วัดหนองบัว ทิศตะวันออก(กัณฑ์ที่ 5)1.2

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพเขียนจิตรกรรมบริเวณฝั่งขวาของปราสาทเมืองอินทปัตถ์ เขียนเรื่องราวในตอนกำเนิดพระนางเทวธิสังกา ภายในปราสาทมีภาพเขียนพระญาพรหมจักรพรรดิและพระมเหษีประทับอยู่ในปราสาท มีพระราชธิดาน้อยนอนอยู่ โดยในวันที่พระราชกุมารีเทวธิสังกาประสูตินั้น พระญาเจ้าพรหมจักรพรรดิโปรดให้ประชุมเนมิตตกพราหมณ์ ตรวจพระลักษณะของพระราชธิดา เหล่าเนมิตตกพราหมณ์ตรวจเสร็จแล้วกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ พระราชธิดาของพระองค์บริบูรณ์ด้วยพระลักษณะ แต่ประสูติในพระฤกษ์ไม่ดี จักสิ้นพระชนม์ ด้วยถูกเสือกัดในเวลามีพระชนม์ 12 ขวบ แล้วจักกลับได้พระชนม์ในภายหลัง แล้วจักได้พระสามีที่เป็นบุรุษทุคคตะมาจากต่างประเทศ พระสวามีนั้นเป็นผู้มีบุญมากมีอานุภาพมาก จักปรากฏในชมพูทวีปทั้งสิ้น”  

ในบริเวณฝั่งขวาใต้โหรหลวง (คนที่ใส่ชุดขาว) มีภาษาล้านนาเขียนกำกับอยู่ อ่านได้ความว่า “หมอหูรา” แปลว่า “โหร หรือ หมอดู” และที่ด้านบนบริเวณฮ้านน้ำ อ่านได้ความว่า “พญาถามหมอหูราว่า (ลูก)เราจักเป็นเช่นใดจา….” แปลได้ว่า “พระญาพรหมจักรพรรดิให้โหรทำนายชะตาชีวิตของของพระนางเทวธิสังกา” 

ภาพเขียนปราสาทเมืองอินทปัตถ์มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีความคล้ายคลึงกับวัดในภาคเหนือในยุคนั้น ซึ่งน่าจะรับเอาอิทธิพลความนิยมในการสร้างมาจากกรุงเทพ เเล้วนำมาผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบล้านนา บริเวณด้านข้างมีที่ตั้งหม้อน้ำดื่ม หรือ “ฮ้านน้ำ” ในภาษาล้านนา ซึ่งสามารถพบได้ในเรือนพักอาศัยของชาวล้านนา 

พระญาพรหมจักรพรรดิทรงเครื่องเเต่งกายแบบกษัตริย์ คือ สวมกระบังหน้ามีกรรเจียก คือ เครื่องประดับหูมีรูปเป็นกระหนก ใช้ประกอบกับพระมหามงกุฎ พระชฎา หรือรัดเกล้า และสวมกรองศอทับบนเสื้อแขนยาว มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน นุ่งสนับเพลา คือ กางเกงขายาวประมาณครึ่งแข้งมีผ้าห้อยหน้า หรือ ชายไหวระหว่างชายแครง มีแถบผ้าปลายงอนหุ้มปลายขากางเกงทั้ง 2 ข้าง นุ่งโจงทับ ปัจจุบันยังหมายถึงกางเกงด้วย ราชาศัพท์ใช้คำว่า “พระสนับเพลา” ไม่สวมฉลองพระบาท ส่วนพระมเหสีแต่งกายแบบหญิงในราชสำนักล้านนา คือ นำผ้าแถบสีเรียบมาห่มคล้องทิ้งชายไปด้านหลัง นุ่งซิ่นตีนจกแต่เป็นซิ่นตีนจกที่ทอจากฝ้าย สามารถพบเห็นหญิงชาวไทยวนสวมใส่กันทั่วไปทั้งในเมืองน่านและล้านนา ตีนจกของเมืองน่านนี้มีการใส่ลวดลายเฉพาะของตนลงไป ทำให้เกิดเป็นรูปแบบเฉพาะของซิ่นตีนจกของเมืองน่าน ที่สามารถพบได้แต่เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น ส่วนท้องซิ่นจะมีแนวขวางลำตัวที่ดูแล้วคล้ายกับซิ่นป้อง เป็นซิ่นที่มีรูปแบบพิเศษ ซึ่งเป็นซิ่นที่มีลายในแนวขวางลำตัว ดูแล้วคล้ายกับ “ซิ่นต๋า” ของหญิงชาวไทยวนในล้านนา ผ้าซิ่นป้องจะมีการตกแต่งผ้าซิ่นด้วยการทอด้วยกรรมวิธีต่างๆในแนวขวางลำตัวที่ค่อนข้างหลากหลาย ทำให้เกิดลวดลายเพิ่มเติมขึ้น ผ้าซิ่นที่ปรากฏในภาพน่าจะเป็นการตกแต่งการทอด้วยกรรมวิธีหลายอย่าง เรียกว่า “มัดก่าน” หรือที่ทั่วไปเรียกว่า “มัดหมี่” ส่วนบนศรีษะไว้ผมยาว เกล้าผมแบบที่เรียกว่า “ตั้งเกล้า” ใส่ลานหู คือเครื่องประดับที่มีลักษณะเป็นแผ่นคล้ายใบลาน เป็นแผ่นเงิน หรือ ทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป 

ส่วนภาพเด็กทารกในภาพ คือ พระกุมารีเทวธิสังกาครั้นแรกประสูติ ประทับอยู่บนที่นอนเรียกว่า “สลี” ในภาษาล้านนา ที่นอนนี้เป็นที่นอนพื้นถิ่นที่นิยมใช้กันในล้านนา ทำจากผ้าย้อมคราม ส่วนด้านบนเเละด้านข้างเป็นผ้าสีแดงที่ย้อมจากครั่ง ยัดไส้ด้วยนุ่น เเล้วห่มทับด้วยผ้าห่มของชาวไทลื้อเรียกว่า “ผ้าห่มงูลอย” เป็นผ้าที่มีลวดลายคล้ายงูเลื้อย มีสีดำมะเกลือ เเละพื้นสีขาว 

ส่วนโหรหลวงสวมเครื่องแต่งกายแบบนักบวชชีพราหมาณ์ คือ ใสวมเสื้อแขนยาว เเละนุ่งกางเกงขายาวสีขาว โกนผมไว้จุกกลางศีรษะ และไว้หนวดเครา ด้านหน้ามีกระดานชนวนสำหรับใช้ทำนาย

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
07/02/2558
RESOURCE TYPE:
จิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
จิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
ภาพจิตรกรรมที่เรียกได้ว่าเป็นของ สกุลช่างน่าน มีเอกลักษณ์เฉพาะตน ที่นำเอารูปแบบต่างๆทั้งศิลปะของไทลื้อ ศิลปะของทางรัตนโกสินทร์และศิลปะของพม่าแบบไทใหญ่ นำมาผสมผสานก่อให้เกิดรูปลักษณ์ที่เป็นของเฉพาะตนได้อย่างงดงาม มีรูปแบบคล้ายพบได้ที่วัดภูมินทร์ อำเภอมืองน่าน โดยมีการใช้สีจากธรรมชาติเป็นส่วนมากในการเขียน อาทิเช่น สีน้ำเงินจากคราม ที่เป็นสีหลักในการเขียนจิตรกรรม แต่เป็นที่น่าเสียดายที่จิตรกรรมเสียหายค่อนข้างมาก เนื่องจากน้ำฝนรั่ว ความชื้นจากดินด้านล่าง รวมถึงโดนน้ำท่วมมาด้วยกันหลายครั้ง
COVERAGE:
วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
02_29_20150207_MR_วัดหนองบัว_72
SUBJECT AGE:
ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 25
CATEGORY:
จิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
102×56 cm
DIGITAL SIZE:
12988×7539 Pixels

Loading