วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ทิศตะวันตก 5.1

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

จิตรกรรมช่องที่ 5 จิตรกรรมในช่องนี้เริ่มตั้งแต่บริเวณเสาที่ 2 และผนังระหว่างเสาที่ 2 และเสาที่ 1 จากด้านในสุด ในฝาผนังช่องนี้มีประตูทางออกวิหาร รูปแบบของจิตรกรรมในช่องนี้ก็เช่นเดียวกับจิตรกรรมช่องอื่นๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปกรรมจากกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่นิยมนำรูปแบบศิลปกรรมจีนมาใช้เป็นอย่างมากช่วงยุคราวรัชกาลที่ 3 และรวมถึงรูปแบบของศิลปกรรมของอยุธยาตอนปลาย นำมาผสมผสานกับรูปแบบของพื้นเมืองน่านในยุคนั้น  จิตรกรรมในช่องนี้มีสภาพเช่นเดียวกับจิตรกรรมทุกผนังคือ เสียหายค่อนข้างมากจิตรกรรมเหลือเพียงบางส่วนของผนังเท่านั้น จึงเป็นการลำบากที่จะสามารถอ่านเรื่องราวและเหตุการณ์ในจิตรกรรมได้ทั้งหมด แต่ยังคงเหลือจิตรกรรมส่วนสำคัญที่ทำให้พอทราบเรื่องราวได้ จึงทำให้ทราบได้ว่าจิตรกรรมช่องนี้ เป็นมโหสถชาดก โดยมีความว่า

ในเมืองมิถิลา มีเศรษฐีผู้หนึ่งมีนามว่า สิริวัฒกะ ภรรยาชื่อ นางสุมนาเทวี นางสุมนาเทวีมีบุตรชายคนหนึ่ง ซึ่งเมื่อคลอด ออกมานั้นมีแท่งโอสถอยู่ในมือ เศรษฐีสิริวัฒกะเคยเป็นโรคปวดศีรษะมานาน จึงเอาแท่งยานั้นฝนที่หินบดยาแล้วนำมา ทาหน้าผาก อาการปวดศีรษะก็หายขาด ครั้นผู้อื่นที่มีโรคภัย ไข้เจ็บมาขอปันยานั้นไปรักษาบ้าง ก็พากันหายจากโรค เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว เศรษฐีจึงตั้งชื่อบุตรว่า “มโหสถ” เพราะทารกนั้นมีแท่งยาวิเศษเกิดมากับตัว เมื่อมโหสถเติบโตขึ้นปรากฏว่ามีสติปัญญาเฉลียวฉลาด กว่าเด็กในวัยเดียวกัน

ในขณะนั้น กษัตริย์เมืองมิถิลา ทรงพระนามว่า พระเจ้าวิเทหราช ทรงมีนักปราชญ์ราชบัณฑิตประจำ ราชสำนัก 4 คน คือ เสนกะ ปุตกุสะ กามินท์ และ เทวินทะ บัณฑิตทั้ง 4 เคยกราบทูลว่าจะมีบัณฑิตคนที่ห้ามาสู่ราชสำนักพระเจ้าวิเทหราช พระองค์จึงโปรดให้เสนาออกสืบข่าวว่ามีบัณฑิตผู้มีสติปัญญาปราดเปรื่องอยู่ที่ใดบ้าง เสนาเดินทางมาถึงบริเวณบ้านของสิริวัฒกะเศรษฐีเห็นอาคารงดงามจัดแต่งอย่างประณีตบรรจง จึงถามผู้คนว่าใครเป็นผู้ออกแบบ คนก็ตอบว่าผู้ออกแบบคือมโหสถบัณฑิตบุตรชายวัย 7 ขวบของสิริวัฒกะเศรษฐี

ฝ่ายมโหสถนั้น มีชาวบ้านนำคดีความต่างๆ มาให้ตัดสินอยู่เป็นนิตย์ เป็นต้นว่า ชายเลี้ยงโคนอนหลับไป มีขโมยเข้ามาลักโค เมื่อตามไปพบ ขโมยก็อ้างว่าตนเป็นเจ้าของโค ต่างฝ่ายต่างถกเถียงอ้างสิทธิ์ ไม่มีใคร ตัดสินได้ว่าโคนั้นเป็นของใคร จึงพากันไปหามโหสถ มโหสถก็สามารถหาเจ้าของตัวจริงได้ ทุกครั้งที่มโหสถแสดงสติปัญญาในการตัดสินคดี พระเจ้าวิเทหราชทรงทดลองสติปัญญามโหสถด้วยการตั้งปัญหา ต่างๆก็ปรากฏว่า มโหสถแก้ปัญหาได้ทุกครั้ง เช่น เรื่องท่อนไม้ ที่เกลาได้เรียบเสมอกัน พระเจ้าวิเทหราชทรงตั้งคำถามว่า ข้างไหนเป็นข้างปลาย ข้างไหนเป็นข้างโคน มโหสถก็ใช้วิธีผูกเชือก กลางท่อนไม้นั้น แล้วหย่อนลงในน้ำ ทางโคนหนักก็จมลง ส่วนทาง ปลายลอยน้ำ เพราะน้ำหนักเบากว่าไม้ มโหสถก็ชี้ได้ว่า ทางไหน เป็นโคนทางไหนเป็นปลาย 

มโหสถจึงได้เริ่มรับราชการกับ พระเจ้าวิเทหราชนับตั้งแต่นั้นมา ตลอดเวลาที่อยู่ในราชสำนัก มโหสถได้แสดงสติปัญญา และความสุขุมลึกซึ้งในการพิจารณาแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่พระราชาทรงผูกขึ้นลองปัญญา มโหสถ หรือที่บัณฑิตทั้งสี่พยายาม สร้างขึ้นเพื่อให้มโหสถอับจนปัญญา แต่มโหสถก็แก้ปัญหาเหล่านั้นได้ทุกครั้งไป มิหนำซ้ำในบางครั้ง มโหสถยังได้ช่วยให้บัณฑิตทั้งสี่นั้น รอดพ้นความอับจน แต่บัณฑิตเหล่านั้นมิได้กตัญญูรู้คุณ ที่มโหสถกระทำแก่ตน กลับพยายามทำให้พระราชาเข้าพระทัยว่ามโหสถด้อยปัญญา พยายามหาหนทางให้พระราชา ทรงรังเกียจมโหสถ เพื่อที่ตนจะได้รุ่งเรืองในราชสำนักเหมือนสมัยก่อน

มีพระราชาองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า จุลนีพรหมทัต ครองเมือง อุตรปัญจาล ประสงค์จะทำสงครามแผ่เดชานุภาพ จึงทรงคิด การกับปุโรหิตชื่อ เกวัฏพราหมณ์ หมายจะลวงเอากษัตริย์ร้อยเอ็ดพระนครมากระทำสัตย์สาบานแล้วเอาสุราเจือยาพิษ ให้กษัตริย์เหล่านั้นดื่ม จะได้รวบรวมพระนครไว้ในกำมือ มโหสถ ได้ทราบความลับจากนกแก้วที่ส่งออกไปสืบข่าว จึงหาทางช่วยชีวิตกษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดไว้ได้ โดยที่ กษัตริย์เหล่านั้นหารู้ตัวไม่ พระเจ้าจุลนีทรงเห็นว่ามิถิลา เป็นเมืองเดียวที่ไม่ยอมทำสัตย์สาบาน จึงยกทัพใหญ่มุ่งไปโจมตีมิถิลา มีเกวัฏพราหมณ์ เป็นที่ปรึกษาใหญ่ แต่ไม่ว่าจะโจมตีด้วยวิธีใด มโหสถ ก็รู้ทัน สามารถตอบโต้และแก้ไขได้ ทุกครั้งไป เกวัฏพราหมณ์คิดพยาบาทมโหสถอยู่ไม่รู้หาย จึงวางอุบายให้ พระเจ้าจุลนีส่งทูตไปทูลพระเจ้าวิเทหราชว่าจะขอทำสัญญาไมตรี และขอถวายพระราชธิดาให้เป็นชายา พระเจ้าวิเทหราชทรงมีความยินดี จึงทรงตอบรับเป็นไมตรี พระเจ้าจุลนีก็ขอให้พระเจ้าวิเทหราชเสด็จมาอุตรปัญจาล 

มโหสถก็เสียใจว่าพระราชาลุ่มหลงในสตรี แต่กระนั้นก็ยังคงจงรักภักดี จึงคิดจะแก้อุบายของพระเจ้าจุลนี มโหสถจึงทูลขออนุญาตไปจัดเตรียมที่ประทับให้พระราชอาคันตุกะในเมืองอุตรปัญจาล มโหสถจึงให้ ผู้คนไปจัดสร้างวังอันงดงาม และที่สำคัญคือจัดสร้างอุโมงค์ใต้ดิน เป็นทางเดินภายในอุโมงค์ประกอบด้วยกลไกและประตูลับ ต่างๆซับซ้อนมากมาย เมื่อเสร็จแล้วมโหสถจึงทูลเชิญ ให้พระเจ้าวิเทหราชเสด็จไปยังอุตรปัญจาลขณะที่พระเจ้าวิเทหราชประทับอยู่ในวัง รอที่จะอภิเษกกับพระธิดาพระเจ้าจุลนี  พระเจ้าจุลนีทรงยกกองทหารมาล้อมวังไว้ มโหสถซึ่งเตรียมการไว้แล้วก็ลอบลงไปทางอุโมงค์เข้าไปใน ปราสาทพระเจ้าจุลนี ทำอุบายหลอกเอาพระชนนี พระมเหสี พระราชบุตร และราชธิดาพระเจ้าจุลนีมากักไว้ใต้วังที่สร้างขึ้น นั้นแล้วจึงกลับไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช พระเจ้าวิเทหราชตกพระทัยว่ากองทหารมาล้อมวัง ตรัสปรึกษามโหสถ มโหสถจึงจัดการนำพระเจ้าวิเทหราช ไปพบพระชนนี พระมเหสี และพระโอรสธิดาของพระเจ้าจุลนีที่ตนนำมาไว้ในอุโมงค์ใต้ดิน แล้วจัดการให้กองทัพที่เตรียมไว้ นำเสด็จกษัตริย์ทั้งหลายกลับไปมิถิลา ส่วนตัวมโหสถเองอยู่ เผชิญหน้ากับพระเจ้าจุลนี

เมื่อพระเจ้าจุลนีเสด็จมา ประกาศว่าจะจับพระเจ้าวิเทหราช มโหสถจึงบอกให้ทรงทราบว่า พระเจ้าวิเทหราชเสด็จกลับมิถิลาแล้วพร้อมด้วย พระราชวงศ์ ของพระเจ้าจุลนี พระราชาก็ทรงตกพระทัย เกรงว่าพระญาติวงศ์จะเป็นอันตราย มโหสถจึงทูลว่า ไม่มีผู้ใดจะทำอันตราย แล้วจึงทูลเชิญพระเจ้าจุลนีทอดพระเนตรวังและ อุโมงค์ที่จัดเตรียมไว้อย่างวิจิตรงดงาม ขณะที่พระเจ้าจุลนีกำลังทรงเพลิดเพลิน มโหสถก็ปิดประตูกลทั้งปวงและหยิบดาบที่ซ่อนไว้ ทำทีว่าจะ ตัดพระเศียรพระราชา พระราชาตกพระทัยกลัว มโหสถจึงทูลว่า “ข้าพระองค์จะไม่ทำร้ายพระราชา แต่หากจะฆ่า ข้าพระองค์เพราะแค้นพระทัย ข้าพระองค์ก็จะถวายดาบนี้ให้” พระราชาเห็นมโหสถส่งดาบถวายก็ทรงได้สติ เห็นว่ามโหสถนอกจากจะประกอบด้วยความสติปัญญาประเสริฐแล้ว ยังเป็น ผู้ไม่มีจิตใจมุ่งร้ายพยาบาทผู้ใด พระเจ้าจุลนีจึงตรัสขออภัยที่ได้เคยคิดร้ายต่อเมืองมิถิลาต่อพระเจ้าวิเทหราช และต่อมโหสถ 

มโหสถจึงทูลลากลับไปมิถิลา จัดให้กองทหารนำเสด็จพระชนนี พระมเหสี และ พระราชบุตร ของพระเจ้าจุลนีกลับมายัง อุตรปัญจาล ส่วนราชธิดานั้นคงประทับอยู่มิถิลา ในฐานะพระชายาพระเจ้าวิเทหราชต่อไป พระเจ้าจุลนีทรงตรัสขอให้มโหสถมาอยู่กับพระองค์ มโหสถ ทูลว่า “ข้าพระองค์รับราชการรุ่งเรืองในราชสำนักของพระเจ้าวิเทหราช ผู้เป็นเจ้านายของข้าพระองค์แต่เดิม ไม่อาจจะไปอยู่ที่ อื่นได้ หากเมื่อใด พระเจ้าวิเทหราชสวรรคต ข้าพระองค์จะไปอยู่เมืองอุตรปัญจกาลรับราชการอยู่ในราชสำนักของพระองค์” เมื่อพระเจ้าวิเทหราชสิ้นพระชนม์ มโหสถก็ทำตามที่ลั่นวาจาไว้ คือไปรับราชการอยู่กับพระเจ้าจุลนี และยังถูก กลั่นแกล้งจากเกวัฏพราหมณ์คู่ปรับเก่า แต่มโหสถก็เอาตัวรอดได้ทุกครั้ง มโหสถนอกจากจะมีสติปัญญา เฉลียวฉลาดแล้ว ยังประกอบด้วยคุณธรรมอันประเสริฐ มีความสุขุมรอบคอบ มิได้หลงใหล ในลาภยศสรรเสริญ ดังนั้นมโหสถจึงได้รับยกย่องสรรเสริญว่าเป็น บัณฑิตผู้มี ความรู้อันลึกซึ้ง มีสติ ปัญญานั้นประกอบด้วยคุณธรรมอันประเสริฐ ที่กำกับให้ผู้มีสติปัญญาประพฤติปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควร

จิตรกรรมในช่องนี้มีหลือบางส่วนในฝั่งขวาของผนัง และบริเวณเสาที่ 1 ส่วนที่เหลือลบเลือนไปเกือบหมด เรื่องราวที่เหลือ อยู่บริเวณเหนือประตูน่าจะเป็นตอนที่ มโหสถค้นหาส่วนหัวและปลายเสา ส่วนจิตรกรรมด้านบนน่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ปราสาทข้างเมืองเมืองอุตรปัญจาล ที่มโหสถสร้างถวายพระเจ้าวิเทหราช เพื่อเป็นกลอุบายให้พระเจ้าจุลนีทรงหลงกล ส่วนที่บริเวณเสาวิหารต้นที่ 1 น่าจะเป็นกองทัพของพระเจ้าจุลนีที่ยกทัพมาบุกกรุงมิถิลาหรืออาจะมาล้อมปราสาทที่มโหสถสร้างถวายพระเจ้าวิเทหราช ส่วนด้านล่างฝั่งขวาข้างประตูทางออก เป็นภาพเทวดาที่มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ที่เป็นส่วนหนึ่งของจิตรกรรมช่องในสุดข้างพระประธาน

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
05/03/2567
RESOURCE TYPE:
ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
COVERAGE:
วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร อำเภอเมืองน่าน  จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
02_29_20240304_MR_วัดพระธาตุช้างค้ำ_94
SUBJECT AGE:
CATEGORY:
ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร อำเภอเมืองน่าน  จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย  view map
ORIGINAL SIZE:
2,288 x 575 cm
DIGITAL SIZE:
20267 x 28679  Pixels