จิตรกรรมมุขทิศเหนือฝั่งตะวันตก 1.3

Category:

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพจิตรกรรมเริ่มเล่าเรื่อง “คัทธณะกุมารชาดก” ที่บริเวณเหนือหน้าต่างฝาผนังมุขทิศเหนือฝั่งตะวันตก เป็นเหตุการณ์ที่เกิดบริเวณบ้านของหญิงหม้ายที่เมืองศรีษะเกษ ผู้เป็นมารดาของคัทธณะกุมาร 

ในภาพเป็นเขียนหญิงหม้ายกำลังสอนหญิงสาวทอผ้า เบื้องหลังมีชายหนุ่มชาวเมืองสองคนกำลังยืนชมการทอผ้าของหญิงสาว ในบริเวณนี้มีอักษรล้านนากำกับอยู่ด้วยกันหลายชุด ประกอบด้วย ชุดอักษรล้านนาบริเวณหน้าชานเรือน อักษรชุดแรก อ่านได้ความว่า “อันนี้เปนบ้านเจ้าคท…ณธแล” แปลได้ความว่า “นี้คือบ้านเจ้าคัทธณะกุมาร” ถัดมาอ่านได้ความว่า “แม่ยิงขางบ้านมาเรียนทอฮูกกับแม่เจ้าคัทธณะแล” แปลได้ความว่า “แม่หญิงข้างบ้านมาเรียนทอผ้ากับแม่ของเจ้าคัทธนกุมาร”  ถัดมาเป็นชุดอักษรล้านนาบริเวณเหนือหญิงหม้ายอ่านได้ความว่า “ตาเหลิงนั้นหี้เติมเสียหน่อยราย” แปลได้ความว่า “ตรงลวดลายนั้นให้เติมสีเหลืองลงไปอีกหน่อย” ถัดมาเป็นชุดอักษรล้านนาบริเวณเหนือชายหนุ่มสองคน อ่านได้ความว่า “คอยย่านั้นทอฮุกดีใบ้หนอ” แปลได้ความว่า “รอดูว่าผ้าที่ทออกมานั้นว่าจะออกมาดีไหม” 

การเริ่มเล่าเรื่องคัทธณะกุมารชาดกด้วยการเล่าถึงหญิงหม้ายที่มีฝีมือในการทอผ้านั้น น่าจะเป็นนัยยะที่แสดงให้เห็นว่า คนเมืองน่านในยุคนั้นให้ความสำคัญกับการทอผ้า ซึ่งก่อให้เกิดรูปแบบของผ้าทอที่หลากหลาย เเละแตกต่างจากผ้าทอในกลุ่มล้านนาด้วยกัน 

เครื่องมือที่หญิงสาวชาวเมืองใช้ในการทอผ้าเรียกว่า “กี่” หรือ “หูก” ที่มีทวดทรงที่งดงามอ่อนช้อย มีการเเกะสลักลวดลายที่ฟืมทอผ้า รอกยกตะกอ หรือ เขาที่ทำหน้าที่ยกเส้นยืนรูปหงส์อย่างปราณีตงดงาม บริเวณด้านหลังห้อยตะกร้าเครื่องเขินสีแดงเรียกว่า “ส้า” ในภาษาล้านนา ใช้สำหรับไว้ใส่เส้นด้าย 

หญิงทั้งสองในภาพแต่งกายเป็นแบบสาวชาวไทยวนในล้านนา คือ เปลือยอก มีเพียงหญิงชาวเมืองที่กำลังทอผ้านำผ้าแถบสีเรียบมาห่มคล้องทิ้งชายไปด้านหลัง นุ่ง “ซิ่นป้อง” เป็นซิ่นแบบพิเศษรูปแบบหนึ่งของเมืองน่าน คือเป็นซิ่นที่มีลายในแนวขวางลำตัว มีรูปแบบโครงสร้างคล้ายกับ “ซิ่นต๋า” ของหญิงชาวไทยวนในล้านนา ผ้าซิ่นป้องมีการตกแต่งผ้าซิ่นด้วยการทอกรรมวิธีต่างๆที่ค่อนข้างหลากหลาย สามารถพบได้เฉพาะที่เมืองน่านเท่านั้น นับเป็นผ้าซิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตนอย่างหนึ่งของเมืองน่าน ไว้ผมยาวมุ่นมวยผม เรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง” ไว้กลางศีรษะ หญิงสาวมัดมวยด้วยสร้อยคำหรือสร้อยทอง เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นใบลาน แผ่นเงิน หรือทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป สวมกำไลทองคำ และไม่สวมรองเท้า 

ส่วนชายหนุ่มสองคนด้านหลัง แต่งกายคล้ายชาวไทยวนและไทลื้อในล้านนา คือ เปลือยอก ชายคนหน้านำผ้าที่ลวดลายมาคล้องคอห้อยชายไปด้านหลัง ส่วนชายอีกคนนำผ้าแถบที่มีลวดลายมาคลุมศีรษะ นุ่งผ้าลายดอกผืนเดียวที่เรียกว่านุ่งแบบ “นุ่งผ้าต้อย” หรือ“เค็ดม่าม” โดยจะม้วนผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมร หรือ โจงกระเบน เผยให้เห็นลายสักยันต์ตั้งแต่ท้องน้อยจนถึงหัวเข่า อันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชายชาวไทยวนและไทลื้อในแถบนี้ ฝ่ายชายคนหน้าไว้ทรงผมทรงมหาดไทย ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว แต่ไม่ได้แสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพ

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
07/02/2558
RESOURCE TYPE:
จิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
จิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
000
SUBJECT AGE:
CATEGORY:
จิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
11.43×6.82 เมตร(ขนาดรวมทั้งฝาผนัง)
DIGITAL SIZE:
57,451×19,360 Pixels