วัดหนองบัว ทิศเหนือช่องที่ 5(กัณฑ์ที่ 4 ตอนกลางและตอนท้าย)1.12

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพเขียนจิตรกรรมบริเวณลานฝั่งขวา หน้าปราสาทเมืองกาสี เขียนเรื่องราวในตอนที่พระนางสุชาตดึงสาฟื้นคืนจากความตาย ยังมาซึ่งความปิติยินดีแก่พระญาธรรมสุชาตและพระนางสุธรรมา พระมเหสี

ครั้นเมื่อพระราชา พระมเหสี เหล่าอำมาตย์ เสนา ปุโรหิต ข้าบริพารที่อยู่ในพิธีชุบชีวิตพระนางสุชาตดึงสา ยังความปิติยินดีเป็นล้นพ้น เมื่อเห็นพระราชธิดาทรงฟื้นจากความตาย ก็ได้พร้อมกันให้สาธุการบูชาสุริยคาธ ฝ่ายพระมเหสีเข้าสวมกอดพระราชธิดา และรับสั่งประธานเครื่องใช้สอยเป็นอันมากแก่สุริยคาธ

พระเจ้าเมืองกาสีทรงตรัสกับสุริยคาธว่า “ดูก่อนพ่อสุริยคาธ เรายกธิดาของเราคนนี้ให้เป็นบาทบริจาริกาของพ่อ และจักอภิเษกพ่อให้ครองราชสมบัติ” ฝ่ายสุริยคาธจึงกราบทูลต่อพระราชาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐ ข้าพระพุทธเจ้ายากจน มาจากต่างประเทศ ไม่สมควรเพื่อรับราชสมบัติ จะขอทูลลาเที่ยวไปสู่ทิศน้อยใหญ่” เมื่อพระราชาสดับได้ดังนั้น จึงทรงนิ่งไป ฝ่ายพระนางสุชาตดึงสา จึงกราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า ถ้าสุริยคาธจะเที่ยวไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่ หม่อมฉันจักตามไป หม่อมฉันไม่ปรารถนาพรากจากสุริยคาธ ชีวิตของหม่อมฉันอยู่ใต้บาทของเขา เพราะฉะนั้นขอพระองค์ได้ทรงห้ามเขาไว้เถิด” 

พระญาธรรมสุชาตจึงจัดให้มีพิธีอภิเสกสมรส แล้วประธานปราสาททองหลังหนึ่งให้สุริยคาธเเละพระนางสุชาตดึงสาครองเรือนร่วมกัน ฝ่ายจันทคาธที่พักอาศัยที่บ้านของอุกัษฐเศรษฐี เป็นที่รักชอบพอของเศรษฐี หากประสงค์สิ่งใดก็ได้ดังประสงค์

ในภาพจะเห็นว่าพระนางสุชาตดึงสามอบอยู่บนตักของพระนางสุธรรมา ผู้เป็นพระมารดา ส่วนด้านขวาเขียนภาพพระญาธรรมสุชาต เบื้องหน้ามีสุริยคาธหมอบเฝ้าอยู่ ซึ่งน่าจะเป็นตอนที่พระญาธรรมสุชาตต้องการให้สุริยคาธอภิเษกกับพระนางสุชาตดึงสา 

พระญาธรรมสุชาต ทรงเครื่องแบบกษัตริย์ สวมกระบังหน้ามีกรรเจียกคือ เครื่องประดับหูมีรูปเป็นกระหนก ใช้ประกอบกับพระมหามงกุฎ พระชฎา หรือ รัดเกล้า และสวมกรองศอทับบนเสื้อแขนยาว มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน นุ่งสนับเพลา คือ กางเกงขายาวประมาณครึ่งแข้ง มีผ้าห้อยหน้า หรือ ชายไหวระหว่างชายแครง มีแถบผ้าปลายงอนหุ้มปลายขากางเกงทั้ง 2 ข้าง นุ่งโจงทับ ปัจจุบันยังหมายถึงกางเกงด้วย ในคำราชาศัพท์ใช้ว่า “พระสนับเพลา”

ส่วนพระนางสุธรรมา และพระนางสุชาตดึงสา สวมเครื่องเเต่งกายคล้ายกับเจ้านายในเมืองน่านและในล้านนาในสมัยนั้น คือ ด้านบนเปลือยอกและนำมาแถบมาห่มห้อยชายไปด้านหลัง นุ่ง “ซิ่นตีนจกคำ” แปลว่า “ซิ่นตีนจกทองคำ” เป็นซิ่นตีนจกคำในภาพเป็นซิ่นที่มีรูปแบบเฉพาะซึ่งถือรูปแบบผ้าซิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองน่าน คือ ท้องซิ่นจะมีแนวขวางลำตัวดูแล้วคล้ายกับซิ่นป้อง ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของผ้าซิ่นที่มีรูปแบบพิเศษ มีลายในแนวขวางลำตัว ดูแล้วคล้ายกับ “ซิ่นต๋า” ของหญิงชาวไทยวนในล้านนา มีการตกแต่งผ้าซิ่นด้วยกรรมวิธีการทอแบบต่างๆในแนวขวางลำตัวที่ค่อนข้างหลากหลาย เเล้วเกิดลวดลายเพิ่มขึ้น พบได้เฉพาะที่เมืองน่านเท่านั้น 

ในภาพน่าจะเป็นเทคนิคการตกแต่งเเละการทอด้วยกรรมวิธีหลายอย่าง อย่างแรกน่าจะเป็นกรรมวิธี “การยก” ด้วยดิ้นคำ หรือ ดิ้นทองคำ อย่างที่สอง คือ ตกแต่งด้วยกรรมวิธีการทอที่ในเมืองน่านเรียกว่า “มัดก่าน” หรือที่ทั่วไปเรียกว่า “มัดหมี่” ด้านล่างต่อด้วย “ตีนจกคำ” คือ ตีนซิ่นที่ทอด้วยกรรมวิธีการจกและมีการสอดแทรกไหมทองคำ หรือ ไหมเงินลงไปเพื่อให้ดูมีค่ามากยิ่งขึ้น “ตีนจก” นี้เป็นตีนซิ่นที่นิยมกันในหญิงชาวไทยวนในล้านนา ส่วน “ตีนจก” ยังมีโครงสร้างเดียวกับตีนจกของหญิงชาวไทยวนในล้านนา แต่ตีนจกของเมืองน่านมีการใส่ลวดลายเฉพาะของตนลงไป ทำให้เกิดเป็นรูปแบบเฉพาะของซิ่นตีนจกเมืองน่าน ซึ่งสามารถพบได้แต่เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น พระนางทั้งสองทำผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง” ไว้กลางศีรษะปักปิ่นทองคำ หรือ “ปิ่นคำ” ในภาษาล้านนา มัดมวยด้วยสร้อยคำหรือสร้อยทอง เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆคล้ายแผ่นใบลาน ที่ทำจากแผ่นเงิน หรือ ทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป สวมกำไลทองคำทั้งที่ข้อมือและต้นแขน และไม่สวมรองเท้า 

สุริยคาธสวมเครื่องแต่งกายแบบชาวบางกอกในยุคนั้น คือ ใส่เสื้อคอตั้งแขนยาวสีขาว นุ่งโจงกระเบนสีขาว นำผ้าสีแดงมาคลุมไหล่ ถอดหมวกทรงกลมสีทองวางไว้ด้านหลัง  ไว้ทรงผมทรงมหาดไทย ลักษณะ คือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว แต่ไม่ได้แสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพ และไม่สวมรองเท้า

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
07/02/2558
RESOURCE TYPE:
จิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
จิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
ภาพจิตรกรรมที่เรียกได้ว่าเป็นของ สกุลช่างน่าน มีเอกลักษณ์เฉพาะตน ที่นำเอารูปแบบต่างๆทั้งศิลปะของไทลื้อ ศิลปะของทางรัตนโกสินทร์และศิลปะของพม่าแบบไทใหญ่ นำมาผสมผสานก่อให้เกิดรูปลักษณ์ที่เป็นของเฉพาะตนได้อย่างงดงาม มีรูปแบบคล้ายพบได้ที่วัดภูมินทร์ อำเภอมืองน่าน โดยมีการใช้สีจากธรรมชาติเป็นส่วนมากในการเขียน อาทิเช่น สีน้ำเงินจากคราม ที่เป็นสีหลักในการเขียนจิตรกรรม แต่เป็นที่น่าเสียดายที่จิตรกรรมเสียหายค่อนข้างมาก เนื่องจากน้ำฝนรั่ว ความชื้นจากดินด้านล่าง รวมถึงโดนน้ำท่วมมาด้วยกันหลายครั้ง
COVERAGE:
วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
02_29_20150207_MR_วัดหนองบัว_44
SUBJECT AGE:
ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 25
CATEGORY:
จิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
89×37 cm
DIGITAL SIZE:
25254×3760

Loading