ภาพพระบฎวัดดอกบัว ผืนที่ 16.2

Category:

Description

Digital Data

TITLE:
พะเยา
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพจิตรกรรมด้านล่างมีอักษรล้านนาที่บริเวณด้านซ้ายล่าง เขียนไว้ว่า “มหารกชถ้วน” หมายถึงกัณฑ์ที่ 11 กัณฑ์มหาราช เป็นเหตุการณ์ที่หน้าปราสาทของกรุงสีพี พระเจ้าสัญชัยประทับเสด็จลงหน้าลานหลวงตอนรุ่งเช้าทอดพระเนตรเห็นชูชกพาพระกุมารน้อยสองพระองค์  ทรงทราบความจริงจึงพระราชทานค่าไถ่คืน พระเจ้าสัญชัยได้ไถ่ตัวสองพระกุมารจากชูชกตามที่พระเวสสันดรกำหนดคือ ชาลีกุมารถ้าจะไถ่ให้พ้นจากทาส ต้องไถ่ด้วยทองหนักหมื่นห้าพันตำลึง ส่วนกัณหานั้นต้องไถ่ด้วยทาสชายหญิง ช้าง ม้า โค รถ อย่างร้อยละร้อย กับทองแท่ง หนัก 5 พันตำลึง 

ในภาพพระเจ้าสัญชัยประทับบนบัลลังค์ เครื่องทรงมีรูปแบบคล้ายเของกษัตริย์พม่า คือสวมพระชฎาสวมกรองศอทับเสื้อแขนยาวแบบพม่า นุ่งผ้าคล้ายโจงกระเบน เสนาอมาตย์ที่นั่งด้านซ้ายและด้านหน้าของพระเจ้าสัญชัย แต่งกายแบบข้าราชการของรัตนโกสินทร์ในยุคนั้นคือ ใส่เสื้อคอตั้งแขนยาว นุ่งโจงกระเบน ไว้ผมทรงมหาดไทยมีรูปแบบคือไว้ผมกลางกระหม่อม โกนรอบข้างจนเกรียน ทำให้ผมตรงกลางมีรูปเหมือนพระอาทิตย์เดิมมีชื่อว่า “มหาอุไทย” นานไปการเขียนสระอุ ก็กลายเป็น ฤ กลายเป็น “มหาฤทัย” ต่อไปเขียน ฤ เป็น ฎ เลยกลายเป็น “มหาฎไทย” ก่อนจะมาใช้ ด แทน เลยกลายเป็น “มหาดไทย” อย่างในทุกวันนี้ ส่วนนางสนมกำนัลที่นั่งฝั่งขวาของพระเจ้าสัญชัย แต่งกายแบบหญิงชาวไทยวนคือ เปลือยอกมีผ้ามาคล้องคอและคลุมไหล่ห้อยชายไปด้านหลัง นุ่งผ้า “ซิ่นต๋า”เป็นผ้าซิ่นที่มีลวดลายเส้นในแนวขวางลำตัว ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของหญิงชาวไทยวนในแถบนี้ ไว้ผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง”ไว้กลางศีรษะมัดมวยด้วยสร้อยคำหรือสร้อยทอง 

ส่วนพระชาลีแต่งกายแบบเด็กชายในราชสำนักพม่าคือ สวมกรองศอทับเสื้อแขนยาวแบบพม่า นุ่งผ้าคล้ายโจงกระเบน พระกัณหาแต่งกายแบบเด็กหญิงชาวไทยวนในล้านนาคือ เปลือยอกมีผ้ามาคล้องคอและคลุมไหล่ห้อยชายไปด้านหลัง นุ่งผ้า “ซิ่นต๋า”เป็นผ้าซิ่นที่มีลวดลายเส้นในแนวขวางลำตัว ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของหญิงชาวไทยวนในแถบนี้ ไว้ผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง”ไว้กลางศีรษะ การแต่งกายของชูชกเปลือยอก นุ่งผ้าพื้นมีลายผืนเดียว ส่วนชายชาวพื้นเมืองที่โกรธแค้นอยู่ด้านหลังชูชก แต่งกายแบบชายชาวไทยวนในแถบนี้คือ เปลือยอกนุ่งผ้ามีลวดลายหรือผ้าพื้นสีเรียบผืนเดียวที่เรียกว่านุ่งแบบ“นุ่งผ้าต้อย”หรือ“เค็ดม่าม”โดยจะม้วนผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมรหรือโจงกระเบน เผยให้เห็นลายสักยันต์ตั้งแต่ท้องน้อยจนถึงหัวเข่าที่มีลวดลายสัตว์หิมพานต์ อันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชายชาวไทยวนในแถบนี้ ไว้ผมสั้น ส่วนหญิงที่ยืนอยู่ด้านล่างบันได แต่งกายแบบหญิงชาวไทยวนคือ ห่มผ้าแบบที่เรียกว่า “สะหว้ายแหล้ง” หรือ “เบี่ยงบ้าย” นุ่งซิ่นต๋าเป็นผ้าซิ่นที่มีลวดลายเส้นในแนวขวางลำตัว ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของหญิงชาวไทยวนในแถบนี้  ไว้ผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง”ไว้กลางศีรษะ

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
21/6/2567
RESOURCE TYPE:
ภาพเขียนจิตรกรรมบนผืนผ้า
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
ภาพเขียนจิตรกรรมบนผืนผ้า
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
รูปแบบการเขียนเห็นได้ชัดเจนว่า เป็นของล้านนาสกุลช่างท้องถิ่น ที่ได้รับอิทธิพลทั้งจากรัตนโกสินทร์ และพม่า นำมาผสมผสานกัน
COVERAGE:
วัดดอกบัว อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
พะเยา
IMAGE CODE:
02_24_20240621_MR_วัดดอกบัว_16.2
SUBJECT AGE:
ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 25
CATEGORY:
ภาพเขียนจิตรกรรมบนผืนผ้า
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดดอกบัว อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ภาคเหนือ ประเทศไทย  view map
ORIGINAL SIZE:
85.5 x 140 cm
DIGITAL SIZE:
2998 x 4642 Pixels

Loading