จิตรกรรมฝามุขทิศตะวันออกฝั่งด้านใต้ 1.7

Category:

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพเขียนเจ้าคัทธณะกุมาร เเละชายเกวียนร้อยเล่ม ที่มาพบนางคำสิงที่ซ่อนอยู่ในโพรงเสาของท้องพระโรงของเมืองชวาทวดีศรีมหานคร เมื่อเห็นดังนั้นเจ้าคัทธณะกุมารจึงได้อุ้มนางคำสิงออกมาจากโพรงเสานั้น ในบริเวณนี้มีอักษรล้านนาเขียนกำกับอยู่ ประกอบด้วย ชุดอักษรล้านนาบริเวณด้านบน บริเวณด้านหน้าของชายเกวียนร้อยเล่ม อ่านได้ความว่า “เกวียนร้อยเหล่มไปปักดูแล” แปลได้ว่า “ชายเกวียนร้อยเล่มไปพบนางคำสิงอยู่ในโพรงเสาของท้องพระโรง” เเละชุดอักษรล้านนาบริเวณด้านล่างของโพรงเสา อ่านได้ความว่า “เจ้าคัทธณะ” 

ในภาพเจ้าคัทธณะกุมารทรงเครื่องเเต่งกายอย่างกษัตริย์ของไทย คล้ายกับการแต่งกายในละครนาฏศิลป์ของทางภาคกลาง (กรุงเทพ) คือ สวมพระมาลายอดเกี้ยว หรือ หมวกทรงกลมยอดแหลม สวมกรองศอและอินทรธนูทับบนเสื้อแขนยาว มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน นุ่งสนับเพลา คือ กางเกงขายาวประมาณครึ่งแข้ง นุ่งโจงกระเบนทับทำมาจากผ้าที่มีลวดลาย รัดด้วยปั้นเหน่งหรือเข็มขัด มีผ้าห้อยหน้าหรือชายไหวระหว่างชายแครง มีแถบผ้าปลายงอนหุ้มปลายขากางเกงทั้ง 2 ข้าง ปัจจุบันยังหมายถึงกางเกง ในคำราชาศัพท์เรียกว่า “พระสนับเพลา” 

ส่วนนางคำสิงสวมเครื่องแต่งกายคล้ายเจ้านายในเมืองน่านและในล้านนาในสมัยนั้น คือ ด้านบนเปลือยอก นำมาแถบมาห่มแบบสไบเรียกว่า “ห่มผ้าสะหว้ายแล่ง” ในภาษาล้านนา นุ่ง “ซิ่นตีนจกคำ” หรือ ซิ่นตีนจกทองคำ เป็นซิ่นที่นิยมสวมใส่ในหมู่เจ้านายฝ่ายหญิงในล้านนา แต่ “ซิ่นตีนจกคำ” ที่นางกองสีใส่นั้นเป็นซิ่นตีนจกคำ ที่มีรูปแบบเฉพาะของเมืองน่าน คือท้องซิ่นจะมีแนวขวางลำตัวที่ดูแล้วคล้ายกับซิ่นป้อง มีการตกแต่งด้วยกรรมวิธีการทอแบบต่างๆให้เกิดลวดลายเพิ่มในแนวเส้นขวางลำตัว ในภาพน่าจะเป็นการตกแต่งการทอด้วยกรรมวิธี “การยก” ด้วยดิ้นคำ หรือ ดิ้นทองคำ ส่วนด้านล่างต่อด้วย “ตีนจกคำ” คือ ตีนซิ่นที่ทอด้วยกรรมวิธีการจกที่มีการสอดแทรกไหมทองคำ หรือ ไหมเงินลงไปเพื่อให้ดูมีค่ามากยิ่งขึ้น “ตีนจก” นี้เป็นตีนซิ่นที่นิยมกันในหญิงชาวไทยวนในล้านนา เเละยังมีโครงสร้างเดียวกับตีนจกของหญิงชาวไทยวนในล้านนา แต่ตีนจกของเมืองน่านมีการใส่ลวดลายเฉพาะของตนลงไป ทำให้เกิดเป็นรูปแบบเฉพาะที่สามารถพบได้เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น ส่วนบนศรีษะไว้ผมยาวทำผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง” ไว้กลางศีรษะ ปักปิ่นทองคำ หรือ “ปิ่นคำ” ในภาษาล้านนา มัดมวยด้วยสร้อยคำ หรือ สร้อยทอง เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆคล้ายแผ่นใบลาน ที่ทำจากแผ่นเงินหรือทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป สวมกำไลทองคำทั้งที่ข้อมือและต้นแขน

ส่วนชายเกวียนร้อยเล่มแต่งกายคล้ายชาวไทยวนและไทลื้อในล้านนาในยุคนั้น ซึ่งรับอิทธิพลจากทางภาคกลาง (กรุงเทพ) คือ สวมเสื้อแขนยาวคอกลมทำจากผ้าสีเรียบ มีการตกแต่งที่สาปเสื้อด้านหน้าและที่ต้นแขน นุ่งผ้าผืนเดียวที่มีลวดลายเรียกว่านุ่งแบบ “นุ่งผ้าต้อย” หรือ “เค็ดม่าม” โดยจะม้วนผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมร หรือ โจงกระเบน มัดเอวด้วยผ้าพื้นสีแดง เผยให้เห็นลายสักยันต์ตั้งแต่ท้องน้อยจนถึงหัวเข่า อันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชายชาวไทยวนและไทลื้อในแถบนี้ เเละสวมหมวกทรงกลมที่นิยมกันในหมู่ชายชาวตะวันตกในยุคนั้น

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
07/02/2558
RESOURCE TYPE:
จิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
จิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
000
SUBJECT AGE:
CATEGORY:
จิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
11.43×6.82 เมตร(ขนาดรวมทั้งฝาผนัง)
DIGITAL SIZE:
76,603×25,593 Pixels