วัดหนองบัว ทิศใต้ช่องที่ 1-2-3(กัณฑ์ที่ 9)1.14

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพเขียนบริเวณด้านบนเหนือหน้าต่างช่องที่ 4 เป็นเรื่องราวตอนท้ายของกัณฑ์ที่ 9 ตโยเสฏฐีธิตาเปสนกัณฑ์ เป็นเรื่องราวที่เจ้าจันทคาธถึงบ้านเศรษฐีทั้ง 3 

บริเวณเหนือกำแพงฝั่งด้านขวามีภาษาล้านนากำกับอยู่ อ่านได้ความว่า 

“เจ้าจันทฅาดเอานางทัง [3] มา . . หื้อมหา.[ล]..

….ถีในเมิงสังกาสะ . . [ร] . [นี] . . . ว . กเศรีษฐี. . .”

ทั้งนี้เนื่องจากข้อความไม่ครบจึงไม่สามารถแปลความได้

ครั้นเมื่อเจ้าจันทคาธพาธิดาเศรษฐีทั้ง 3 มาถึงสังกัสนคร จึงพานางทั้ง 3 ไปพบบิดาเเละมารดาของนาง ครั้นเศรษฐีเห็นหน้าธิดาของตนต่างก็จำธิดาของตนไม่ได้ จึงถามว่า “แม่เป็นใครมาจากไหน” นางจึงตอบว่า “ดิฉันเป็นธิดาของท่าน” พอพินิจอย่างถ้วยถี่เเล้วจึงนึกได้ ก็เข้ากอดร้องไห้ร่ำไรไต่ถามว่า “นี่แม่ไปทางไหนมา ได้สุขทุกข์อย่างไรบ้าง เล่าให้พ่อแม่ฟัง” นางทั้ง 3 ต่างก็เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตนให้บิดามารดาของตนฟัง” ครั้นเศรษฐีจึงถามกับธิดาของตนว่า “จันทคาธเดี๋ยวนี้เขาอยู่ไหน” นางจึงตอบว่า “พักอยู่นอกบ้าน” “ทำไมไม่พาเข้ามานี่” ได้ยินดังนั้นนางทั้ง 3 ต่างก็พากันออกไปเชิญเจ้าจันทคาธเเล้วถามกับเจ้าจันทคาธว่า “จักไปเรือนของใครก่อน” กระนั้นนางทั้ง 3 ก็กล่าวเหมือนกันว่า “ไปเรือนของฉันก่อนๆ” ปัญหานี้เจ้าจันทคาธมิอาจปฏิบัติตามได้จึงนิ่งเฉยอยู่ ลำดับนั้นเศรษฐีผู้เป็นบิดามารดาต่างก็ถามว่าจักไปเรือนของใครก่อน ต่างก็ชิงกันตอบว่า ไปเรือนของฉันก่อน เเละยังถามอีกว่านางทั้ง 3 นี้มิได้เป็นภรรยาของท่าน หรือมิได้เป็น ต่างก็พากันเหลียวถามธิดาของตนว่า นี่มิได้เป็นสามีของเจ้าดอกหรือ เป็นแต่มิได้สมรสกัน เพราะเหตุไร เพราะบิดามารดายังไม่อนุญาต เขาจึงไม่รื่นรมย์ด้วย เมื่อได้ยินดังนั้นเศรษฐีทั้ง 3 ต่างก็พากันสรรเสริญชมเชยเจ้าจันทคาธว่าแปลกดีนัก ยังทิเคยได้ยินเรื่องเช่นนี้ บุรุษผู้นี้ซื่อตรงจริงและพร้อมกันยกธิดาของตนให้ และเชิญให้ไปบ้าน ฝ่ายเจ้าจันทคาธมิอาจไปบ้านของใครได้จึงกล่าวว่า “หากท่านยกธิดาให้ ก็จงปลูกเรือนให้ในที่นี้เถิด ถ้าผู้ใดเสร็จก่อนผู้นั้นก็ได้ทำการมงคลก่อน” เมื่อได้ยินดังนั้นเศรษฐีทั้ง 3 ต่างพากันสร้างปราสาทคนละหลัง ครั้นเวลาล่วงไปหลายวันฝ่ายนางทิพโสดาสร้างเสร็จก่อน จึงได้มงคลก่อน ถัดมาเป็นนางประทุมบุปผา เเล้วจึงตามด้วยนางสุคนธเกศี 

เจ้าจันทคาธขึ้นหอแห่งละ 3 วัน จนถึงวันที่ 22 ก็ระลึกถึงนางเทวธิสังกา จึงบอกลานางทั้ง 3 ว่า เราพลัดจากนางเทวธิสังกามานาน เมื่อระลึกถึงใคร่จักลาเจ้าไปตามหานาง ธิดาเศรษฐีได้ยินดังนั้นประหนึ่งว่าหฤทัยจะแตกสลาย ต่างร่ำไรรำพัน จึงนำความไปเล่าให้บิดาเเละมารดาของตนฟัง เศรษฐีทั้งหลายจึงห้ามปรามไว้ว่า พวกเราตั้งแต่งพ่อไว้ในฐานะบุตร หวังเป็นที่พึ่งพาอาศัย อย่างไรจักกลับเสียเล่า อย่าลืมพวกเราเสีย ถ้าพบนางแล้วจงมานี่อีกไม่ลืม เจ้าจันทคาธจึงตอบกับเหล่าเศรษฐีว่า เมื่อพบนางแล้วจะเลยไปหาพี่ชายแล้วจักกลับมาอีก เเล้วจึงฝากภรรยาทั้ง 3 ไว้ในสำนักบิดามารดา แล้วจึงใส่เกือกแก้ว ถือพระขรรค์กายสิทธิ์เหาะเรื่อยไปตามอากาศ แล้วลงริมฝั่งแม่น้ำอจิรวดี นั่งอยู่ ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง เเล้วจึงลงอาบน้ำ แล้วจึงขึ้นมานั่งบริโภคโภชนาหารอยู่ที่เดิม  

เศรษฐีทั้ง 3 ภรรยาและธิดาทั้ง 3 นั่งอยู่ในเรือนคล้ายวิหารโถงรูปแบบของสถาปัตยกรรมคล้ายกับวัดของล้านนา 

เจ้าจันทคาธและเศรษฐีทั้ง 3 เเละบริวารชาย แต่งกายแบบชาวบางกอกในยุคนั้น คือ สวมเสื้อคอตั้งแขนยาวนุ่งโจงกระเบนพร้อมผ้าคาดเอว ไว้ผม “ทรงมหาดไทย” ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว แต่ไม่ได้แสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพ และไม่สวมรองเท้า 

ส่วนนางทั้ง 3 แต่งกายแบบหญิงในล้านนา คือ เปลือยอกนำและนำผ้าแถบสีเรียบมาห่มเฉียงแบบสไบ หรือ คล้องทิ้งชายไปด้านหลังเรียกว่า “สะหว้ายแหล้ง” หรือ “เบี่ยงบ้าย” จะเห็นได้ว่านางสนมกำนัลในภาพสวมใส่ผ้าซิ่นแบบต่างๆที่พบในเมืองน่านเท่านั้น เช่น นางสนมมคนแรก (คนขวาสุด) นุ่ง “ซิ่นป้อง” เป็นซิ่นที่มีรูปแบบพิเศษซึ่งเป็นซิ่นที่มีลายในแนวขวางลำตัว ดูแล้วคล้ายกับ “ซิ่นต๋า” ของหญิงชาวไทยวนในล้านนา ซิ่นป้องนี้มีการตกแต่งผ้าซิ่นด้วยการทอกรรมวิธีต่างๆในแนวขวางลำตัวที่ค่อนข้างหลากหลาย ทำให้เกิดลวดลายเพิ่มเติม พบได้เฉพาะที่เมืองน่านเท่านั้น ในภาพน่าจะเป็นการตกแต่งการทอด้วยกรรมวิธีหลายอย่าง แต่การตกแต่งที่เด่นชัด คือ การตกแต่งด้วยกรรมวิธีการทอที่เรียกว่า “ยกมุก” หรือทั่วไปเรียกว่า “ยกขิด” หรืออาจจะเป็นการทอด้วยกรรมวิธี “จก” ก็อาจจะเป็นไปได้ ส่วนบนศรีษะไว้ผมยาว ทำผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง” ไว้กลางศีรษะ ที่หูใส่ “ลานหู” ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นบางๆคล้ายใบลาน ทำจากแผ่นเงิน หรือ ทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
07/02/2558
RESOURCE TYPE:
จิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
จิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
ภาพจิตรกรรมที่เรียกได้ว่าเป็นของ “สกุลช่างน่าน” มีเอกลักษณ์เฉพาะตน ที่นำเอารูปแบบต่างๆทั้งศิลปะของไทลื้อ ศิลปะของทางรัตนโกสินทร์และศิลปะของพม่าแบบไทใหญ่ นำมาผสมผสานก่อให้เกิดรูปลักษณ์ที่เป็นของเฉพาะตนได้อย่างงดงาม มีรูปแบบคล้ายกับวัดภูมินทร์ อำเภอมืองน่าน โดยมีการใช้สีจากธรรมชาติเป็นส่วนมากในการเขียน อาทิเช่น สีน้ำเงินจากคราม ที่เป็นสีหลักในการเขียนจิตรกรรม แต่เป็นที่น่าเสียดายที่จิตรกรรมเสียหายค่อนข้างมาก เนื่องจากน้ำฝนรั่ว ความชื้นจากดินด้านล่าง รวมถึงโดนน้ำท่วมมาด้วยกันหลายครั้ง
COVERAGE:
วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
02_29_20150207_MR_วัดหนองบัว_160
SUBJECT AGE:
ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 25
CATEGORY:
จิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
214×104 cm
DIGITAL SIZE:
25565×3908 Pixels

Loading