จิตรกรรมมุขทิศตะวันตกฝั่งเหนือ และฝาผนังด้านทิศเหนือของมุขทิศตะวันตก 1.9

Category:

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพจิตรกรรมฝั่งซ้ายด้านบนของมุขทิศตะวันตกฝั่งเหนือ ในบริเวณนี้มีอักษรล้านนากำกับอยู่ด้วยกันหลายชุด ชุดแรกฝั่งซ้ายบนแถวสุด อ่านได้ความว่า “ตาวันชายไปกินเข้ายังบ้านลูกขี้พ่อ พ่อกินขี้ลูกแล” แปลได้ว่า “ภิกษุสามเณรทำบาปเพราะเมื่อเลยเวลาฉันท์เพลแล้ว ยังกลับไปบ้านในตอนเย็นเพื่อไปฉันท์ข้าวอีกถัดมาอ่านได้ความว่า “ขุนกวานตัดคำบ่แม่น” แปลได้ว่า “เป็นผู้พิพากษาตัดสินไม่เที่ยงธรรม” ถัดมาชุดอักษรล้านนาขวาสุด อ่านได้ความว่า “ปดไหเข้าลงเมื่อเช้าบ่ทันเข้าไปวัด ลวดปันหื้อลูกกินเสียก่อน ตายได้มากินถ่านไฟอยู่หนี้แล” แปลได้ว่า “หุงข้าวช้าไม่ทันไปถวายพระ เอาให้ลูกทานก่อน ตายมาต้องมารับกรรมด้วยการกินถ่านที่ลุกเป็นไฟ” ถัดลงมาซ้ายสุด อ่านได้ว่า “ตีพ่อตีแม่” ถัดไปทางขวาเหนือคนตายที่นอนอยู่ อ่านได้ความว่า “จ่ายแดงเป็นเงินอั่วเป็นช่างเคิงช่างติดรักกินของท่าน” แปลได้ว่า “จ่ายเงินที่ถูกปลอมแปลงโดยเอาเนื้อเงินพอกทองแดงไว้ด้านใน และพวกช่างทำเดรื่องเงินเครื่องทอง หรือแม้แต่เครื่องลงรัก มีคนเอาทองหรือแผ่นทองมาให้ทำ แต่กลับแอบขโมยเนื้อเงิน เนื้อทอง หรือแผ่นทองบางส่วนไว้”  และอักษรล้านนาที่อยู่ใกล้นิรยบาลที่สวมเสื้อสีแดง อ่านได้ความว่า “ใจบ่ซื่อ” แปลได้ว่า “คนที่มีจิตใจคดโกงคิดไม่ซื่ออยู่เสมอ” 

ในภาพจิตรกรรมบริเวณนี้ เป็นการแสดงให้เห็นบาปกรรมต่างๆ ที่ผู้นั้นได้ก่อไว้ เมื่อตกลงในนรกต้องรับกรรมทุกข์ทรมานต่างๆกันไป ในภาพมุมซ้ายบนเป็นบาปในขุมนี้กินอาจมเก่าที่เหม็นนักหนา สำหรับบาปที่ประทุษร้ายเบียดเบียนมิตรสหาย หรืออาศัยกินข้าวเขาแล้วยังขู่เอาทรัพย์ของเขา หรือเจ้าหน้าที่ขูดรีด หรือภิกษุสงฆ์สามเณรที่ เมื่อเลยเวลาเพลยังกลับไปฉันท์ข้าวที่บ้านอีก ถัดมาตรงกลางเป็นบาปที่เกิดจากการ เป็นผู้พิพากษาตัดสินไม่เที่ยงธรรม ทำให้อวัยวะเพศและส่วนอื่นๆบวมพองอย่างทุกข์ทรมาน ถัดไปด้านขวาที่ทำบาป เพราะติ่นสายหุงข้าวไปถวายพระไม่ทัน แต่เอาให้ลูกของตนเองกินก่อน ต้องกินก้อนเหล็กที่ลุกแดงเข้าปาก ถัดลงมาเป็นบาปที่ตีพ่อตีแม่ หรือด่าพ่อด่าแม่ จะกลายเป็นเปรตปากเล็กเท่ารูเข็ม แม้แต่เมล็ดข้าวก็เข้าไม่ได้ ถัดไปเป็นเปรตที่ถูกกรอกด้วยน้ำเลือดน้ำหนองซึ่งร้อนเป็นไฟเข้าไปลวกไหม้ทรมาน สำหรับบาปที่ทำร้ายมารดาบิดา และท่านที่มีคุณควรกราบไหว้บูชาทั้งหลาย และขวาสุดเป็นผู้ที่ทำบาปโดนจับนอนบนแผ่นเหล็กร้อน และถูกหมกไหม้และถูกทิ่มแทงทรมาน สำหรับบาปที่เป็นมิจฉาทิฏฐิคือเห็นผิดว่าผลทานผลศีลไม่มี ผลกรรมดีกรรมชั่วไม่มี คุณมารดาบิดาไม่มี คุณสมณพราหมณ์ไม่มี เป็นต้น ส่วนภาพตอนสุดท้ายนั้นลบเลือน มิสามารถอธิบายได้

การแต่งกายของนิรยบาลมีการแต่งกายคล้ายชาวไทยวนและไทลื้อในล้านนาในยุคนั้น ที่ได้รับอิทธิพลการแต่งกายรูปแบบจากทางกรุงเทพคือ ใส่เสื้อแขนยาวคอกลมทำจากผ้าที่เป็นผ้าพื้นเรียบ นุ่งผ้าที่มีลวดลายผืนเดียวที่เรียกว่านุ่งแบบ“นุ่งผ้าต้อย”หรือ“เค็ดม่าม”โดยจะม้วนผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมรหรือโจงกระเบน เผยให้เห็นลายสักยันต์ตั้งแต่ท้องน้อยจนถึงหัวเข่า อันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชายชาวไทยวนและไทลื้อในแถบนี้ มัดหัวด้วยผ้าสีแดงห้อยชายผ้าไปด้านหลัง

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
07/02/2558
RESOURCE TYPE:
จิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
จิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
000
SUBJECT AGE:
CATEGORY:
จิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
11.43×6.82 เมตร(ขนาดรวมทั้งฝาผนัง)
DIGITAL SIZE:
76,603×25,593 Pixels