จิตรกรรมมุขทิศตะวันออก

Category:

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังวัดภูมินทร์มีลักษณะการเขียนภาพไว้บริเวณฝาผนังด้านสกัดของมุขสกัดทุกๆด้าน โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ภาพเขียนบริเวณด้านบนในมุขด้านทิศเหนือ เขียนภาพขนาดใหญ่เกือบเท่า หรือ เท่าคนจริง ประกอบด้วย ภาพเขียนบริเวณกึ่งกลางของผนัง เขียนภาพพระพุทธเจ้าปางมารวิชัย ประทับอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว บริเวณด้านข้างเขียนภาพพระสาวกอิริยาบถประนมมือ ประทับนั่งด้านละสององค์ นอกจากนี้ยังเขียนภาพประกอบทั้งซ้ายและขวาข้างละสองช่องภาพ โดยมีรายละเอียดภาพ ดังนี้

ภาพเขียนบริเวณฝั่งซ้าย เขียนภาพไว้ 2 ช่อง ประกอบด้วย ภาพเขียนช่องแรกบริเวณเสาวิหาร 

เขียนภาพชายผู้หนึ่ง สวมเครื่องแต่งกายอย่างชายผู้มีฐานะทางสังคม ถัดไปเป็นภาพเขียนบริเวณช่องซ้ายสุดเขียนภาพชายผู้หนึ่ง สวมเครื่องแต่งกายอย่างชายผู้มีฐานะทางสังคม

ส่วนภาพเขียนบริเวณฝั่งขวา เขียนภาพไว้ 2 ช่อง ประกอบด้วย ภาพเขียนช่องแรกบริเวณเสาวิหาร เขียนภาพนักพรต ถัดไปเป็นภาพเขียนบริเวณช่องขวาสุดเขียนภาพเสือขาว

ทั้งนี้ในส่วนของภาพเขียนบริเวณด้านล่าง เป็นการเขียนภาพขนาดเล็กเพื่อให้ง่ายต่อการเล่าเรื่องและพิจารณาภาพในชาดกเรื่องคัทธนกุมารชาดก ซึ่งเขียนลำดับเรื่องราวเเละเหตุการณ์ต่างๆในชาดกจากเมืองต่างๆทีละเมือง ซึ่งภาพเขียนในมุขด้านทิศตะวันออกนี้ เขียนภาพบนฝาผนังในส่วนต่างๆออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย

ภาพเขียนส่วนแรก คือ ภาพเขียนจิตรกรรมบริเวณฝาผนังมุขทิศตะวันออกด้านทิศเหนือ และฝาผนังด้านทิศเหนือของมุขทิศตะวันออก ภาพเขียนบริเวณนี้มีการเขียนเรื่องราวสลับกันไปมา โดยเริ่มที่ฝาผนังด้านทิศเหนือของมุขทิศตะวันออก เขียนเรื่องราวในตอนที่เจ้าคัทธณะกุมารเดินทางมาถึงเมืองขวางทะบุรี ครั้นมาถึงเมืองขวางทะบุรี ก็นึกประหลาดใจที่เมืองกลายเป็นเมืองร้าง จึงเดินเข้าไปสำรวจในเมือง จนมาพบกับนางกองสีที่ซ่อนอยู่ในกลองใบใหญ่ใบหนึ่ง จึงได้เข้าช่วยเหลือนาง เเล้วจึงได้ไตร่ถามถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น นางกองสีจึงเล่าเรื่องราวต่างๆอันเป็นเหตุให้เมืองกลายเป็นเมืองร้างแก่เจ้าคัทธณะกุมารฟัง ครั้นเมื่อสดับได้ดังนั้น จึงทราบว่าพญาขวางทะบุรี และชาวเมืองไม่อยู่ในศีลในธรรม จึงร้อนถึงพญาแถนที่คอยปกปักรักษาเมือง เเละเพื่อให้เกิดความสงบโดยเร็ว จึงส่งงูฟาง (งูชนิดหนึ่ง) จำนวนมากลงมาจากท้องฟ้า เข้ากัดกินผู้คน เเละทำลายเมืองจนกลายเป็นเมืองร้าง มีเพียงนางกองสี ผู้เป็นพระธิดาของเจ้าเมืองที่รอดชีวิต เนื่องจากนางถูกพระบิดาซ่อนเอาไว้ในกลอง 

จากนั้นจึงเขียนข้ามไปเล่าเรื่องที่ฝาผนังทิศตะวันออกด้านทิศเหนือ เขียนเรื่องราวในตอนที่เจ้าคัทธณะกุมารรับสั่งให้ชายไม้ร้อยกอและชายเกวียนร้อยเล่ม จัดหาฟืนมาก่อเป็นกองไฟกองใหญ่ เพื่อสร้างกลุ่มควันให้ลอยขึ้นไปถึงวิมานของพญาแถน ครั้นเมื่อเห็นกลุ่มควันพญาแถนจึงส่งงูร้ายลงมาอีกครั้ง เมื่อเห็นดังนั้นเจ้าคัทธนกุมารจึงใช้ไม้เท้าต้นชี้ตายปลายชี้เป็นปราบงูร้ายจนหมดสิ้น จากนั้นจึงเขียนเล่าเรื่องลงมาบริเวณด้านขวาล่างสุด บริเวณข้างหน้าต่าง เป็นภาพของงูฟางที่ตายเกลื่อนกลาด 

จากนั้นจึงเขียนกลับไปเล่าเรื่องที่บริเวณกลางภาพเหนือหน้าต่าง เป็นเรื่องราวในตอนที่เจ้าคัทธณะกุมารใช้ไม้เท้าต้นชี้ตายปลายชี้เป็น ชุบชีวิตเจ้าเมือง พระมเหสี เหล่าชาวเมือง เเละสัตว์เลี้ยงให้ฟื้นคืนจากความตาย โดยใช้ดีดพิณสามสายนำกระดูกของคนเเละสัตว์ทั้งหลายมากองรวมกัน แล้วใช้ไม้เท้าต้นชี้ตายปลายชี้เป็น ชี้ไปยังกองกระดูกนั้น ด้วยฤทธิ์อันวิเศษของใช้ไม้เท้าต้นชี้ตายปลายชี้ จึงทำให้เจ้าเมือง เหล่าชาวเมือง เเละสัตว์ต่างๆฟื้นคืนจากความตาย ครั้นความทราบถึงพญาแถนว่ามีพระโพธิสัตว์มาจุติยังโลกมนุษย์ จึงยุติการโจมตีเมืองขวางทะบุรี

จากนั้นเขียนเล่าเรื่องต่อไปยังข้างหน้าต่างฝั่งซ้ายมือ เป็นเรื่องราวภายหลังจากพญาขวางทะบุรีพระชายา และเหล่าชาวเมืองฟื้นคืนจากความตาย จึงพากันเดินเข้ามาถามนางกองสี ว่าบุรุษผู้นี้เป็นใครมากจากไหน นางกองสีจึงเเจ้งเเก่พระบิดาเเละเหล่าราษฏรว่า เขาคือผู้มีบุญ เป็นผู้ชุบชีวิตพระบิดา พระมารดา เเละเหล่าชาวเมืองน้อยใหญ่ให้ฟื้นคืนจากความตาย ครั้นเจ้าเมืองขวางทะบุรีได้ฟังดังนั้น จึงสำนึกในบุญคุณ จึงยกนางกองสีให้แก่เจ้าคัทธนกุมาร เเละแต่งตั้งชายไม้ร้อยกอและชายเกวียนร้อยเล่มเป็นอุปราชแสนเมือง มีข้าทาสบริวารมากมายรายล้อม บ้านเมืองสงบร่มเย็น ครั้นล่วงไปได้ 11 เดือน จึงหวนนึกถึงจุดหมายคือการตามหาบิดา จึงยกเมืองขวางทะบุรีให้กับชายไม้ร้อยกอ และให้นางกองสีเป็นคู่ครองเรือนต่อไป ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเมืองขึ้นใหม่ นามว่า “เมืองนครราศ” จากนั้นจึงเขียนเล่าเรื่องต่อไปที่ด้านขวามือของหน้าต่าง ของฝาผนังด้านเหนือ ของมุขทิศตะวันออก เขียนภาพชายไม้ร้อยกอและนางกองสีครองเมืองนครราศ

ส่วนที่สอง คือ ภาพเขียนจิตรกรรมบริเวณฝาผนังมุขทิศตะวันออกฝั่งทิศใต้ ภาพเขียนในฝั่งนี้เขียนเรื่องราวต่อมาจากจิตรกรรมฝั่งด้านเหนือ เป็นเรื่องราวของเจ้าคัทธณะกุมารที่ออกเดินทางเพื่อตามหาพระบิดา พร้อมกับชายเกวียนร้อยเล่ม ครั้นเวลาล่วงมาได้ 1 เดือน ก็มาถึงเมืองร้างเมืองหนึ่งชื่อ “เมืองชวาทวดีศรีมหานคร” เมื่อเข้าไปภายในเมืองก็พบว่าเมืองกลายเป็นเมืองร้างเช่นเดียวกับเมืองขวางทะบุรี จึงพากันเข้าไปสำรวจในท้องพระโรง ครั้นนั้นชายเกวียนร้อยเล่มนำเอาไม้มาเคาะตามเสาต่างๆในท้องพระโรง เมื่อมาถึงเสาต้นหนึ่งจึงนำไม้เคาะดู ก็ได้ยินเสียงร้องของหญิงสาวร้องเรียกจากภายในเสา จึงพากันเปิดเสาให้เป็นโพรง เเละพบกับหญิงสาวผู้หนึ่งนามว่า “นางคำสิง” หญิงสาวผู้นี้เป็นพระธิาของเจ้าเมืองชวาทวดีศรีมหานคร เจ้าคัทธณะกุมารจึงได้ไตร่ถามถึงเหตุอันเกิดเเก่เมืองชวาทวดีศรีมหานคร พระนางจึงได้เล่าเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นแก่เจ้าคัทธณะกุมารฟัง  ความว่า เมืองชวาทวดีนี้เป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์มาโดยตลอด หากแต่มีเคราะห์กรรมมาเยือน เมื่อเจ้าเมืองเสด็จประพาสเข้าป่า ได้ประทับพักผ่อนใต้ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง บนต้นไม้ต้นนั้นมีอีกาตัวหนึ่งเกาะอยู่ จึงได้ถ่ายมูลลงมาถูกพระบิดา พระองค์ทรงพิโรธเป็นอันมาก จึงสังหารอีกาตัวนั้นเสีย ไม่เพียงเท่านั้นพระบิดายังรับสั่งให้ชาวเมืองพากันฆ่าพวกแร้ง กา ที่พบเห็นให้สิ้นพระนคร กรรมอันเกิดเเต่คำสั่งของพระบิดาร้อนถึงพญาแถน จึงส่งนกรุ้ง นกแร้ง และหงส์ทองจำนวนมาก บินลงมาจิกกัดกินชาวเมืองเสียสิ้น เหลือเพียงนางผู้เดียวที่รอดชีวิต เพราะถูกพระบิดาและพระมารดานำนางมาซ่อนในโพรงเสาของท้องพระโรงนี้ 

ครั้นเจ้าคัทธณะกุมารได้ฟังดังนั้น จึงเกิดความเมตตาที่จะช่วยชาวเมืองชวาทวดี จึงสั่งให้ชายเกวียนร้อยเล่มก่อกองไฟเช่นเดียวกับเมืองขวางทะบุรี ครั้นเมื่อควันไฟลอยขึ้นไปบนท้องฟ้า ถึงที่ประทับของพญาเเถน พญาเเถนจึงส่งฝูงนกแร้ง นกรุ่ง และฝูงหงส์ทองลงมาทันที ครั้นเจ้าคัทธณะกุมารเห็นฝูงนกร้ายลงมาจากท้องฟ้า จึงนำไม้เท้าต้นชี้ตายปลายชี้เป็นสังหารนกแร้ง นกรุ่ง และหงส์ทองเสียสิ้น จากนั้นจึงใช้พิณสามสาย อันเป็นพิณวิเศษเรียกให้กองกระดูกชาวเมือง เเละเหล่าสัตว์ทั้งหลายมากองรวมกัน เเล้วใช้ไม้เท้าต้นชี้ตายปลายชี้เป็นชุบชีวิตชาวเมืองและเหล่าสัตว์เลี้ยงทั้งหลายให้ฟื้นคืนจากความตายเฉกเช่นเดียวกับชาวเมืองขวางทะบุรี ครั้นเมื่อชาวเมืองฟื้นจากความตายพญาชวาทวดีจึงยกเมืองและนางคำสิงแก่เจ้าคัทธณะกุมาร และแต่งตั้งให้ชายเกวียนร้อยเล่มเป็นอุปราชแสนเมือง ครั้นเวลาล่วงมาได้ 1 เดือน จึงคิดออกตามหาพระบิดา จึงยกเมืองชวาทวดีและนางคำสิงแก่ชายเกวียนร้อยเล่ม เเละตั้งชื่อเมืองขึ้นใหม่นามว่า “เมืองหงสาอังวะ”

ส่วนที่สาม คือ ภาพเขียนจิตรกรรมบริเวณฝาผนังด้านใต้ของมุขทิศตะวันออก เขียนเล่าเรื่องราวในส่วนต่อ หรือ อาจเป็นภาพเขียนที่เป็นตัวเชื่อมเรื่องราวจากภาพเขียนฝาผนังมุขทิศตะวันออก สู่เรื่องราวที่จะไปปรากฎต่อไปในจิตรกรรมฝาผนังมุขทิศใต้ ซึ่งภาพเขียนในฝาผนังนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 เหตุการณ์ คือ เหตุการณ์แรกบริเวณมุมซ้ายบน เป็นเหตุการณ์ในตอนที่เจ้าคัทธณะกุมารเหาะจากเมืองชวาทวดีสู่เมืองจำปานคร ถัดมาเป็นเหตุการณ์ที่สอง ซึ่งถือเป็นภาพเขียนส่วนใหญ่ในฝาผนังนี้ เขียนเรื่องราวของพญาไม้ร้อยกอและพญาเกวียนร้อยเล่ม ที่ยกทัพหมายจะไปชิงนางสีดา พระธิดาของเจ้าเมืองจำปานคร เพื่อนำไปถวายเป็นพระชายาของเจ้าคัทธณะกุมาร 

นอกจากนี้บริเวณด้านข้างประตูฝั่งซ้ายมือ ยังเขียนภาพสตรีชาวเมืองน่านขนาดใหญ่ ตามบันทึกอักษรล้านนาที่เขียนกำกับไว้บริเวณนั้น อ่านได้ความว่า “นางสีไว” นางผู้นี้เป็นพระชายาคนเเรกของเจ้าคัทธณะกุมาร ต่อมาได้มีบุตรร่วมกันนามว่า “คัทธเนตร” ซึ่งจะไปปรากฏบนฝาผนังด้านสกัดส่วนบนของมุขทิศใต้ต่อไป

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
07/02/2558
RESOURCE TYPE:
จิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
จิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
000
SUBJECT AGE:
CATEGORY:
จิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
11.43×6.82 เมตร(ขนาดรวมทั้งฝาผนัง)
DIGITAL SIZE:
76,603×25,593 Pixels