วัดหนองบัว ทิศเหนือช่องที่ 3(กัณฑ์ที่ 5 ตอนต้นส่วนที่ 1)1.1

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพเขียนจิตรกรรมในส่วนบนของฝาผนังช่องนี้ เขียนเรื่องราวไว้  2 ส่วนคือ ส่วนเเรกเป็นภาพเขียนบริเวณฝั่งด้านซ้ายมือ เขียนเรื่องราวในตอนที่เจ้าสุริยคาธและจันทคาธกลับไปเยี่ยมบิดาเเละมารดาที่เมืองจัมปากะ เพื่อเเทนพระคุณบิดามารดา ทั้งสองจึงปลอมตัวเข้าไปในเมือง เพื่อกันไม่ให้มารดาที่เป็นคนปากร้ายด่าทอเอา เเล้วนำแก้วเเหวนเงินทองที่ใส่ไว้ในกระบอกไม้ไผ่ ไปแลกกับแตงโมที่บิดามารดาปลูกไว้ ทั้งนี้ภาพเขียนในบริเวณนี้ค่อนข้างลบเลือนไปมากแต่ยังพอที่จะจับใจความได้บ้างดังที่กล่าวไปข้างต้นส่วนภาพเขียนในฝั่งซ้ายมือของช่องนี้ เขียนภาพบรรยากาศภายในตลาดที่เมืองจัมปากนคร ในภาพมีผู้คนทั้งชายหญิงทำกิจกรรมต่างๆ มีหญิงสาวหลากหลายวัยมาเดินตลาด ทั้งยังมีหนุ่มๆมานั่งชมสาว บ้างก็นำของมาขาย จะสังเกตได้ว่าภาพเขียนในช่องนี้ไม่ปรากฎภาพเขียนชาวต่างชาติเหมือนช่องอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเป็นชาวไทยวนและไทลื้อ สามารถสังเกตได้จากเครื่องเเต่งกายที่สวมใส่ เป็นต้น ส่วนเนื้อเรื่องของภาพเขียนบริเวณฝั่งซ้ายมือของช่องนี้ เขียนเรื่องราวในตอนที่เจ้าสุริยคาธและจันทคาธไปตามหาบิดาเเละมารดาที่ตลาด เพื่อดูว่าบิดาเเละมารดาของตนมีความเป็นอยู่อย่างไร โดยเนื้อเรื่องในตอนนี้มีอยู่ว่า “ณ ท่าเรือนั้นมีตลาด แม่ค้าทั้งหลายขายเครื่องนุ่งห่ม เครื่องเงินเครื่องทองมาก ขายเครื่องบริโภค ผลไม้ดอกไม้บ้าง ครั้งนั้นพระพี่น้องทั้งสองนั่งอยู่บนเรือคอยดูมารดาบิดา และคนที่คุ้นเคย เหล่าแม่ค้าได้เห็นพระพี่น้องทั้งสองก็เกิดความรักจึงพูดกันว่า “ดูพ่อค้าหนุ่มสองคนนั้น” แล้วชี้มือและบุ้ยปากให้เพื่อนกันดู ฝ่ายมารดาบิดาผู้ตกยากของพี่น้องทั้งสองได้นำผลไม้เผือก มัน เป็นต้น ไปตั้งขายที่ตลาด เจ้าสุริยคาธทรงจำได้ จึงตรัสบอกจันทคาธว่า  “พ่อจันทคาธ ตายายสองคนนั้นเป็นมารดาบิดาของเรา แต่เจ้าอย่าพูดกับท่าน เพราะมารดาของเราเป็นคนปากกล้า เห็นเราแล้วจักโกรธด่าว่าเพิดเพ้ย เราจักได้ความละอาย ครั้นตรัสแล้วทรงนิ่งอยู่”

ถัดมาเป็นภาพเขียนบริเวณกลางภาพ ภาพเขียนบริเวณนี้น่าจะเขียนภาพเจ้าสุริยคาธและจันทคาธขณะเดินไปที่ตลาด จะสังเกตได้ว่าช่างเขียน เขียนภาพเครื่องเเต่งกายของสองกุมารแตกต่างจากผู้คนในบริเวณนั้น เพื่อเเสดงให้เห็นความเเตกต่างของผู้เป็นเจ้านายชั้นสูงกับชาวบ้านสามัญ 

เจ้าสุริยคาธและจันทคาธสวมเครื่องเเต่งกายที่มีลวดลายคล้ายกับเครื่องเเต่งแบบของทหารชาวตะวันตก คือ ใส่เสื้อคอตั้งแขนยาวปักด้วยดิ้นทอง สวมโจงกระเบนแบบทางกรุงเทพ ไว้ทรงผมที่เรียกว่า “ทรงมหาดไทย” ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว แต่ไม่ได้แสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากกรุงเทพ 

ส่วนภาพเขียนชายที่แบกกระบอกไม้ไผ่นั้น สวมเครื่องแต่งกายแบบชายชาวพื้นเมืองในแถบนี้ คือแต่งกายแบบชายไทยวน หรือ ไทลื้อในล้านนา คือ สวมเสื้อคอตั้งแขนยาวทำจากผ้าพื้นสีเรียบ นุ่งผ้ามีลวดลาย หรือ ผ้าพื้นสีเรียบผืนเดียวที่เรียกว่านุ่งแบบ “นุ่งผ้าต้อย” หรือ “เค็ดม่าม” โดยจะม้วนผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมร หรือ โจงกระเบน เผยให้เห็นลายสักยันต์เป็นลวดลายของสัตว์ในป่าหิมพานต์ ตั้งแต่ท้องน้อยจนถึงหัวเข่า ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชายชาวไทลื้อและไทยวนในแถบนี้ ไว้ทรงผม “ทรงมหาดไทย” และไม่สวมรองเท้า ส่วนภาพเขียนชายคนอื่นๆในภาพมีการไว้หนวดแบบทางกรุงเทพ เเละไม่สวมรองเท้า 

เเละบริเวณนี้มีภาษาล้านนาเขียนกำกับอยู่ อักษรล้านนาบรรทัดแรก อ่านได้ความว่า “จันทคราส….สาวไหย่..” แปลได้ประมาณว่า “จันทคาธ….หญิงสูงอายุ…” ถัดมาเป็นชุดอักษรล้านนาบรรทัดล่าง อ่านได้ความว่า “ผ่อเอาเทอะ..” แปลได้ประมาณว่า“..ดูเอาเถอะ…..” ชุดอักษรข้างต้นสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นตอนที่เจ้าสุริยคาธและจันทคาธเดินผ่านตลาด และมีชายชาวบ้านทักจันทคาธให้ดูหญิงสูงวัย ซึ่งหญิงสูงวัยที่ว่าจะน่าเป็นมารดาของสองกุมาร เป็นต้น

ส่วนภาพเขียนบริเวณฝั่งซ้ายมือ เขียนภาพหญิงสาวที่เดินมายังตลาด สวมผ้าแถบสีเรียบมาห่มเฉียงแบบสไบ หรือ คล้องทิ้งชายไปด้านหลังเรียกว่า “สะหว้ายแหล้ง” หรือ “เบี่ยงบ้าย” นุ่งซิ่นป้อง “ซิ่นป้อง” เป็นซิ่นที่มีลายในแนวขวางลำตัว ดูแล้วคล้ายกับ “ซิ่นต๋า” ของหญิงชาวไทยวนในล้านนา มีการตกแต่งด้วยกรรมวิธีการทอแบบต่างๆในเส้นแนวขวางลำตัวมากกว่าซิ่นต๋า ซึ่งซิ่นป้องถือเป็นผ้าซิ่นที่มีโครงสร้างชนิดพิเศษและมีเอกลักษณ์เฉพาะ สามารถพบได้เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น บนศรีษะเกล้าผม เรียกว่า “วิดว้อง” และ “ตั้งเกล้า” ที่หูใส่ลานหู คือ เครื่องประดับที่มีลักษณะคล้ายแผ่นใบลาน ทำจากแผ่นเงิน หรือ ทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่ที่หู และไม่สวมรองเท้า 

เเละในบริเวณฝั่งขวามีภาษาล้านนาเขียนกำกับอยู่อ่านได้ความว่า “ไปกาด” แปลว่า “ไปตลาด” และข้อความอีกชุดด้านบนของหญิงสาว อ่านได้ประมาณว่า “..อันน..ป..ง..บาน..” ข้อความนี้ไม่สามารถแปลได้เนื่องจากตัวอักษรลบเลือนไปมาก

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
07/02/2558
RESOURCE TYPE:
จิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
จิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
ภาพจิตรกรรมที่เรียกได้ว่าเป็นของ “สกุลช่างน่าน” มีเอกลักษณ์เฉพาะตน ที่นำเอารูปแบบต่างๆทั้งศิลปะของไทลื้อ ศิลปะของทางรัตนโกสินทร์และศิลปะของพม่าแบบไทใหญ่ นำมาผสมผสานก่อให้เกิดรูปลักษณ์ที่เป็นของเฉพาะตนได้อย่างงดงาม มีรูปแบบคล้ายพบได้ที่วัดภูมินทร์ อำเภอมืองน่าน โดยมีการใช้สีจากธรรมชาติเป็นส่วนมากในการเขียน อาทิเช่น สีน้ำเงินจากคราม ที่เป็นสีหลักในการเขียนจิตรกรรม แต่เป็นที่น่าเสียดายที่จิตรกรรมเสียหายค่อนข้างมาก เนื่องจากน้ำฝนรั่ว ความชื้นจากดินด้านล่าง รวมถึงโดนน้ำท่วมมาด้วยกันหลายครั้ง
COVERAGE:
วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
02_29_20150207_MR_วัดหนองบัว_53
SUBJECT AGE:
ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 25
CATEGORY:
จิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
225×115 cm
DIGITAL SIZE:
25254×3760 Pixels

Loading