จิตรกรรมทิศใต้ฝั่งตะวันออก และฝาผนังฝั่งตะวันออกของมุขทิศใต้ 1.4

Category:

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพเขียนจิตรกรรมบริเวณช่องด้านบนของเสาวิหาร เขียนภาพเจ้าคัทธนกุมารนำผ้าค่าเเสนคำของตนมาต่อกับเศษผ้าค่าเเสนคำ ที่ได้มอบให้นางสีดาเมื่อครั้งที่ได้ช่วยเหลือนางจากนางยักษ์

บริเวณนี้มีอักษรล้านนาเขียนกำกับอยู่บริเวณหน้าเจ้าคัทธนกุมาร ประกอบด้วย อักษรล้านนาบริเวณด้านหน้าเจ้าคัทธนกุมาร อ่านได้ความว่า “..ผู้ญิง..แก้วแหวน..ยังมีมือเจ้าหั้นดู” แปลได้ประมาณว่า “นางสีดาได้มอบแหวนให้เจ้าคัทธณะกุมาร แลกกับผ้าที่เจ้าคัทธณะกุมารมอบไว้ให้” และข้อความด้านหลังเจ้าคัทธนกุมาร อ่านได้ความว่า “เจ้าเจ้าคัทธณะมาเท๊ะเชิงผ้าแล” แปลได้ว่า “เจ้าคัทธณะกุมารนำเอาเชิงผ้าแสนคำมาต่อกัน” เเละอักษรล้านบริเวณภายในปราสาท มีการเขียนกำกับตามตัวบุคคล ประกอบด้วย อักษรบริเวณซ้ายสุดอ่านได้ความว่า “แม่นางสีดา” ถัดมาตรงกลางอ่านได้ความว่า “นางสีดา” และขวาสุดอ่านได้ความว่า “พญาจำปา”

ในภาพจะเห็นพญาเมืองจำปานครประทับอยู่ภายในปราสาท เบื้องล่างมีพระนางสีดา (พระธิดา)เเละพระมเหสีประทับนั่งอยู่ บริเวณด้านหน้าปราสาทมีเจ้าคัทธนกุมารที่กำลังยืนต่อผ้าแสนคำกับเหล่าเสนา อำมาตย์ เเละเหล่าชายหนุ่มทั้งหลาย 

พญาเมืองจำปาทรงเครื่องแบบกษัตริย์ของไทย คล้ายกับการแต่งกายแบบในละครนาฏศิลป์ของภาคกลาง (กรุงเทพ) คือ สวมพระมหามงกุฎ หรือ พระชฎา มีกรรเจียก คือ เครื่องประดับหูมีรูปเป็นกระหนก สวมกรองศอและอินทรธนูทับบนเสื้อแขนยาว มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน นุ่งสนับเพลา คือ กางเกงขายาวประมาณครึ่งแข้ง นุ่งโจงกระเบนทับที่เป็นผ้าที่มีลวดลาย รัดด้วยปั้นเหน่งหรือเข็มขัด มีผ้าห้อยหน้าหรือชายไหวระหว่างชายแครง มีแถบผ้าปลายงอนหุ้มปลายขากางเกงทั้ง 2 ข้าง ปัจจุบันยังหมายถึงกางเกงด้วย ราชาศัพท์ใช้ว่า พระสนับเพลา ประทับนั่งบนเบาะเรียกว่า “สลี” ในภาษาล้านนา มีลักษณะเป็นเบาะหน่าภายในยัดด้วยนุ่น ด้านบนมีหมอนสามเหลี่ยม “หมอนผา” และหมอนสี่เหลี่ยม “หมอนสี่หรือหมอนหก” ในภาษาล้านนา หมอนทั้งสองใบมีการปักลวดลายไว้บริเวณด้านหน้าหมอนด้วยดิ้นเงินดิ้นทองและไหม ซึ่งเป็นที่นิยมทั่วไปในล้านนา ซึ่งจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปเฉพาะกลุ่ม เช่น หมอนปักของเมืองน่าน ที่มีกรอบด้วยผ้าพื้นสีน้ำเงิน หรือ ดำด้านนอก ส่วนด้านในจะเป็นผ้าพื้นสีแดง ซึ่งถือเป็นการปักหมมอนที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน

ส่วนเจ้าคัทธนกุมาร สวมเสื้อแขนยาวสวมกรองศอและอินทรธนูทับบนเสื้อ มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน นุ่งผ้าค่าแสนคำ ซึ่งน่าจะเป็นผ้าที่นำเข้าจากอินเดีย เรียกว่าผ้าเยียระบับยกทอง ลายประจำยามก้านแย่ง เป็นผ้าที่นิยมใช้กันมากในเจ้านายฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ช่วงต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ไว้ผมทรงมหาดไทย” ลักษณะ คือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว แต่ไม่ได้แสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพ 

ส่วนนางสีดาแต่งกายคล้ายเจ้านายในเมืองน่านและในล้านนาในสมัยนั้น คือ ด้านบนเปลือยอกและนำมาแถบมาห่มแบบสไบ ในล้านนาเรียกว่า “ห่มผ้าสะหว้ายแล่ง” นุ่ง “ซิ่นตีนจกคำ” หรือ ซิ่นตีนจกทองคำ เป็นซิ่นที่นิยมสวมใส่ในหมู่เจ้านายฝ่ายหญิงในล้านนา แต่ซิ่นตีนจกคำที่นางสีดาใส่นั้นเป็นซิ่นตีนจกคำ ที่มีรูปแบบเฉพาะและเป็นเอกลักษณ์ของเมืองน่าน คือท้องซิ่นจะมีแนวขวางลำตัวที่ดูแล้วคล้ายกับซิ่นป้อง และจะมีการตกแต่งด้วยกรรมวิธีการทอแบบต่างๆ ให้เกิดลวดลายเพิ่มในแนวเส้นขวางลำตัว โดยท้องซิ่นมีการตกแต่งด้วยกรรมวิธีการทอที่ในเมืองน่านเรียกว่า “มัดก่าน” หรือที่ทั่วไปเรียกว่ามัดหมี่ ด้านล่างต่อด้วย”ตีนจกคำ” คือตีนซิ่นที่ทอด้วยกรรมวิธีการจกและมีการสอดแทรกไหมทองคำหรือไหมเงินลงไปเพื่อให้ดูมีค่ามากยิ่งขึ้น “ตีนจก” นี้เป็นตีนซิ่นที่นิยมกันในหญิงชาวไทยวนในล้านนา ส่วน “ตีนจก” ยังมีโครงสร้างเดียวกับตีนจกของหญิงชาวไทยวนในล้านนา แต่ตีนจกของเมืองน่านมีการใส่ลวดลายเฉพาะของตนลงไป ทำให้เกิดเป็นรูปแบบเฉพาะของซิ่นตีนจกของเมืองน่าน ที่สามารถพบได้แต่เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น ทำผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง” ไว้กลางศีรษะปักปิ่นทองคำ หรือในล้านนาเรียกว่า “ปิ่นคำ”  ยอดมวยมีเกี้ยวทองคำยอดแหลม มัดมวยด้วยสร้อยคำหรือสร้อยทองคำ เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นใบลาน ที่ทำจากแผ่นเงินหรือทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป สวมสร้อยทองขนาดใหญ่และกำไลทองคำทั้งที่ข้อมือและต้นแขน และไม่สวมรองเท้า ส่วนมารดาของนางสีดานั้นเห็นแต่ท่อนบนที่แต่งกายแบบหญิงชาวไทยวนในล้านนา คือ นำผ้าแถบมาห่มห้อยชายไปด้านหลัง คล้ายการห่มสไบที่ในล้านนาเรียกว่า “ห่มผ้าสะหว้ายแล่ง” และมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง”ไว้กลางศีรษะปักปิ่นทองคำ หรือในล้านนาเรียกว่า “ปิ่นคำ” มัดมวยด้วยสร้อยคำ หรือ สร้อยทอง เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นใบลาน แผ่นเงิน หรือทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป 

ส่วนเหล่าเสนาอมาตย์และชายหนุ่มในภาพ แต่งกายคล้ายชาวไทยวนและไทลื้อในล้านนาในยุคนั้น ซึ่งรับอิทธิพลรูปแบบการแต่งกายมาจากทางภาคกลาง (กรุงเทพ) คือ ใส่เสื้อแขนยาวคอกลมแขนยาวทำจากผ้าที่เป็นผ้าพื้นเรียบและผ้าที่มีลวดลาย นุ่งผ้าที่มีลวดลายผืนเดียวที่เรียกว่านุ่งแบบ “นุ่งผ้าต้อย” หรือ “เค็ดม่าม” โดยจะม้วนผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมร หรือ โจงกระเบน เผยให้เห็นลายสักยันต์ตั้งแต่ท้องน้อยจนถึงหัวเข่า อันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชายชาวไทยวนและไทลื้อในแถบนี้ ไว้ผมทรงมหาดไทย ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว แต่ไม่ได้แสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย และบางคนมีการไว้หนวดแบบชาวตะวันตก ที่ทั้งหมดนี้น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพ

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
07/02/2558
RESOURCE TYPE:
จิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
จิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
000
SUBJECT AGE:
CATEGORY:
จิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
11.43×6.82 เมตร(ขนาดรวมทั้งฝาผนัง)
DIGITAL SIZE:
62,342×20,703 Pixels