จิตรกรรมฝาผนังมุขทิศเหนือ ฝั่งตะวันออก 1.3

Category:

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพเขียนพญาเมืองอินทปัฎฐนคร พระชายา พระธิดา และเหล่านางกำนัลประทับอยู่ในปราสาท บริเวณด้านหน้ามีเหล่าเสนาอมาตย์เข้าเฝ้าอยู่ นอกจากนี้บริเวณโถงด้านหน้าปราสาทมีโถเครื่องลายครามขนาดใหญ่ศิลปะจีนตั้งอยู่ 3 ใบ ซึ่งน่าจะแสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งของพญาเมืองอินทปัฎฐนคร ที่มีข้าวของเครื่องใช้ที่มีราคาสูง และยังเป็นของที่มาจากเมืองจีน  

ภาพเขียนปราสาทในภาพเป็นปราสาทที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมระหว่างสถาปัตยกรรมล้านนาและสถาปัตยกรรมแบบภาคกลาง (กรุงเทพ) คือ ปราสาทประธานหลังกลางมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส หลังคาทรงสูงสามชั้น มียอดแหลม มีลักษณะคล้ายกับวิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุกเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ส่วนปราสาทด้านข้างมีลักษณะคล้ายกับวัดในล้านนาในยุคที่ได้รับอิทธิพลจากทางกรุงเทพเข้ามาผสมผสาน คือ ทรงหลังคาปีกนกลดสองชั้น ช่อฟ้าเป็นหัวนาคแบบทางกรุงเทพ และปราสาททุกหลังมีพระวิสูตร หรือ ผ้าม่านกางกั้น ตัวปราสาทตั้งอยู่บนยกพื้น

ในภาพพญาเมืองอินทปัฎฐนครทรงเครื่องทรงแบบกษัตริย์ของไทย คล้ายกับการแต่งกายในละครนาฏศิลป์ของภาคกลาง (กรุงเทพ) คือ สวมพระมหามงกุฎ หรือ พระชฎา มีกรรเจียก คือเครื่องประดับหูมีรูปเป็นกระหนก และสวมกรองศอและอินทรธนูทับบนเสื้อแขนยาว มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน นุ่งสนับเพลาคือกางเกงขายาวประมาณครึ่งแข้ง นุ่งโจงกระเบนทับที่เป็นผ้าที่มีลวดลาย รัดด้วยปั้นเหน่ง หรือ เข็มขัด มีผ้าห้อยหน้า หรือชายไหวระหว่างชายแครง มีแถบผ้าปลายงอนหุ้มปลายขากางเกงทั้ง 2 ข้าง ปัจจุบันยังหมายถึงกางเกงด้วย ราชาศัพท์ใช้ว่า “พระสนับเพลา” และไม่สวมฉลองพระบาท

ส่วนพระชายา เเละพระธิดาที่นั่งอยู่สองข้างพระราชานั้น เห็นเพียงท่อนบน คือ สวมเครื่องแต่งกายแบบหญิงชาวไทยวนในล้านนา คือ นำผ้าแถบมาห่มห้อยชายไปด้านหลัง คล้ายการห่มสไบ เรียกว่า “ห่มผ้าสะหว้ายแล่ง” หรือ “เบี่ยงบ้าย” ในภาษาล้านนา ไว้ผมยาวมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง” ไว้กลางศีรษะ ปักปิ่นทองคำ หรือ “ปิ่นคำ” ในภาษาล้านนา มัดมวยด้วยสร้อยคำหรือสร้อยทอง เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นใบลาน แผ่นเงิน หรือ ทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป 

ส่วนเหล่านางสนมกำนัลนำผ้าแถบมาห่มคลุมไหล่ทั้งสองข้าง บางคนนุ่งซิ่น “ซิ่นป้อง” คือซิ่นที่มีลายในแนวขวางลำตัวดูแล้วคล้ายกับ “ซิ่นต๋า” ของหญิงชาวไทยวนในล้านนา มีการตกแต่งด้วยกรรมวิธีการทอแบบต่างๆในเส้นแนวขวางลำตัวมากกว่าซิ่นต๋า ซิ่นป้องถือเป็นผ้าซิ่นที่มีโครงสร้างชนิดพิเศษและมีเอกลักษณ์ สามารถพบได้แต่เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น ไว้ผมยาวทำผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง”ไว้กลางศีรษะ 

ส่วนเหล่าเสนาอมาตย์ที่อยู่ด้านหน้าและด้านข้างของปราสาท สวมเครื่องแต่งกายคล้ายชาวไทยวนและไทลื้อในล้านนาในยุคนั้น ซึ่งได้รับอิทธิพลการแต่งกายมาจากทางกรุงเทพ คือ ใส่เสื้อแขนยาวคอกลมทำจากผ้าพื้นเรียบและผ้าที่มีลวดลาย นุ่งผ้าผืนเดียวมีลวดลายเรียกว่านุ่งแบบ “นุ่งผ้าต้อย” หรือ “เค็ดม่าม” โดยจะม้วนผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมร หรือ โจงกระเบน มัดเอวด้วยผ้าพื้นสีแดง เผยให้เห็นลายสักยันต์ตั้งแต่ท้องน้อยจนถึงหัวเข่า อันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชายชาวไทยวนและไทลื้อในแถบนี้ ไว้ผมทรงมหาดไทย ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว แต่ไม่ได้แสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพ

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
07/02/2558
RESOURCE TYPE:
จิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
จิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
000
SUBJECT AGE:
CATEGORY:
จิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
11.43×6.82 เมตร(ขนาดรวมทั้งฝาผนัง)
DIGITAL SIZE:
57,451×19,360 Pixels