วัดหนองบัว ทิศใต้ช่องที่ 6-5-4(กัณฑ์ที่ 11)1.7

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพเขียนจิตรกรรมในกัณฑ์ที่ 11 กาวินทราชยุทธกัณฑ์ เขียนเล่าเรื่องบนฝาผนังระหว่างหน้าต่างช่องที่ 5 และ 6 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณลานหน้าปราสาทเมืองอนุราธบุรี 

ครั้นเมื่อทำยุทธหัตถีกัน มิมีผู้ใดเป็นฝ่ายแพ้และชนะ ไพร่พลต่างล้มตายเป็นอันมาก ทั้งสองทัพจึงทำการพักรบกัน ครั้นพระเจ้ากาวินทะแลเหล่ากษัตริย์น้อยใหญ่ ดำริอุบาย ร่ายมนต์กำบังบังตัว กำบังบังตา และลักเข้าไปในพระนคร ครั้นนั้นเจ้าจันทคาธเอาแก้วมณีทิพยเนตรส่องดูกษัตริย์เหล่านั้น จึงแจ้งแก่นางพรหมจารี ว่าพระเจ้ากาวินทะและเหล่ากษัตริย์น้อยใหญ่ร่ายมนต์บังตากำบังกายเข้ามาในพระนคร เจ้าจันทคาธจึงเอาน้ำจากแก้วมณีวิเศษทาที่พระเนตรของพระนางพรหมจารี และเหล่านักรบหญิงทั้งหลาย ด้วยอานุภาพของแก้วมณีพระนางและเหล่านักรบหญิง จึงเห็นกษัตริย์เหล่านั้น ทำแสร้งเป็นว่าไม่เห็น และเข้าจับกุมตัวเหล่ากษัตริย์น้อยใหญ่ไว้ได้ทั้งหมด กาลต่อมาพระนางพรหมจารีจึงปล่อยกษัตริย์น้อยใหญ่ เว้นแต่พระเจ้ากาวินทะ แล้วทรงบังคับให้พระเจ้ากาวินทะล้างพระบาท (เท้า)นางกษัตริย์ทั้งหลายเสีย แล้วให้ทรงรับปฏิญญาว่า จะต้องส่งทอง 16 โกฏิมาให้ทุกๆ ปี ในบริเวณนี้มีอักษรล้านนาเขียนกำกับอยู่ อักษรชุดบนอ่านได้ความว่า แปลได้ว่า “พระนางพรหมจารีจับพระเจ้ากาวินทะมัดไว้” และอักษรชุดล่างอ่านได้ความว่า “ขอเตอะเจ้า” แปลได้ว่า “ขอร้องเถอะ”  

ในภาพพระญากาวินทะทรงเครื่องแบบกษัตริย์ สวมกระบังหน้ามีกรรเจียก คือ เครื่องประดับหูมีรูปเป็นกระหนก ใช้ประกอบกับพระมหามงกุฎ พระชฎา หรือ รัดเกล้า และสวมกรองศอทับบนเสื้อแขนยาว มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน นุ่งสนับเพลา คือ กางเกงขายาวประมาณครึ่งแข้งมีผ้าห้อยหน้า หรือ ชายไหวระหว่างชายแครง มีแถบผ้าปลายงอนหุ้มปลายขากางเกงทั้ง 2 ข้าง นุ่งโจงทับ ปัจจุบันยังหมายถึงกางเกงด้วย ราชาศัพท์ใช้ว่า พระสนับเพลาไม่สวมรองเท้า  

ส่วนเหล่ากษัตริย์สวมเครื่องเเต่งกายแบบชายชาวบางกอกในยุคนั้น คือ สวมเสื้อแขนยาวนุ่งผ้ามีลวดลายหรือผ้าพื้นสีเรียบผืนเดียวเรียกว่านุ่งแบบ “นุ่งผ้าต้อย” หรือ “เค็ดม่าม” โดยจะม้วนผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมร หรือ โจงกระเบน เผยให้เห็นลายสักยันต์ตั้งแต่ท้องน้อยจนถึงหัวเข่าที่มีลวดลายสัตว์หิมพานต์ อันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชายชาวไทลื้อและไทยวนในแถบนี้ ไว้ผมทรงมหาดไทย ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว แต่ไม่ได้แสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพ และไม่สวมรองพระบาท

ส่วนพระนางพรหมจารีและเหล่านางกษัตริย์สวมเครื่องเเต่งกาย คือ นำผ้าแถบสีเรียบมาห่มแบบมัดอก นุ่ง “ซิ่นตีนจกคำ” หรือ ซิ่นตีนจกทองคำ เป็นซิ่นที่นิยมสวมใส่ในหมู่เจ้านายฝ่ายหญิงในล้านนา มีรูปแบบเฉพาะและเป็นเอกลักษณ์ของเมืองน่าน คือท้องซิ่นจะมีแนวขวางลำตัวที่ดูแล้วคล้ายกับซิ่นป้อง เป็นซิ่นที่มีรูปแบบพิเศษซึ่งเป็นซิ่นที่มีลายในแนวขวางลำตัว ดูแล้วคล้ายกับ “ซิ่นต๋า” ของหญิงชาวไทยวนในล้านนา ผ้าซิ่นป้องมีการตกแต่งผ้าซิ่นด้วยการทอกรรมวิธีต่างๆในแนวขวางลำตัวที่ค่อนข้างหลากหลาย ให้เกิดลวดลายเพิ่มเติม พบได้เฉพาะที่เมืองน่านเท่านั้น ในภาพน่าจะเป็นการตกแต่งการทอด้วยกรรมวิธี “การจก” ด้วยไหมหลากสี ด้านล่างต่อด้วย “ตีนจกคำ” คือตีนซิ่นที่ทอด้วยกรรมวิธีการจกและมีการสอดแทรกไหมทองคำ หรือ ไหมเงินลงไปเพื่อให้ดูมีค่ามากยิ่งขึ้น “ตีนจก” นี้เป็นตีนซิ่นที่นิยมกันในหญิงชาวไทยวนในล้านนา เเละยังมีโครงสร้างเดียวกับตีนจกของหญิงชาวไทยวนในล้านนา ทั้งนี้ตีนจกของเมืองน่านนั้นมีการใส่ลวดลายเฉพาะของตนลงไป ทำให้เกิดเป็นรูปแบบเฉพาะสามารถพบได้แต่เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น ส่วนบนศรีษะไว้ผมยาวมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง” ปักปิ่นทองคำ หรือ “ปิ่นคำ” ในภาษาล้านนา  มัดมวยด้วยสร้อยคำ หรือ สร้อยทอง เจาะหูใส่ลานหู คือ เครื่องประดับที่มีลักษณะเป็นแผ่นคล้ายใบลาน เป็นแผ่นเงิน หรือ ทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป เเละไม่สวมรองพระบาท

ส่วนเหล่านางกษัตริย์แต่งกายคล้ายกับพระนางพรหมจารี  คือ นำผ้าแถบสีเรียบมาห่มแบบมัดอก เพื่อให้ดูทะมัดทะแมงในเวลาออกรบ แต่นุ่งซิ่นเรียกว่า “ซิ่นป้อง” เป็นซิ่นที่มีลายในแนวขวางลำตัวดูแล้วคล้ายกับ “ซิ่นต๋า” ของหญิงชาวไทยวนในล้านนา และมีการตกแต่งด้วยกรรมวิธีการทอแบบต่างๆในเส้นแนวขวางลำตัวมากกว่าซิ่นต๋า เช่นที่ปรากฎในภาพจิตรกรรม เป็นกรรมวิธีการทอที่ในเมืองน่านเรียกว่า “มัดก่าน” หรือที่ทั่วไปเรียกว่ามัดหมี่ บนลายเส้นในแนวขวางลำตัวเพิ่มเติมอีกด้วย ซิ่นป้องถือเป็นผ้าซิ่นที่มีโครงสร้างชนิดพิเศษและมีเอกลักษณ์ สามารถพบได้แต่เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น ส่วนบนศรีษะไว้ผมยาวมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง” หรือ “ตั้งเกล้า” ประดับด้วยสร้อยคำ หรือ สร้อยทอง เจาะหูใส่ลานหู คือ เครื่องประดับที่มีลักษณะเป็นแผ่นคล้ายใบลาน เป็นแผ่นเงิน หรือ ทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป เเละไม่สวมรองพระบาท  สวมสร้อยและกำไลทองคำ และไม่สวมรองพระบาท

ส่วนภาพเหล่าทหารบริเวณด้านบนมีทหารที่น่าจะเป็นชาวไทลื้อ ที่ขณะจับเหล่ากษัตริย์ที่มากับพระญากาวินทะมัดอยู่ คือสวมเสื้อแขนยาวนุ่งผ้าพื้นสีเรียบผืนเดียวที่เรียกว่านุ่งแบบ “นุ่งผ้าต้อย” หรือ “เค็ดม่าม” โดยจะม้วนผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมรหรือ โจงกระเบน เผยให้เห็นลายสักยันต์ตั้งแต่ท้องน้อยจนถึงข้อเท้าที่มีลวดลายสัตว์หิมพานต์ อันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชายชาวไทลื้อและไทยวนในแถบนี้ ตัดผมสั้นนำผ้าขาวมาโพกหัวและไม่สวมรองเท้า

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
07/02/2558
RESOURCE TYPE:
จิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
จิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
COVERAGE:
วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
000
SUBJECT AGE:
CATEGORY:
จิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
17.29 x 3.4 เมตร(ขนาดรวมทั้งฝาผนัง)
DIGITAL SIZE:
15,200 x 9,400 Pixels