จิตรกรรมพุทธประวัติมุขทิศตะวันออก 1.3

Category:

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพเขียนพระพุทธเจ้าปางมารวิชัย ประทับอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว แวดล้อมด้วยเหล่าพระสาวก ในบริเวณนี้มีอักษรล้านนาเขียนกำกับอยู่บริเวณด้านบนของพระสาวกทุกๆองค์ ประกอบด้วย ชุดอักษรล้านนาบริเวณด้านบนของพระสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า (พระสาวกองค์ขวาสุด) อ่านได้ความว่า “กัญจญาเถน” หรือ “กัจจายนาเถร” หมายถึง “พระสังกัจจายน์” ถัดมาเป็นชุดอ่านได้ความว่า “โมกขลานะ” หมายถึง “พระมหาโมคคัลลานะ” ส่วนชุดอักษรล้านนาบริเวณด้านบนของพระสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า (พระสาวกองค์ซ้ายสุด) อ่านได้ว่า “พระราหุลเถร” หมายถึง”พระราหุล” ถัดมาเป็นชุดอักษรล้านนาบริเวฯด้านบนของพระสาวกองค์ที่สองจากซ้ายสุด อ่านได้ว่า “สินพระลี” หมายถึง “พระสีวลี” ถัดมาองค์ที่สามจากซ้าย อ่านได้ความว่า “สาลีบุด” หมายถึง “พระสารีบุตร” และชุดอักษรล้านนาบริเวณด้านบนของพระสาวกองค์แรกอยู่เบื้องขวาของพระพุทธเจ้า อ่านได้ความว่า “อานันทะ” หมายถึง “พระอานนท์” 

ภาพเขียนพระพุทธเจ้าปางมารวิชัย เป็นอิริยาบถหนึ่งของพระพุทธเจ้า ในพระพุทธประวัติกล่าวไว่ว่า เป็นปางที่พระพุทธเจ้ามีชัยชนะต่อมารทั้งปวง คือ พระมหาบุรุษทรงมารวิชัยกำจัดมารให้พ่ายแพ้ได้เด็ดขาด ตั้งแต่เวลาเย็นพระอาทิตย์ยังมิทันอัสดงคตด้วยพระไตรทศบารมี นอกจากนี้บริเวณเบื้องหลังของพระพุทธเจ้ายังเขียนภาพเขาพระสุเมรุ เหนือยอดเขามีพระอาทิตย์ใกล้อัสดง มีนกกาเหว่า ในภาษาบาลีเรียกว่า “โกกิล” (อ่านว่า โกกิละ) แปลเป็นภาษาไทยว่า “นกดุเหว่า” ทั้งนี้การเขียนภาพนกดุเหล่าอาจแฝงนัยยะ ดังที่กล่าวไว้ในคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถา ที่เปรียบเสียงของนกดุเหว่าว่ามีเสียงไพเราะรื่นรมย์ดั่งเสียงของนกการเวกในวิมานของเทพธิดา 

ส่วนภาพเขียนของเหล่าพระสาวกในภาพ ประกอบด้วย พระสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า องค์แรก คือ พระอานนท์ ในมือถือดอกบัว 2 ดอก ในท่าประนมมือ ดอกแรกเป็นดอกบัวตูม เเละอีกดอกเป็นดอกบัวบาน ซึ่งน่าจะเป็นนัยยะที่แสดงถึงการบรรลุเป็นพระอรหันต์ พระอานนท์ บรรลุเป็นพระอรหันต์สาวกของพระโคตมพุทธเจ้า ทรงได้รับการยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าพระภิกษุสาวกทั้งหลาย 500 ประการ คือ เป็นพหูสูต มีสติ มีคติ มีธิติ และเป็นพุทธอุปัฏฐาก หมายถึง พระผู้มีหน้าที่ดูแลพระพุทธเจ้าในยามมีพระชนมายุมากขึ้น 

ถัดไป คือ พระสาลีบุตร ในมือถือดอกบัว 2 ดอก ในท่าประนมมือ ดอกแรกเป็นดอกบัวตูม เเละอีกดอกเป็นดอกบัวเเย้ม ซึ่งน่าจะเป็นนัยยะที่แสดงถึงการบรรลุเป็นพระอรหันต์ พระสาลีบุตร บรรลุเป็นพระอรหันต์อัครสาวกเบื้องขวาของพระโคตมพุทธเจ้า ทรงได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเลิศกว่าพระภิกษุทั้งปวงในด้านสติปัญญา นอกจากนี้พระสารีบุตรยังมีคุณธรรมในด้านความกตัญญู และการบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่พุทธศาสนาอีกด้วย จึงมีคำยกย่องภิกษุรูปนี้ว่าเป็น “ธรรมเสนาบดี” (แม่ทัพธรรม) คู่กับพระพุทธเจ้าที่เป็น “ธรรมราชา” 

ถัดไป คือ พระสีวลี อิริบถยกพระหัถต์เบื้องซ้ายเท้าที่พระหนุ (คาง) ลักษณะคล้ายอ่านธรรมบนปั๊บสา บนปั๊บสามีอักษรล้านนาเขียนกำกับอยู่ อ่านได้ความว่า “เสตถันติ โลคามะหิตัง อภิวัณธิญคัง” คือคำขึ้นต้นบทสวดบูชาครู อฐิษฐานความสำเร็จต่างๆ ตามแต่ปรารถนาฯ พระสีวลีอดีตคือเจ้าชายในโกลิยวงศ์ ออกบวชในสำนักพระสารีบุตร ถือเป็นผู้มีลาภสักการะมากด้วยกุศลกรรมที่ทำมาแต่อดีต จึงได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ให้เป็นเอตทัคคะผู้เลิศในทาง ผู้มีลาภมาก 

เเละพระสาวกองค์สุดท้าย คือ พระราหุล พระนามเดิมคือ “เจ้าชายราหุล” เป็นพระโอรสในเจ้าชายสิทธัตถะ (พระโคตมพุทธเจ้า) กับพระนางยโสธรา 

ส่วนภาพเขียนพระสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า องค์แรก คือ พระมหาโมคคัลลานะ ในมือถือดอกบัว 4 ดอก ในท่าประนมมือ ซึ่งน่าจะเป็นนัยยะที่แสดงถึง บัวสี่เหล่า ในพระพุทธศาสนา คืออุปมาเปรียบบุคคลเหมือนดอกบัว 4 จำพวก ตามฐานะที่จะบรรลุนิพพานได้ และไม่ได้ในชาตินั้น ตามที่ปรากฏในโพธิราชกุมารสูตรในพระไตรปิฎกภาษาบาลีและคัมภีร์สุมังคลวิลาสินีว่า เมื่อแรกตรัสรู้ พระพุทธเจ้าได้ทรงพิจารณาว่าพระธรรมที่ทรงบรรลุนั้นมีความละเอียดอ่อนสุขุมคัมภีรภาพ ยากต่อบุคคลจะรู้ เข้าใจ และปฏิบัติได้ ต่อมาได้ทรงพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้ว ทรงเห็นว่าบุคคลในโลกนี้มีหลายจำพวก บางพวกสอนได้ บางพวกสอนไม่ได้ การที่สุมังคลวิลาสินีกล่าวว่าพระพุทธเจ้าทรงเปรียบบุคคลเป็นดอกบัว 4 เหล่านั้น เป็นการประยุกต์จากพุทธพจน์เรื่องบุคคล 4 จำพวกที่ตรัสไว้ในอุคฆฏิตัญญุสูตร อังคุตตรนิกาย ปุคคลวรรคที่ 4 พระมหาโมคคัลลานะบรรลุเป็นพระอรหันต์อัครสาวกเบื้องซ้ายของพระโคตมพุทธเจ้า เป็นพระอสีติมหาสาวกผู้เป็นเอตทัคคะในด้านผู้มีฤทธิ์มาก 

ถัดไปเป็นพระสาวกองค์สุดท้าย คือ พระสังกัจจายน์ หรือ “พระสังกระจาย” อิริบถยกพระหัถต์เบื้องขวาเท้าที่พระหนุ (คาง) ลักษณะคล้ายอ่านธรรมบนปั๊บสา บนปั๊บสามีอักษรล้านนาเขียนกำกับอยู่ อ่านได้ความว่า โอกาสะ สัมมะซะนิ” คือ คำขึ้นต้นบทสวดบูชาบทหนึ่ง พระสังกัจจายน์บรรลุเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่งในพระอสีติมหาสาวกของพระโคตมพุทธเจ้า ทรงได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเอตทัคคะในทางผู้อธิบายความย่อให้พิสดาร 

ในภาพทั้งด้านซ้ายเเละด้านขวา (พระสีวลี เเละพระสังกัจจายน์) จะสังเกตเห็นพานใบใหญ่อยู่ 2 ใบ ด้านบนมีปั๊บสาวางอยู่ พานดังกล่าวเรียกว่า “ขัน” ในภาษาล้านนา เป็นเครื่องเขินชนิดหนึ่ง ทำด้วยไม้ไผ่ สานขึ้นรูป ลงยาด้วยยางรักเเละชาด

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
07/02/2558
RESOURCE TYPE:
จิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
จิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
000
SUBJECT AGE:
CATEGORY:
จิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
11.43×6.82 เมตร(ขนาดรวมทั้งฝาผนัง)
DIGITAL SIZE:
76,603×25,593 Pixels

Loading