วัดหนองบัว ทิศเหนือช่องที่ 5(กัณฑ์ที่ 4 ตอนกลางและตอนท้าย)1.5

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพเขียนจิตรกรรมฝั่งขวาของปราสาทพระญาธรรมสุชาตในเมืองกาสี เป็นเหตุการณ์ที่สุริยคาธมาเข้าเฝ้าพระญาธรรมสุชาต ว่าตนสามารถรักษาพระธิดาให้ฟื้นคืนชีวิตได้ ครั้นก่อนหน้านั้นอุกัษฐะเศรษฐีได้เข้ากราบทูลพระญาธรรมสุชาตถึงบุรุษผู้มีบุญสามารถรักษาพระราชธิดาให้ฟื้นคืนจากความตายได้ ครั้นพระราชาสดับเช่นนั้น ก็โสมนัสยิ่ง จึงตรัสว่า “ถ้าบุตรของท่านเศรษฐีสามารถเยียวยาธิดาของเราได้ เราจักยกราชสมบัติให้” 

ภาพเขียนภายในปราสาท เขียนภาพพระญาธรรมสุชาต พระเจ้ากรุงกาสีเหล่าพระนางสุธรรมา พระมเหสี ขณะกำลังร่ำไห้กับการสิ้นพระชนม์ของพระธิดาที่ถูกงูกัดจนเป็นเหตุถึงแก่ความตาย 

พระญาธรรมสุชาต ทรงเครื่องแบบกษัตริย์ สวมกระบังหน้ามีกรรเจียกคือ เครื่องประดับหูมีรูปเป็นกระหนก ใช้ประกอบกับพระมหามงกุฎ พระชฎา หรือ รัดเกล้า และสวมกรองศอทับบนเสื้อแขนยาว มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน นุ่งสนับเพลา คือ กางเกงขายาวประมาณครึ่งแข้ง มีผ้าห้อยหน้า หรือ ชายไหวระหว่างชายแครง มีแถบผ้าปลายงอนหุ้มปลายขากางเกงทั้ง 2 ข้าง นุ่งโจงทับ ปัจจุบันยังหมายถึงกางเกงด้วย ในคำราชาศัพท์ใช้ว่า “พระสนับเพลา”

ส่วนพระนางสุธรรมา พระมเหสี ที่กำลังร่ำไห้หาพระธิดา บริเวณด้านข้างพระญาธรรมสุชาตนั้น แต่งกายรูปแบบคล้ายเจ้านายในเมืองน่านและล้านนาในสมัยนั้น คือ ด้านบนเปลือยอกและนำมาแถบมาห่มห้อยชายไปด้านหลัง นุ่ง “ซิ่นตีนจกคำ” แปลว่า “ซิ่นตีนจกทองคำ” เป็นซิ่นตีนจกคำในภาพเป็นซิ่นที่มีรูปแบบเฉพาะซึ่งถือรูปแบบผ้าซิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองน่าน คือ ท้องซิ่นจะมีแนวขวางลำตัวดูแล้วคล้ายกับซิ่นป้อง ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของผ้าซิ่นที่มีรูปแบบพิเศษ มีลายในแนวขวางลำตัว ดูแล้วคล้ายกับ “ซิ่นต๋า” ของหญิงชาวไทยวนในล้านนา มีการตกแต่งผ้าซิ่นด้วยกรรมวิธีการทอแบบต่างๆในแนวขวางลำตัวที่ค่อนข้างหลากหลาย เเล้วเกิดลวดลายเพิ่มขึ้น พบได้เฉพาะที่เมืองน่านเท่านั้น 

ในภาพน่าจะเป็นเทคนิคการทอที่ชาวเมืองน่านเรียกว่า “มัดก่าน” หรือที่ทั่วไปเรียกว่า “มัดหมี่” ส่วนของผ้าซิ่นด้านล่างต่อด้วย “ตีนจกคำ” คือ ตีนซิ่นที่ทอด้วยกรรมวิธีการจกและมีการสอดแทรกไหมทองคำ หรือไหมเงินลงไปเพื่อให้ดูมีค่ามากยิ่งขึ้น “ตีนจก”ซึ่งนิยมกันมากในหญิงชาวไทยวนในล้านนา นอกจากนี้ “ตีนจก” ของเมืองน่านยังมีโครงสร้างเดียวกับตีนจกของหญิงชาวไทยวนในล้านนา แต่ตีนจกของเมืองน่านจะมีการใส่ลวดลายเฉพาะลงไป ทำให้เกิดเป็นผ้าซิ่นตีนจกรูปแบบเฉพาะที่สามารถพบได้เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น 

พระนางสุธรรมา พระมเหสีทำผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง”ไว้กลางศีรษะปักปิ่นทองคำ หรือในล้านนาเรียกว่า “ปิ่นคำ”  มัดมวยด้วยสร้อยคำหรือสร้อยทอง เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆคล้ายแผ่นใบลาน ที่ทำจากแผ่นเงินหรือทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป สวมกำไลทองคำทั้งที่ข้อมือและต้นแขน และไม่สวมรองเท้า 

ส่วนสุริยคาธสวมเครื่องเเต่งกายแบบชาวบางกอกในยุคนั้นคือ ใส่เสื้อคอตั้งแขนยาวสีขาว นุ่งโจงกระเบนสีขาว นำผ้าสีแดงมาคาดเอว ไว้ทรงผมเรียกว่า “ทรงมหาดไทย” ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว แต่ไม่ได้แสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย ที่น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพ และไม่สวมรองเท้า 

ภาพเขียนบริเวณด้านหน้าปราสาทมีข้าวของวางอยู่หลากหลายอย่าง เช่น ขันหมากที่ทำจากเครื่องเขินปิดลายด้วยทองคำเปลว หรือ “ขันหมากคำ” ในภาษาล้านนา มีคณโฑดินเผา หรือ “น้ำต้น” ในภาษาล้านนา มีจอกเงินวางอยู่หลายชุด มีกระโถนทองเหลือง พานเงิน และโถลายครามศิลปะจีน เป็นต้น

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
07/02/2558
RESOURCE TYPE:
จิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
จิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
COVERAGE:
วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
000
SUBJECT AGE:
CATEGORY:
จิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
17.29 x 3.4 เมตร(ขนาดรวมทั้งฝาผนัง)
DIGITAL SIZE:
15,200 x 9,400 Pixels