ภาพพระบฎวัดดอกบัว ผืนที่ 1

Category:

Description

Digital Data

TITLE:
พะเยา
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

จิตรกรรมภาพพระบฏแผ่นที่ 1

จิตรกรรมบนภาพพระบฏแผ่นที่ 1  ภาพพระบฏผืนนี้มีอักษรล้านนาเขียนไว้ว่า “ผืนนี้ท้าวปะกัญไชยได้ปู่ชาทานไว้… สนาแล” แปลความได้ประมาณว่า “ภาพพระบฏผืนนี้ท้าวปะกัญไชยได้เป็นผู้ศรัทธาที่ทำถวาย เพื่อค้ำชูพระพุทธศาสนา”  เป็นเรื่องราวของเป็นพุทธดำรัสที่สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสแก่ภิกษุสงฆ์ขีณาสพสองหมื่น และมวลหมู่พระประยูรญาติที่นิโครธารามมหาวิหาร ในนครกบิลพัสดุ์ในคราวเสด็จโปรดพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา และพระวงศ์ศากยะ เพราะปรารภฝนโบกขรพรรษให้เป็นเหตุจึงตรัสเวสสันดรชาดกในที่นี้ เวสสันดรชาดกนี้ เป็นเรื่องใหญ่ยืดยาว ท่านจึงจัดรวมไว้ในมหานิบาตชาดกรวมเรื่องใหญ่ 10 เรื่อง ที่เรียกกันว่า ทศชาติ แต่อีก 9 เรื่อง เหตุใดจึงไม่เรียกว่า มหาชาติ คงเรียกแต่เวสสันดรชาดกเรื่องเดียวว่า มหาชาติ ข้อนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพโปรดประทานอธิบายว่า พุทธศาสนิกชนชาวไทยตลอดจนประเทศใกล้เคียงนับถือกันมาแต่โบราณว่า เรื่องมหาเวสสันดรชาดก สำคัญกว่าชาดกอื่นๆ ด้วยปรากฏบารมีของพระโพธิสัตว์บริบูรณ์ในเรื่องมหาเวสสันดรชาดกทั้ง 10 อย่าง 

การเรียกกันว่ามหาชาติกล่าวได้ว่าพระโพธิสัตว์ในกำเนิดพระเวสสันดรได้สร้างแบบของมนุษย์ผู้ก้าวถึงขั้นสูงสุดแห่งการดำเนินในทางวิวัฒนาการ อันนำไปสู่ความเต็มเปี่ยมทางจริยธรรมและความรู้เหมาะแก่การข้ามพ้นโอฆะห้วงสุดท้าย ซึ่งจะแยกออกเสียได้จากการเกิดเป็นเทวดา เพราะเหตุนี้กำเนิดสุดท้ายจึงได้นามว่า “มหาชาติ” การที่เรียก มหาเวสสันดรชาดกว่า “มหาชาติ” นี้ พุทธศาสนิกชนชาวไทยของเรานิยมเรียก และเป็นที่หมายรู้กันมาแต่สมัยกรุงสุโขทัยราชธานี เพราะปรากฏตามศิลาจารึกสมัยสุโขทัยหลักที่ 3 ที่เรียกว่าจารึก “นครชุม” ซึ่งจารึกไว้เมื่อพ.ศ. 1900 ในรัชสมัยพญาลิไท (พระมหาธรรมราชาที่ 1) มีกล่าวไว้ว่า “ธรรมเทศนาอันเป็นต้นว่า พระมหาชาติหาคนสวดแลมิได้เลย” เช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า การมีเทศน์มหาชาตินี้ พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมมีเทศน์กันมานานแต่สมัยสุโขทัย การเทศน์มหาชาติ เทศน์มหาชาติ คือ เทศนาเวสสันดรชาดก เป็นบุญพิธีที่นิยมจัดให้มีกันมาแต่โบราณกาล 

จึงเป็นเหตุได้ว่าภาพพระบฏแผ่นที่ 1 จึงได้เขียนแผ่นแรกเป็นการเทศมหาชาต เป็นภาพสัมมาพระพุทธเจ้าประทับอยู่บนหอสูง รูปทรงปราสาทตามรูปแบบของสถาปัตยกรรมของล้านนา  มีลวดลายสลักเสลาสวยงามดูคล้ายธรรมาสน์ ที่สามารถพบได้ทั่วไปในวัดในดินแดนแถบนี้  ธรรมาสน์ของล้านนานี้จะใช้ในงานประเพณี “ตั้งธรรมหลวง” หรือเทศน์มหาชาติ คนล้านนายังถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ก่อนที่พระจะขึ้นลงเพื่อแสดงธรรม ต้องกราบขอขมาเสียก่อน ด้านขวาบนเป็นภาพของเหล่าพระภิกษุสงฆ์ขีณาสพสองหมื่น ด้านล่างขวาน่าจะเป็นพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา และพระวงศ์ศากยะ เพราะทรงเครื่องแบบกษัตริย์ ส่วนฝั่งด้านซ้ายเป็นภาพฝูงช้างที่มาเข้าเฝ้าสัมมาพระพุทธเจ้า โดยที่หัวหน้าฝูงชูงวงถวายดอกบัวเพื่อเป็นพุทธบูชา

ด้านหลังมีเครื่องบูชาพระสัมมาพระพุทธเจ้า มีตั้งแต่ “โคมแอว” เป็นโคมที่ทำต่อกันจำนวนตั้งแต่สองลูกขึ้นไป รูปแบบของโคมคือ “โคมรังมดส้ม” หรือ “โคมธรรมจักร” เพราะรูปทรงเป็นแปดเหลี่ยมจึงเรียกว่า ธรรมจักร ต่อกันเป็นสายประมาณ 2-5 ลูก ต่อกัน ยาวตั้งแต่ 1-5 เมตร เป็นการสร้างสรรค์ออกแบบของช่างพื้นบ้านเพื่อขยายรูปทรงให้ยาวเชื่อมต่อกัน นิยมใช้แขวนกับค้างไม้ไผ่ เสาสำหรับแขวนโคม ที่ยาว ๆ ฝั้งด้านหลังขวา เป็นหม้อดอก หรือแจกันขนาดใหญ่ 2 ใบ ด้านหลังซ้ายเป็นแท่นที่ตั้ง “ผางประทีป” คือภาชนะดินเผาขนาดเล็ก ใส่น้ำมันหรือขี้ผึ้ง มีไส้ทำมาจากเส้นฝ้าย ใช้จุดให้เกิดแสงสว่าง เพื่อสักการบูชาตามความเชื่อทางพระพุทธศาสนา โดยจุดวางตามวัดวาอารามหรือศาสนสถานในวันสำคัญทางศาสนาหรือเทศกาลสำคัญ

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
21/6/2567
RESOURCE TYPE:
ภาพเขียนจิตรกรรมบนผืนผ้า
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
ภาพเขียนจิตรกรรมบนผืนผ้า
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
รูปแบบการเขียนเห็นได้ชัดเจนว่า เป็นของล้านนาสกุลช่างท้องถิ่น ที่ได้รับอิทธิพลทั้งจากรัตนโกสินทร์ และพม่า นำมาผสมผสานกัน
COVERAGE:
วัดดอกบัว อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
พะเยา
IMAGE CODE:
02_24_20240621_MR_วัดดอกบัว_01
SUBJECT AGE:
ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 25
CATEGORY:
ภาพเขียนจิตรกรรมบนผืนผ้า
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดดอกบัว อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ภาคเหนือ ประเทศไทย  view map
ORIGINAL SIZE:
85.5 x 140 cm
DIGITAL SIZE:
2998 x 4642 Pixels

Loading