วัดหนองบัว ทิศเหนือช่องที่ 5(กัณฑ์ที่ 4 ตอนกลางและตอนท้าย)1.0

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพเขียนจิตรกรรม กัณฑ์ที่ 4 ภริยลภนกัณฑ์ (ตอนกลางและตอนท้าย) บริเวณฝาผนังทิศเหนือ

บริเวณเหนือประตูทางออกฝั่งทิศเหนือ บนผนังระหว่างประตูกับหน้าต่างช่องที่ 4 และเหนือหน้าต่างช่องที่ 4 เขียนภาพที่มีเรื่องราวต่อจากช่องที่ 7 ซึ่งอยู่บริเวณด้านท้ายสุดของผนัง เป็นเรื่องราวในกัณฑ์ที่ 4 ภริยลภนกัณฑ์ (ตอนต้น) 

ภาพเขียนบริเวณนี้เสียหายค่อนข้างมาก สืบเนื่องจากการบูรณะซ่อมเเซมวัด เกิดฝนตกส่งผลให้น้ำฝนตกลงมาใส่ภาพเขียนจิตรกรรม จนเกิดความเสียหาย ซึ่งเขียนเล่าเรื่องราวในช่วงตอนกลางและตอนท้ายของกัณฑ์ที่ 4 ภริยลภนกัณฑ์ โดยเรื่องราาวในช่องนี้เริ่มที่บริเวณเหนือประตูข้างวิหาร เป็นเรื่องราวในตอนที่สุริยคาธและจันทคาธเดินทางมาถึงเมืองกาสี ซึ่งเขียนต่อมาจากกัณฑ์ที่ 3 วนจรณกัณฑ์ 

ส่วนภาพเขียนบริเวณช่องที่ 4 เขียนเล่าเรื่องในตอนที่พระกุมารี สุชาตดึงสาถูกงูกัดจนเป็นเหตุให้สิ้นพระชนม์โดยช่างเขียนนำกลับมาเขียนไว้ที่บริเวณปราสาทเมืองกาสี นอกจากนี้ยังเขียนเรื่องราวหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณปราสาทของพระเจ้ากรุงกาสี โดยเรื่องราวในส่วนนี้ความเดิมมีอยู่ว่า พระราชธิดาพระนามว่า “สุชาตดึงสา” ครั้นเมื่อพระราชธิดาทรงเจริญวัยมีพระชนม์ได้ 16 ชันษา ทรงมีรูปพระโฉมปานประหนึ่งว่านางเทพอัปสร พระนางได้เสด็จไปพร้อมกับพระราชบิดา นิวัติอุทยาน และถูกงูเห่ากัดจนสิ้นพระชนม์ ครั้นนั้นพระเจ้ากรุงกาสีจึงรับสั่งให้นำพระศพกลับมายังเมืองกาสี 

ภาพเขียนบริเวณด้านบนปราสาทพระเจ้ากรุงกาสีนั้น เขียนเล่าเหตุการณ์ต่างๆออกเป็น 2 ตอน โดยตอนแรกเขียนเริ่มที่บริเวณฝั่งขวามือของปราสาท เป็นตอนที่อุกัษฐะเศรษฐีเข้าเฝ้าพระญาธรรมสุชาต เพื่อกราบทูลว่ามีผู้ที่สามารถรักษาพระธิดาให้ฟื้นคืนจากความตายได้ ครั้นได้ยินดังนั้นพระราชาจึงตรัสไปว่า “หากสามารถเยียวยาพระธิดาของเราได้เราจักยกราชสมบัติให้” 

ถัดมาเป็นภาพเขียนบริเวณฝั่งซ้ายมือของปราสาท เป็นเหตุการณ์ที่สุริยคาธใช้ทิพยโอสถรักษาพระราชกุมารีที่สิ้นพระชนม์ได้เดือนกว่าให้กลับฟื้นคืนจากความตาย ครั้นนั้น สุริยคาธสั่งให้เจ้าพนักงานนำกลุ่มเบ็ญจางคดนตรีมา ณ ที่นี้ และโปรดให้กั้นพระวิสูตรพระศพล้อมรอบพระราชธิดา แล้วสั่งไว้ว่า “ในเวลาข้าพระพุทธเจ้ากรอกพระโอสถจะเคาะกระดานให้อาณัติเป็นสัญญาณ แล้วให้เจ้าพนักงานประโคมดนตรีขึ้น” สุริยคาธจึงป้อนทิพยโอสถไป 3 รอบ ในเวลาถัดมาพระกุมารีก็ฟื้นคืนจากความตาย นำความปิติยินดีมาสู่พระบิดา เเละข้าราชบริพารทั้งหลายทั้งปวง 

กระนั้นเเล้วพระราชาจึงตรัสกับสุริยคาธว่า “ดูก่อนพ่อสุริยคาธ เรายกธิดาของเราคนนี้ให้เป็นบาทบริจาริกาของพ่อ” เมื่อได้ยินเช่นนั้นสุริยคาธจึงได้ปฎิเสธ แต่มิอาจทนการอ้อนวอนของพระนางสุชาตดึงสาได้ จึงได้เข้าพิธีอภิเศกกันในที่สุด ฝ่ายจันทคาธขณะพักอยู่ที่บ้านของอุกัษฐเศรษฐี เป็นที่รักที่พอใจของเศรษฐีมาก เมื่อประสงค์สิ่งใดๆก็ได้สิ่งนั้นๆตามประสงค์ 

ภาพเขียนบริเวณด้านล่างของจิตรกรรมช่องที่ 5 นี้ เป็นส่วนท้ายของกัณฑ์ที่ 4 ภริยลภนกัณฑ์ เขียนภาพกองเรือของเจ้าสุริยคาธและจันทคาธ เดินทางไปยังเมืองจัมปากนคร เพื่อไปเยี่ยมบิดาเเละมารดา

โดยเรื่องราวมีอยู่ว่า “ครั้นเมื่อขึ้นครองเป็นเจ้าเมืองกาสี กาลล่วงไป 3 ปี เจ้าสุริยคาธกุมารใคร่จะเห็นบิดาเเละมารดา ผู้พลัดพรากล่วงมา 10 ปี จึงสั่งให้หาจันทคาธแล้วตรัสว่า “ดูก่อนพ่อ เราทั้งสองไม่ทราบความตาย และความเป็นของบิดามารดาเลย ควรจะกลับไปเยี่ยมเยียนท่าน” เมื่อได้ยินเช่นนั้นจันทคาธจึงรับคำจากผู้เป็นเชษฐา เเล้วกลับไปแจ้งแก่อุกัษฐเศรษฐี 

ฝ่ายเจ้าสุริยคาธก็นำความมุ่งหมยไปกราบทูลพระสัสสุระ (พ่อตา) ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบถวายบังคมลาไปสู่จัมปากนคร เพื่อเยี่ยมเยียนบิดาเเละมารดา” เมื่อได้สดับรับฟังเช่นนั้นจึงได้อนุญาตดังประสงค์ 

ครั้นเมื่อจะออกเดินทางสองกุมารจึงปรึกษากันว่า หากเราเดินทางทางบกจักได้ทรัพย์ไปน้อย เราจักควรเดินทางไปทางเรือเห็นจักดีกว่า จึงรับสั่งให้จัดเรือใหญ่ และให้หาไม้ไผ่สดมาตัดเป็นปล้องๆเเล้วบรรจุเงินทองเเละเเก้วเเหวน เเล้วขนลงเรือ 

ภาพเขียนบริเวณช่องนี้ช่างเขียน เขียนภาพของชาวต่างชาติไว้ด้วยกันหลายจุด ส่วนใหญ่เป็นภาพเขียนชาวจีน พ่อค้าวานิช คนเดินเรือ ทั้งด้านบนและด้านล่าง เเละเรือในภาพน่าจะมีรูปแบบที่รับอิทธิพลมาจากเรือของชาวตะวันตกที่เดินเรืออยู่ในแม่น้ำโขง เป็นต้น

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
07/02/2558
RESOURCE TYPE:
จิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
จิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
COVERAGE:
วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
000
SUBJECT AGE:
CATEGORY:
จิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
17.29 x 3.4 เมตร(ขนาดรวมทั้งฝาผนัง)
DIGITAL SIZE:
15,200 x 9,400 Pixels