ภาพพระบฏวัดป่าหัด ผืนที่ 1

Category:

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

จิตรกรรมภาพพระบฏบนกระดาษสาของวัดป่าหัดภาพนี้ ด้านหน้าเป็นภาพมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์ที่ 4 กัณฑ์วนปเวศน์ มีความว่า พระเวสสันดร พร้อมด้วยพระนางมัทรี และพระโอรสเสด็จดำเนินจาก พระนครสีพีด้วยความลำบากตลอดทาง ที่สุดก็ถึงเมืองเจตราชดังประสงค์ จึงแวะเข้าประทับพักพระกายอยู่ที่ศาลาหน้านคร ครั้นชาวนครเจตราชได้เห็น และทราบความจริงก็ตกใจรีบส่งข่าวสารกราบทูลกษัตริย์นครเจตราช ต่อนั้นบรรดากษัตริย์ขัตติยวงศ์ทั้งหมด ก็พากันเสด็จออกมาเฝ้าเยี่ยม และทูลเชิญพระเวสสันดรขอเสด็จขึ้นผ่านพระพาราเจตราช เป็นจอมมิ่งมงกุฎ มาตุลนคร เป็นปิ่นปกประชากรเกษมสุข มิให้ท้าวเธอเสด็จไปทนทุกข์ที่กลางดง อันข้าพระบาทจะขอรองบทบงสุ์บรมกษัตริย์ ครั้นพระองค์ได้ฟัง จึงตรัสบัญชาต่อว่า ซึ่งท่านจะมามอบเมืองเจตราช ให้แก่เราในครั้งนี้ เราก็มิได้มีพระทัยยินดีที่จะเสวยสิริสมบัติ ด้วยชาวเชตุดรเขาแค้นขัดให้เนรเทศ ท่ายจะมามอบนคเรศให้ครอบครองพระนครทั้งสองสิเป็นราชสัมพันธมิตร ก็จะเกิดกลวิปริตร้าวฉาน จากจารีตบุราณแต่ปางก่อน จะไม่สมัครสโมสรเสียประเพณี จะเกิดมหาโกลาหลเดือดร้อนทุกไพร่ฟ้าประชากรทั้งสองฝ่ายต่างจะมุ่งหมายประทุษกัน ก็จะเกิดมหาพิบัติภัยยันต์ไม่มีสุขเหตุด้วยเราผู้เดียว จะมานำทุกข์ให้ท่านทั้งปวง สมบัติอันใดในเมืองหลวงเจตราช ซึ่งท่านทั้งหลายมาอนุญาตยกให้ เราขอคืนถวายให้เสวยสุข ท่านจงอยู่นฤทุกข์อย่ามีภัย อันตัวเรานี้จะลาไปสู่วงกตจะทรงประพฤติพรหมพรตอิสีเพศ เชิญท่านช่วยแนะแนววิถีทุเรศให้เราจรไปยังวงกตสิงขรโน้นเถิดฯ

ที่สุดกษัตริย์เจตราชก็ให้ตกแต่งศาลาที่ประทับปิดบังด้วยม่านแล้ว ถวายอารักขาให้ดีที่สุด จนสว่างแล้วถวายพระกระยาหารให้เสวย ครั้นเสร็จแล้ว ทูลอัญเชิญไปยังประตูป่า ต้นทางที่จะไปยังเขาวงกตแล้วแนะนำมรรคาให้ทรงกำหนดหมายแล้วทรงตั้งเจตบุตรพรานไพร ให้เป็นพนักงานรักษาประตูป่าถวายอารักขาคุ้มภัยให้เป็นพิเศษด้วย

ต่อจากนั้น พระเวสสันดรและพระนางมัทรีก็อำลากษัตริย์เจตราชอุ้มพระโอรสดำเนินไปตามแนวทางที่กษัตริย์เมืองเจตราชถวายคำแนะนำไว้ทรงพบพรานเนื้อพรานได้ถวายเนื้อย่าง พระเวสสันดรได้ประทานปิ่นทองเป็นรางวัลแล้วเสด็จต่อไปจนถึงเขาวงกต พบศาลาอาศรมบทซึ่งพระวิษณุกรรม เทพบุตรมานิรมิตตามเทวบัญชาของท้าวอัมรินทร์เทวาธิราช ก็ทรงโสมนัสที่สุด ทั้งสี่กษัตริย์ก็ทรงผนวชเป็นฤาษี สำนักอยู่ในอาศรมนั้นเสวยสุขตามควรแก่ถิ่นฐานทรงดำรงชีพด้วยผลาซึ่งนางมัทรีเป็นพนักงานแสวงหารจำเนียงกาลนานถึง 7 เดือน โดยกำหนด

ในภาพพระเวสสันดรทรงเดินนำหน้าและทรงอุ้มชาลีไว้ ส่วนพระนางมัทรีทรงอุ้มกัณหาเดินตาม เข้าประตูป่าเพื่อเข้าสู่เขาวงกต พระเวสสันดรทรงเครื่องทรงแบบกษัตริย์ สวมกระบังหน้ามีกรรเจียกคือเครื่องประดับหูมีรูปเป็นกระหนก ใช้ประกอบกับพระมหามงกุฎ พระชฎา หรือรัดเกล้า และสวมกรองศอทับบนเสื้อแขนยาว มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน ด้านล่างเห็นเฉพาะบางส่วน ที่น่าจะนุ่งสนับเพลาคือกางเกงขายาวประมาณครึ่งแข้งมีผ้าห้อยหน้าหรือชายไหวระหว่างชายแครง มีแถบผ้าปลายงอนหุ้มปลายขากางเกงทั้ง 2 ข้าง นุ่งโจงทับ ปัจจุบันยังหมายถึงกางเกงด้วย ราชาศัพท์ใช้ว่า พระสนับเพลา ส่วนชาลีก็ทรงเครื่องคล้ายกับพระเวสสันดร

ส่วนพระนางมัทรีทรงแต่งกายแบบหญิงในราชสำนัก ที่น่าจะเป็นที่ช่างเขียนมีจินตนาการที่นำมาผสมผสาน กับการแต่งกายของหญิงในท้องถิ่นของเมืองปัวในยุคนั้นคือ ด้านบนเปลือยอก แต่สวมกรองศอ และกำไลต้นแขน นุ่งซิ่นที่เรียกว่า “ซิ่นเคิ้บ” เป็นซิ่นที่มีลักษณะเฉพาะที่สามารถพบได้ในแถบเมืองน่านเท่านั้น เป็นซิ่นที่มีแนวขวางลำตัวแบบ “ซิ่นต๋า” ของหญิงชาวไทยวน และ “ซิ่นเคื่อง” ของหญิงชาวไทลื้อ แต่“ซิ่นเคิ้บ” มีการออกแบบโครงสร้างใหม่และตกแต่งด้วยกรรมวิธีการทอหลากหลายวิธี ทำให้เป็นซิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน ในภาพน่าจะตกแต่งลวดลายด้วยกรรมวิธีหลากหลายกรรมวิธีตั้งแต่ กรรมวิธีการทอแบบ “ล้วง” ที่ทำให้เกิดลวดลายคล้ายคลื่นในช่วงกลางซิ่นสลับเป็นช่วงๆ ส่วนด้านล่างน่าจะเกิดจากกรรมวิธีการทอแบบขิด หรือที่ในเมืองน่านเรียกว่า “เก็บมุก ยกมุก หรือเก็บดอก” ทำผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง”ไว้กลางศีรษะ มัดมวยด้วยสร้อยคำหรือสร้อยทอง และไม่สวมรองเท้า ส่วนกัณหาก็นุ่ง “ซิ่นเคิ้บ” เช่นเดียวกัน

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
04/07/2565
RESOURCE TYPE:
ภาพเขียนจิตรกรรมบนกระดาษสา (พระบฏ)
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
ภาพเขียนจิตรกรรมบนกระดาษสา (พระบฏ)
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
COVERAGE:
วัดป่าหัด อำเภอปัว จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
000
SUBJECT AGE:
ปีพุทธศักราช 2406
CATEGORY:
ภาพเขียนจิตรกรรมบนกระดาษสา (พระบฏ)
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดป่าหัด อำเภอปัว จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
พระบฏทั้งผืน ขนาด 37.5 x 56 cm
DIGITAL SIZE:
12,500×15,000 Pixel