วัดหนองบัว ทิศใต้ช่องที่ 1-2-3(กัณฑ์ที่ 9)1.2

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพเขียนเรื่องราวในกัณฑ์ที่ 9 ตโยเสฏฐีธิตาเปสนกัณฑ์ บริเวณเหนือหน้าต่างช่องที่ 2 ในส่วนล่าง (ด้านซ้ายและบนเป็นเรื่องราวตอนกลางของกัณฑ์ที่ 9) เป็นเรื่องราวในตอนที่มีชาวบ้านมาร่วมกันทำบุญ หลังจากเจ้าจันทคาธปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย เเละพบขุมทรัพย์ จึงนำทองถวายทานแก่สมณพราหมณ์และยาจกวณิพพก 

ในภาพมีการเขียนภาพชาวเมืองนิมนต์พระภิกษุมาช่วยในการทำพิธีขับไล่ภูตผี ในบริเวณนี้มีภาษาล้านนาเขียนกำกับอยู่ที่บริเวณเหนือหญิงสองคนด้านซ้ายเหนือหน้าต่าง อ่านได้ความว่า “ไปฮอมตานเจ้าจันทคาด” แปลได้ว่า “ไปร่วมทำบุณกับเจ้าจันทคาธ” (ส่วนชุดอักษรล้านนาด้านซ้ายบน บริเวณผีเย็นทั้ง 2 ตนนั้น เป็นเรื่องราวของกัณฑ์ที่ 9 ส่วนกลาง) 

นอกจากนี้ช่างเขียนยังได้เขียนภาพของชาวเมืองที่กำลังทำกิจกรรมต่างๆเพื่อเฉลิมฉลองที่สามารถขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกไปจากเมือง เช่น การหุงหาอาหาร รวมทั้งภาพภาชนะต่างๆที่ใช้ประกอบการปรุงอาหาร เช่น กะทะขนาดใหญ่ กะทะขนาดปกติทั่วไป หรือ “หม้อขาง” ในภาษาล้านนา เเละหวดนึ่งข้าง เป็นต้น

ชายชาวเมืองในภาพเเต่งกายแบบชายชาวล้านนาทั่วไป คือ เปลือยอกนำผ้าแถบสีเรียบมาโพกที่ศีรษะ นุ่งผ้ามีลวดลายผืนเดียวเรียกว่านุ่งแบบ “นุ่งผ้าต้อย” หรือ “เค็ดม่าม” โดยจะม้วนผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมร หรือ โจงกระเบน เผยให้เห็นลายสักยันต์ตั้งแต่ท้องน้อยจนถึงหัวเข่าลวดลายสัตว์หิมพานต์ อันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชายชาวไทลื้อและไทยวนในแถบนี้ ไว้ทรงผมทรงมหาดไทย ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว แต่ไม่ได้แสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพ และไม่สวมรองเท้า 

ส่วนหญิงในภาพแต่งกายแบบหญิงในล้านนา คือ เปลือยอกนำและนำผ้าแถบสีเรียบมาห่มเฉียงแบบสไบ หรือ คล้องทิ้งชายไปด้านหลังเรียกว่า “สะหว้ายแหล้ง” หรือ “เบี่ยงบ้าย” จะเห็นได้ว่านางสนมกำนัลในภาพสวมใส่ผ้าซิ่นแบบต่างๆที่พบในเมืองน่านเท่านั้น เช่น นางสนมมคนแรก (คนขวาสุด) นุ่ง “ซิ่นป้อง” เป็นซิ่นที่มีรูปแบบพิเศษซึ่งเป็นซิ่นที่มีลายในแนวขวางลำตัว ดูแล้วคล้ายกับ “ซิ่นต๋า” ของหญิงชาวไทยวนในล้านนา ซิ่นป้องนี้มีการตกแต่งผ้าซิ่นด้วยการทอกรรมวิธีต่างๆในแนวขวางลำตัวที่ค่อนข้างหลากหลาย ทำให้เกิดลวดลายเพิ่มเติม พบได้เฉพาะที่เมืองน่านเท่านั้น ในภาพน่าจะเป็นการตกแต่งการทอด้วยกรรมวิธีหลายอย่าง แต่การตกแต่งที่เด่นชัด คือ การตกแต่งด้วยกรรมวิธีการทอที่เรียกว่า “ยกมุก” หรือทั่วไปเรียกว่า “ยกขิด”  ส่วนบนศรีษะไว้ผมยาว ทำผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง” ไว้กลางศีรษะ ที่หูใส่ “ลานหู” ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นบางๆคล้ายใบลาน ทำจากแผ่นเงิน หรือ ทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
07/02/2558
RESOURCE TYPE:
จิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
จิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
COVERAGE:
วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
000
SUBJECT AGE:
CATEGORY:
จิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
17.29 x 3.4 เมตร(ขนาดรวมทั้งฝาผนัง)
DIGITAL SIZE:
15,200 x 9,400 Pixels