Description
Digital Data
ภาพเขียนจิตรกรรมบริเวณกลางผนังด้านบน ระหว่างหน้าต่างช่องที่ 5 และ 6 เขียนภาพกษัตริย์ธรรมสุชาต ประทับบนเสลี่ยง พร้อมด้วยพระราชกุมารี เสด็จประพาสพระราชอุทยาน ในบริเวณนี้มีภาษาล้านนาเขียนกำกับอยู่ อ่านได้ความว่า “พยาเมิงกาสีพารุ..ไปสวนอุทยานแล”
กษัตริย์ธรรมสุชาตทรงเครื่องแบบกษัตริย์สวมกระบังหน้ามีกรรเจียก คือเครื่องประดับหูมีรูปเป็นกระหนก ใช้ประกอบกับพระมหามงกุฎ พระชฎา หรือรัดเกล้า และสวมกรองศอทับบนเสื้อแขนยาว มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน นุ่งสนับเพลาคือกางเกงขายาวประมาณครึ่งแข้งมีผ้าห้อยหน้าหรือชายไหวระหว่างชายแครง มีแถบผ้าปลายงอนหุ้มปลายขากางเกงทั้ง 2 ข้าง นุ่งโจงทับ ปัจจุบันยังหมายถึงกางเกงด้วย ราชาศัพท์ใช้ว่า พระสนับเพลา ไม่สวมฉลองพระบาท
ส่วนด้านหน้าขบวนมีเหล่าเสนาและพนักงานน้อยใหญ่ หลากหลายชาติพันธุ์ มีการแต่งกายที่หลากหลาย เช่น กลุ่มชาย 3 คน ด้านหน้าขบวน แต่งกายแบบชาวบางกอกในยุคนั้นคือ สวมเสื้อผ้าสีเรียบแขนยาวนุ่งโจงกระเบนไว้ผมทรงมหาดไทย บริเวณด้านหน้ามีภาษาล้านนาเขียนกำกับอยู่ว่า “เสนา”
ถัดมามีภาษาล้านนาเขียนกำกับอยู่อ่านได้ความว่า “จำหนวด” หรือ ตำรวจในภาษาไทยภาคกลาง แต่งกายแบบชาวบางกอกในยุคนั้นคือ สวมเสื้อผ้าสีเรียบแขนยาวนุ่งโจงกระเบน สวมหมวกแบบชาวตะวันตก ในมือถือธงไชยและตำราใบลาน
ถัดมาเป็นกลุ่มของเหล่าทหาร ประกอบด้วยชาติพันธุ์ต่างๆ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพวกแขก ชาวจีน ซึ่งสวมใส่เครื่องแบบที่น่าจะรับอิทธิพลมาจากการแต่งกายของทหารชาวตะวันตก คือสวมเครื่องแบบเสื้อสีแดง กางเกงขาวสวมหมวกสีขาว ใส่รองเท้าหนังสีดำ แบกปืน ส่วนทหารชาวไทแต่งกายแบบชาวบางกอกในยุคนั้น คือ สวมเสื้อผ้าสีเรียบแขนยาวนุ่งโจงกระเบนไว้ผมทรงมหาดไทย ไม่สวมรองเท้า แบกไม้พลอง ส่วนทหารแบกเสลี่ยง แต่งกายแบบชายชาวล้านนา คือ สวมเสื้อผ้าพื้นสีเรียบ แขนยาว นุ่งผ้ามีลวดลาย หรือผ้าพื้นสีเรียบผืนเดียวที่เรียกว่านุ่งแบบ “นุ่งผ้าต้อย” หรือ “เค็ดม่าม” โดยจะม้วนผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมร หรือโจงกระเบน เผยให้เห็นลายสักยันต์ตั้งแต่ท้องน้อยจนถึงหัวเข่า นิยทสักเป็นลวดลายของสัตว์หิมพานต์ มักเรียกว่า “สักขาลาย” หรือ “สักเตี่ยวก้อม” ในภาษาล้านนา ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชายชาวไทลื้อและไทยวนในแถบนี้ ไว้ผมสั้น และไม่สวมรองเท้า
ในภาพช่างเขียนยังสอดเเทรกเรื่องราวในชีวิตประจำวัน เขียนลงไปในภาพเขียน เช่น เขียนภาพต้นสัปะรด หรือในภาษาล้านนาเรียกว่า “ต้นบะขะหนัด” ซึ่งถือเป็นของแปลกใหม่ในสมัยนั้น เป็นต้น
Physical Data