จิตรกรรมฝาผนังมุขทิศตะวันออกฝั่งด้านเหนือ และฝาผนังด้านเหนือของมุขทิศตะวันออก 1.18

Category:

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพเขียนบริเวณด้านในและหน้าปราสาท ภายในปราสาทเขียนภาพชายผู้หนึ่งทรงเครื่องแบบกษัตริย์ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชายไม้ร้อยกอที่ขึ้นครองเมืองขวางทะบุรี ภายหลังจากเจ้าคัทธณะกุมารยกนางกองสีเเละเมืองขวางทะบุรีให้ ก่อนจะออกเดินทางไปตามหาพระบิดาพร้อมกับชายเกวียนร้อยเล่ม 

ในภาพเขียนภาพของชายไม้ร้อยกอทรงเครื่องทรงแบบกษัตริย์ของไทย คล้ายกับการแต่งกายในละครนาฏศิลป์ของทางภาคกลาง (กรุงเทพ) คือ สวมพระมาลายอดเกี้ยว หรือ หมวกทรงกลมยอดแหลม สวมกรองศอและอินทรธนูทับบนเสื้อแขนยาว มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน นุ่งสนับเพลา คือ กางเกงขายาวประมาณครึ่งแข้ง นุ่งโจงกระเบนทับที่เป็นผ้าที่มีลวดลาย รัดด้วยปั้นเหน่งหรือเข็มขัด มีผ้าห้อยหน้าหรือชายไหวระหว่างชายแครง มีแถบผ้าปลายงอนหุ้มปลายขากางเกงทั้ง 2 ข้าง ปัจจุบันยังหมายถึงกางเกง ในคำราชาศัพท์เรียกว่า “พระสนับเพลา” 

เบื้องหน้ามีนางกองสี เเละพระมเหสีนั่งพนมมืออยู่ ทั้งสองสวมเครื่องแต่งกายคล้ายเจ้านายในเมืองน่านและในล้านนาในสมัยนั้น คือ ด้านบนเปลือยอก นำมาแถบมาห่มแบบสไบเรียกว่า “ห่มผ้าสะหว้ายแล่ง” ในภาษาล้านนา นุ่ง “ซิ่นตีนจกคำ” หรือ ซิ่นตีนจกทองคำ เป็นซิ่นที่นิยมสวมใส่ในหมู่เจ้านายฝ่ายหญิงในล้านนา แต่ “ซิ่นตีนจกคำ” ที่นางกองสีใส่นั้นเป็นซิ่นตีนจกคำ ที่มีรูปแบบเฉพาะของเมืองน่าน คือท้องซิ่นจะมีแนวขวางลำตัวที่ดูแล้วคล้ายกับซิ่นป้อง มีการตกแต่งด้วยกรรมวิธีการทอแบบต่างๆให้เกิดลวดลายเพิ่มในแนวเส้นขวางลำตัว ในภาพน่าจะเป็นการตกแต่งการทอด้วยกรรมวิธี “การยก” ด้วยดิ้นคำ หรือ ดิ้นทองคำ ส่วนด้านล่างต่อด้วย “ตีนจกคำ” คือ ตีนซิ่นที่ทอด้วยกรรมวิธีการจกที่มีการสอดแทรกไหมทองคำ หรือ ไหมเงินลงไปเพื่อให้ดูมีค่ามากยิ่งขึ้น “ตีนจก” นี้เป็นตีนซิ่นที่นิยมกันในหญิงชาวไทยวนในล้านนา เเละยังมีโครงสร้างเดียวกับตีนจกของหญิงชาวไทยวนในล้านนา แต่ตีนจกของเมืองน่านมีการใส่ลวดลายเฉพาะของตนลงไป ทำให้เกิดเป็นรูปแบบเฉพาะที่สามารถพบได้เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น ส่วนบนศรีษะไว้ผมยาวทำผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง” ไว้กลางศีรษะ ปักปิ่นทองคำ หรือ “ปิ่นคำ” ในภาษาล้านนา มัดมวยด้วยสร้อยคำ หรือ สร้อยทอง เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆคล้ายแผ่นใบลาน ที่ทำจากแผ่นเงินหรือทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป สวมกำไลทองคำทั้งที่ข้อมือและต้นแขน

ส่วนบริเวณด้านข้างแวดล้อมไปด้วยเหล่านางสนมกำนัล สวมเครื่องแต่งกายแบบหญิงชาวไทยวนในล้านนา คือ นำผ้าแถบมาห่มห้อยชายไปด้านหลัง คล้ายการห่มสไบเรียกว่า “ห่มผ้าสะหว้ายแล่ง” ในภาษาล้านนา ไว้ผมยาวมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง”ไว้กลางศีรษะ เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นใบลาน แผ่นเงิน หรือ ทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป ฝ่ายนางสนมกำนัลที่นั่งอยู่ด้านหน้า สวมเครื่องเเต่งกายคล้ายกับหญิงกรุงเทพ ห่มผ้าสไบอย่างล้านนาเรียกว่า “ห่มผ้าสะหว้ายแล่ง” ไว้ผมทรงผมปีก ทรงผมปีกนี้จะโกน หรือ ตัดสั้นโดยรอบ และปล่อยผมไว้ยาวพอประมาณ บริเวณตอนบนและกลางศีรษะหวีเสยตั้งขึ้น เเละกันไรผมบริเวณรอบวงหน้าและไว้จอนยาวสองข้างใบหู ไล้ด้วยขึ้ผึ้งจนแข็ง รวมถึงใส่ตุ้มหูที่มีลักษณะเป็นตุ้ม หรือ แป้นด้านหน้า ส่วนด้านหลังเป็นวงโค้งไว้เกี่ยวหู

ส่วนบริเวณด้านหน้าปราสาทมีเหล่าขุนนางอมาตย์รอเข้าเฝ้าอยู่ สวมเครื่องแต่งกายคล้ายชาวไทยวนและไทลื้อในล้านนาในยุคนั้น ซึ่งได้รับอิทธิพลการแต่งกายมาจากภาคกลาง (กรุงเทพ) คือ ใส่เสื้อแขนยาวคอกลมคอตั้งคล้ายเสื้อราชปะแตน ที่ทำมาจากผ้าพื้นเรียบ รวมถึงผ้าที่มีลวดลาย ไว้ผมทรงมหาดไทย ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว นอกจากนี้ยังไว้ผมแสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย บ้างก็ไม่แสกกลาง ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพในยุคนั้น ตลอดจนการไว้หนวดและเคราซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากต่างชาติ เนื่องจากธรรมเนียมเดิมของชายชาวไทยวนและไทลื้อ ซึ่งไม่นิยมไว้หนวดและไว้เครา เป็นต้น

ในภาพบริเวณด้านหน้ามีคนโฑ หรือ “น้ำต้น” ในภาษาล้านนาตังอยู่ บริเวณปากคนโฑมีขันทองคำครอบไว้ ส่วนบริเวณด้านหลังเยื้องไปทางขวามีขันหมากปิดลายด้วยทอง เรียกว่า “ขันหมากคำ ในภาษาล้านนา เเละถัดไปมีกระโถนทองตั้งอยู่ เป็นต้น

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
07/02/2558
RESOURCE TYPE:
จิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
จิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
000
SUBJECT AGE:
CATEGORY:
จิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
11.43×6.82 เมตร(ขนาดรวมทั้งฝาผนัง)
DIGITAL SIZE:
76,603×25,593 Pixels