จิตรกรรมมุขทิศใต้

Category:

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:
ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังมุขด้านทิศใต้ ซึ่งเขียนบริเวณมุขสกัดทุกด้าน โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย บริเวณด้านบนของมุขด้านทิศใต้ เขียนภาพขนาดใหญ่เกือบเท่า หรือ เท่าคนจริง ภาพเขียนบริเวณผนังด้านบนส่วนกลาง เขียนภาพในพุทธประวัติ เป็นภาพของพระพุทธเจ้า ปางมารวิจัยอิริยาบถประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้ว มีพระสาวกซ้ายขวาด้านละ 2 องค์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับภาพเขียนบนฝาผนังของมุขทิศเหนือ ส่วนฝาผนังบริเวณด้านบนซ้าย ซึ่งเป็นฝั่งทิศตะวันออกของฝาผนังด้านนี้ บริเวณเสาด้านบนเขียนภาพนกเงือกไว้ 1 คู่ ถัดลงมาเป็นภาพพระภิกษุลักษณะกำลังสอนเด็กที่เตรียมตัวจะบวชเรียน ถัดไปเป็นภาพเขียนบริเวณด้านบนขวามือ ระหว่างเสาเเละผนังด้านบนฝั่งขวา หรือ ด้านตะวันตกของผนังด้านนี้ เป็นภาพพระภิกษุที่กำลังกำลังสอนเด็กชายที่เตรียมตัวจะบวชเรียน เเละยังเอ็ดเด็กชายทั้งสองที่กำลังเล่นกันอยู่ ทั้งนี้ในส่วนของภาพเขียนบริเวณด้านล่าง เป็นการเขียนภาพขนาดเล็กเพื่อให้ง่ายต่อการเล่าเรื่องและพิจารณาภาพในชาดกเรื่องคัทธนกุมารชาดก ซึ่งเขียนลำดับเรื่องราวเเละเหตุการณ์ต่างๆในชาดกจากเมืองต่างๆทีละเมือง ซึ่งภาพเขียนในมุขด้านทิศใต้นี้ เขียนภาพบนฝาผนังในส่วนต่างๆออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย

ภาพเขียนส่วนแรก คือ ภาพเขียนจิตรกรรมบริเวณฝาผนังด้านสกัดของมุขทิศใต้ ภาพเขียนบนฝาผนังด้านนี้จะมีความแตกต่างจากบนฝาผนังของมุขอื่นๆเล็กน้อย โดยช่างเขียนจะเขียนเล่าเรื่องราวของชาดกเรื่อง “คัทธนกุมารชาดก” จำนวน 2 ตอน โดยเขียนรวมไว้ที่ฝาผนังเดียวกัน คือ ภาพเขียนบริเวณช่วงล่าง เป็นเรื่องราวในตอนที่เจ้าคัทธณะกุมารเดินทางมาถึงเมืองจำปานคร และภาพเขียนบริเวณส่วนกลางของฝาผนัง บริเวณเหนือประตูทางเข้าพระวิหาร เขียนเล่าเรื่องราวในตอนจบของคัทธณะกุมารชาดก ซึ่งสันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะยังมีเรื่องราวอีกหลายส่วนที่ยังไม่ได้นำออกมาเขียน ดังนั้นเพื่อให้องค์ประกอบของเนื้อหาในชาดกมีความครบถ้วน ช่างเขียนจึงมีความจำเป็นที่ต้องเขียนรวมไว้บนฝาผนังของมุขทิศนี้ โดยเขียนภาพบนฝาผนังด้านสกัดแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ภาพเขียนส่วนแรก เป็นภาพเขียนบริเวณด้านล่างของฝาผนัง เขียนเล่าเรื่องราวในตอนที่เจ้าคัทธณะกุมารเดินทางมาถึงเมืองจำปานคร และได้ช่วยเหลือพญาเมืองจำปานคร เเละได้พบกับนางสีไว (พระชายาคนที่ 1) ครั้นเมื่อแรกมาถึงเเละมีโอรสร่วมกันคือ “คัทเนตร”   และได้อภิเษกกับพระนางสีดา (พระชายาคนที่ 2) พระธิดาในพญาเมืองจำปานคร เเละมีโอรสร่วมกันคือ “คัทธจัน” ซึ่งจะไปปรากฏในเรื่องราวตอนสุดท้ายของชาดกต่อไป 

ภาพเขียนส่วนที่สอง ในส่วนนี้ช่างเขียนได้เขียนข้ามไปเล่าเรื่องที่บริเวณฝาผนังฝั่งทิศตะวันออกของมุขด้านทิศใต้ กล่าวถึงข่าวลือถึงความงามของพระนางสีดา พระธิดาในพญาเมืองจำปานคร ผู้มีพระสิริโฉมงดงามประดุจดังนางอัปสร ข่าวเลื่องลือไปทั่วเเคว้นแดนดินต่างๆ กระทั่งข่าวลือมาถึงพระกรรณ (หู) ของพญาไม้ร้อยกอ เจ้าผู้ครองเมืองขวางทะบุรี (นครราศ) เเละพญาเกวียนร้อยเล่ม เจ้าผู้ครองเมืองชวาทวดี (หงสาอังวะ) จึงอยากจะได้พระนางสีดาไปถวายเป็นพระชายาของเจ้าคัทธนกุมาร ผู้เป็นนายของตน พญาทั้งสองจึงเตรียมกำลังพลเเละพากันยกทัพสู่เมืองจำปานคร ด้วยมิรู้ว่าพระนางสีดานั้นเป็นพระชายาของเจ้าคัทธนกุมารเเล้ว ครั้นเมื่อเจ้าคัทธณะกุมารทราบข่าวถึงการนำทัพเข้ามายังเมืองจำปานครของพญาไม้ร้อยกอและพญาเกวียนร้อยเล่ม จึงได้เข้าพบพญาทั้งสอง จึงได้เทศนาสั่งสอนเเละให้โอวาทแก่พญาทั้งสอง เเล้วรับสั่งให้จัดให้มีงานสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีพระนางสีดาเป็นมเหสีฝ่ายขวา เเละนางแก้วสีไวเป็นมเหสีฝ่ายซ้ายหลังจากนั้นก็ทรงปกครองบ้านเมืองให้สงบร่มเย็นเรื่อยมา

ถัดมาเป็นภาพเขียนในส่วนที่สาม บริเวณฝาผนังฝั่งทิศตะวันตกของมุขด้านทิศใต้ เขียนเล่าเรื่องราวในตอนที่เจ้าคัทธณะกุมารมีพระดำริจะเสด็จหัวเมืองเพื่อเยี่ยมเยียนพญาร้อยเอ็ด และทรงดำรัสสั่งสอนพระธรรมต่างๆจนเป็นที่ชื่นชมแก่พญาทั้งหลาย หลังจากทรงแสดงธรรมแล้ว จึง ออกเดินทางเข้าสู่ป่าหิมพานต์เพื่อตามหาช้างผู้เป็นบิดาตามความตั้งพระทัยเดิม นอกจากนี้ภาพเขียนบนฝาผนังด้านนี้ยังเขียนเหตุการณ์ในตอนที่เจ้าคัทธนกุมารขี่งาช้างวิเศษเหาะไปยังเมืองตักศิลา ตามคำเชิญของเจ้าเมืองตักศิลา เพื่อไปเทศนาธรรมะให้แก่เจ้าเมืองและชาวเมืองตักศิลา 

เเละภาพเขียนในส่วนสุดท้าย หรือ ส่วนที่สี่ บริเวณกลางผนัง โดยเริ่มจากฝั่งซ้ายมือ คือ ด้านตะวันออกช่วงกลางของฝาผนังด้านนี้ เป็นตอนที่เจ้าคัทธณะกุมารขี่งาช้างอันเป็นของวิเศษที่พระบิดามอบไว้ให้ ออกจากเมืองตักศิลาสู่เมืองจำปานคร ซึ่งเป็นเหตุการณ์ภายหลังจากเจ้าคัทธจันได้ช่วยเหลือพระบิดา จากกลอุบายของเจ้าเมืองตักศิลา ที่ต้องการของวิเศษจากเจ้าคัทธณะกุมาร ถัดมาเป็นภาพเขียนที่เล่าเรื่องต่อมาที่บริเวณเหนือประตูทางเข้า ซึ่งเป็นเหตุการณ์สุดท้ายของชาดกเรื่อง “คัทธณะกุมารชาดก” เป็นเรื่องราวในตอนที่สองพี่น้อง เจ้าคัทธเนตรเเละเจ้าคัทธจันสู้รบกัน เพื่อแย่งของวิเศษที่เจ้าคัทธนกุมาร ผู้เป็นพระบิดามอบให้เจ้าคัทธจัน ที่เมืองตักศิลาครั้นช่วยผู้เป็นพระบิดาจากกลอุบายของเจ้าเมืองตักศิลาที่ต้องการของวิเศษจากผู้เป็นพระบิดา เหตุการณ์นี้ร้อนถึงพระอินทร์ จึงรับสั่งให้พญาแถนลงมายุติการสู้รบของทั้งสองกุมาร จึงเสกลมกระดิ่งหลวงตัดคอทั้งสองกุมาร เจ้าคัทธเนตรคอขาดตาย ส่วนเจ้าคัทธจันเป็นผู้มีบุญจึงไม่ตาย พระอินทร์จึงรับสั่งให้พระวิสสุกรรมลงมารับเอาเจ้าคัทธจันกลับขึ้นมายังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ภายหลังจากการสู้รบกันของกุมารทั้งสองสิ้นสุดลง บ้านเมืองก็เข้าสู่ความสงบสุขนับเเต่นั้นเรื่อยมา โดยช่างเขียนได้เขียนเรื่องราวในส่วนท้ายของชาดก มาจบที่บริเวณช่วงกลางของเสาพระวิหารฝั่งขวาของมุขทิศใต้ 

นอกจากนี้บริเวณด้านข้างประตูทั้งสองข้าง ยังเขียนภาพบุคคลขนาดใหญ่บนผนังทั้งสองข้าง ประกอบด้วย ภาพเขียนฝั่งซ้ายมือเขียนภาพหญิงชาวเมืองน่านขนาดใหญ่ นั่งอยู่บนเก้าอี้หรือตั่งขนาดเล็ก ส่วนภาพเขียนบริเวณด้านขวามือ เขียนภาพชายชาวเมืองน่านขนาดใหญ่ เป็นต้น

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
07/02/2558
RESOURCE TYPE:
จิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
จิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
000
SUBJECT AGE:
CATEGORY:
จิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
11.43×6.82 เมตร(ขนาดรวมทั้งฝาผนัง)
DIGITAL SIZE:
62,342×20,703 Pixels