ชีวิตแก่พวกดิฉันเถิด” ครั้นเมื่อยักษ์มาใกล้เจ้าจันทคาธจึงขึ้นจากสระ เเล้วให้นางทั้งสามเกาะที่ตัวเพื่อจะเหาะหนีขึ้นสู่อากาศ ยักษ์ผู้เป็นสามีนิรมิตกายให้สูง 7 ชั่วลำตาล และให้แขนยาว เหยียดมือออกไปจับคนทั้ง 4 กระนั้นเจ้าจันทคาธจึงชักพระขรรค์วิเศษฟันมือยักษ์ตนนั้นขาด เเต่ก็มือที่ขาดนั้นก็ยังมิหมดฤทธิ์ กลายเป็นมือใหญ่เข้าจับเจ้าจันทคาธ เห็นเป็นเช่นนั้นจึงเเกว่งพระขรรค์ตัดศีรษะ เเละล้มนิ่งอยู่พื้นดิน ฝ่ายนางยักษินีก็แปลงกายใหญ่โต มีนัยน์ตาเท่าผลมะพร้าว วิ่งมาปรารภจะจับชนทั้ง 4 กิน เเต่มิสามารถทำอันตรายต่อเจ้าจันทคาธเเละนางทั้ง 3 ได้ จึงถูกเจ้าจันทคาธปลิดชีวิตในเวลาต่อมา จากนั้นจึงพากันเหาะไปในอากาศเเละเเวะลงที่ยอดเขาแห่งหนึ่ง

ถัดมาเป็นภาพเขียนบริเวณเหนือหน้าต่างช่องที่ 2 ด้านบน เป็นเรื่องราวของตอนที่เจ้าจันทคาธและนางทั้ง 3 ได้พบกับผีเย็นขณะเดินทางไปเมืองสังกัสสะ 

ถัดมาบริเวณด้านบนฝาผนังระหว่างหน้าต่างช่องที่ 2 และ 3 เป็นตอนที่เจ้าจันทคาธเดินทางต่อไปอีกได้ 7 วันก็ไปถึงภูเขาลูกหนึ่งสูง 5 โยชน์ จึงเเวะหยุดพักที่เชิงเขา เเล้วจึงเหาะเหนือยอดไม้ไปตลอดทางอีก 7 วัน จึงพ้นทางกันดาร เเละเขียนเล่าเรื่องต่อไปบริเวณด้านบนเหนือหน้าต่างช่องที่ 3 เป็นตอนที่เจ้าจันทคาธ เเละนางทั้ง 3 จักดำน้ำลงไปทางนี้ 3 วันถึงประตูถ้ำ เมื่อออกจากประตูถ้ำ จึงได้กับพบกับนายพรานคนหนึ่ง จึงถามพรานนั้นว่า “แนวป่านี้เป็นเขตของสังกัสสะใช่หรือ”  นายพรานจึงตอบว่า “ใช่” 

ถัดมาเป็นภาพเขียนบริเวณด้านบนเหนือหน้าต่างช่องที่ 4 เป็นเรื่องราวตอนท้ายของกัณฑ์ที่ 9 ตโยเสฏฐีธิตาเปสนกัณฑ์ เป็นเรื่องราวในตอนที่เจ้าจันทคาธถึงบ้านเศรษฐี ณ เมืองสังกัสสะ และพานางทั้ง 3 ให้แก่บิดามารดา ครั้นนางทั้ง 3 ได้พบกับบิดา เหล่าบิดาทั้ง 3 จึงได้ถามกับจันทคาธว่าได้ทั้ง 3 เป็นภรรยาหรือยัง เจ้าจันทคาธจึงเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้เศรษฐีทั้ง 3 ฟัง ว่าตนนั้นไม่เคยล่วงเกินนางทั้ง 3 แม้แต่น้อย เมื่อได้ยินดังนั้นก็นำความปลาบปลื้มใจแก่เศรษฐีทั้ง 3 จึงได้ยกธิดาทั้ง 3 เป็นบาทบริจาริกาแก่เจ้าจันทคาธ 

เจ้าจันทคาธอยู่ได้ 22 วันก็ระลึกถึงนางเทวธิสังกา จึงบอกลานางทั้ง 3 ว่า “เราพลัดจากนางเทวธิสังกามานาน เมื่อระลึกถึงใคร่จักลาเจ้าไปตามนาง” จึงเข้าไปแจ้งเรื่องราวแล้วอำลาเหล่าเศรษฐี  เเละฝากภรรยาทั้ง 3 นางไว้ในสำนักบิดามารดา เเล้วใส่เกือกแก้วถือพระขรรค์กายสิทธิ์เหาะเรื่อยไปตามอากาศ แล้วลงริมฝั่งแม่น้ำอจิรวดี นั่งอยู่ ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง ลงอาบน้ำ แล้วขึ้นมานั่งบริโภคโภชนาหารอยู่ที่เดิม เเล้วจึงจบกัณฑ์ที่ 9 ตโยเสฏฐีธิตาเปสนกัณฑ์

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
07/02/2558
RESOURCE TYPE:
จิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
จิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
COVERAGE:
วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
000
SUBJECT AGE:
CATEGORY:
จิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
17.29 x 3.4 เมตร(ขนาดรวมทั้งฝาผนัง)
DIGITAL SIZE:
15,200 x 9,400 Pixels