จิตรกรรมฝามุขทิศตะวันออกฝั่งด้านใต้ 1.1

Category:

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังมุขทิศตะวันออกฝั่งทิศใต้ ภาพเขียนในฝั่งนี้เขียนเรื่องราวต่อมาจากจิตรกรรมฝั่งด้านเหนือ เป็นเรื่องราวของเจ้าคัทธณะกุมารที่ออกเดินทางเพื่อตามหาพระบิดา พร้อมกับชายเกวียนร้อยเล่ม ครั้นเวลาล่วงมาได้ 1 เดือน ก็มาถึงเมืองร้างเมืองหนึ่งชื่อ “เมืองชวาทวดีศรีมหานคร” เมื่อเข้าไปภายในเมืองก็พบว่าเมืองกลายเป็นเมืองร้างเช่นเดียวกับเมืองขวางทะบุรี จึงพากันเข้าไปสำรวจในท้องพระโรง ครั้นนั้นชายเกวียนร้อยเล่มนำเอาไม้มาเคาะตามเสาต่างๆในท้องพระโรง เมื่อมาถึงเสาต้นหนึ่งจึงนำไม้เคาะดู ก็ได้ยินเสียงร้องของหญิงสาวร้องเรียกจากภายในเสา จึงพากันเปิดเสาให้เป็นโพรง เเละพบกับหญิงสาวผู้หนึ่งนามว่า “นางคำสิง” หญิงสาวผู้นี้เป็นพระธิาของเจ้าเมืองชวาทวดีศรีมหานคร เจ้าคัทธณะกุมารจึงได้ไตร่ถามถึงเหตุอันเกิดเเก่เมืองชวาทวดีศรีมหานคร พระนางจึงได้เล่าเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นแก่เจ้าคัทธณะกุมารฟัง  ความว่า เมืองชวาทวดีนี้เป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์มาโดยตลอด หากแต่มีเคราะห์กรรมมาเยือน เมื่อเจ้าเมืองเสด็จประพาสเข้าป่า ได้ประทับพักผ่อนใต้ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง บนต้นไม้ต้นนั้นมีอีกาตัวหนึ่งเกาะอยู่ จึงได้ถ่ายมูลลงมาถูกพระบิดา พระองค์ทรงพิโรธเป็นอันมาก จึงสังหารอีกาตัวนั้นเสีย ไม่เพียงเท่านั้นพระบิดายังรับสั่งให้ชาวเมืองพากันฆ่าพวกแร้ง กา ที่พบเห็นให้สิ้นพระนคร กรรมอันเกิดเเต่คำสั่งของพระบิดาร้อนถึงพญาแถน จึงส่งนกรุ้ง นกแร้ง และหงส์ทองจำนวนมาก บินลงมาจิกกัดกินชาวเมืองเสียสิ้น เหลือเพียงนางผู้เดียวที่รอดชีวิต เพราะถูกพระบิดาและพระมารดานำนางมาซ่อนในโพรงเสาของท้องพระโรงนี้ 

ครั้นเจ้าคัทธณะกุมารได้ฟังดังนั้น จึงเกิดความเมตตาที่จะช่วยชาวเมืองชวาทวดี จึงสั่งให้ชายเกวียนร้อยเล่มก่อกองไฟเช่นเดียวกับเมืองขวางทะบุรี ครั้นเมื่อควันไฟลอยขึ้นไปบนท้องฟ้า ถึงที่ประทับของพญาเเถน พญาเเถนจึงส่งฝูงนกแร้ง นกรุ่ง และฝูงหงส์ทองลงมาทันที ครั้นเจ้าคัทธณะกุมารเห็นฝูงนกร้ายลงมาจากท้องฟ้า จึงนำไม้เท้าต้นชี้ตายปลายชี้เป็นสังหารนกแร้ง นกรุ่ง และหงส์ทองเสียสิ้น จากนั้นจึงใช้พิณสามสาย อันเป็นพิณวิเศษเรียกให้กองกระดูกชาวเมือง เเละเหล่าสัตว์ทั้งหลายมากองรวมกัน เเล้วใช้ไม้เท้าต้นชี้ตายปลายชี้เป็นชุบชีวิตชาวเมืองและเหล่าสัตว์เลี้ยงทั้งหลายให้ฟื้นคืนจากความตายเฉกเช่นเดียวกับชาวเมืองขวางทะบุรี ครั้นเมื่อชาวเมืองฟื้นจากความตายพญาชวาทวดีจึงยกเมืองและนางคำสิงแก่เจ้าคัทธณะกุมาร และแต่งตั้งให้ชายเกวียนร้อยเล่มเป็นอุปราชแสนเมือง ครั้นเวลาล่วงมาได้ 1 เดือน จึงคิดออกตามหาพระบิดา จึงยกเมืองชวาทวดีและนางคำสิงแก่ชายเกวียนร้อยเล่ม เเละตั้งชื่อเมืองขึ้นใหม่นามว่า “เมืองหงสาอังวะ”

ภาพเขียนในส่วนนี้เริ่มที่บริเวณเสาฝั่งซ้ายมือ เขียนเรื่องราวของเจ้าคัทธณะกุมารเเละชายเกวียนร้อยเล่มที่ออกเดินทางจากเมืองขวางทะบุรี ผ่านเข้าป่าแห่งหนึ่งก่อนเข้าเมืองชวาทวดี ถัดมาเป็นภาพเขียนที่เล่าเรื่องต่อมาจากฝั่งด้านขวาของประตู เขียนเรื่องราวในตอนที่เจ้าคัทธณะกุมารพบกับนางคำสิง พระธิดาของเจ้าเมืองชวาทวดี ที่ถูกพระบิดาและพระมารดานำมาซ่อนในโพรงเสาของท้องพระโรง 

ถัดมาเป็นภาพเขียนบริเวณช่วงกลางฝั่งขวาของผนัง เขียนเรื่องราวในตอนที่เจ้าคัทธณะกุมารใช้ไม้ต้นชี้ตายปลายชี้เป็นสังหารนกรุ้ง นกแร้ง และหงส์ทอง ที่บินลงมาจากท้องฟ้าเสียสิ้น ถัดลงมาที่บริเวณมุมขวาล่างเป็นภาพของกองซากศพของนกร้ายทั้งหลายที่ถูกเจ้าคัทธณะกุมารสังหาร ถัดมาเป็นภาพเขียนบริเวณด้านล่างของเสาและด้านข้างหน้าต่างฝั่งซ้าย เป็นเหตุการณ์ภายหลังจากพญาชวาทวดีฟื้นคืนจากความตาย จึงยกเมืองและนางคำสิงให้แก่เจ้าคัทธณะกุมาร และแต่งตั้งให้ชายเกวียนร้อยเล่มเป็นอุปราชแสนเมือง ส่วนบริเวณกลางเสาเขียนภาพปราสาท ด้านในมีเจ้าคัทธณะกุมารเเละนางคำสิงประทับอยู่ เบื้องหน้ามีเหล่าเสนาอมาตย์น้อยใหญ่เข้าเฝ้าอยู่ จากนั้นเขียนเล่าเรื่องต่อไปยังบริเวณข้างประตูฝั่งขวา เป็นเรื่องราวในตอนที่เจ้าคัทธณะกุมารครองเมืองชวาทวดีได้ 1 เดือน ก็คิดที่จะออกตามหาพระบิดา จึงยกเมืองชวาทวดีและนางคำสิงให้ชายเกวียนร้อยเล่ม เเละตั้งชื่อเมืองขึ้นใหม่นามว่า “เมืองหงสาอังวะ”

ส่วนภาพเขียนบริเวณฝั่งซ้ายมือของประตู เขียนภาพหญิงสาวขนาดใหญ่ ชื่อว่านาง “สีไว” ผู้เป็นชายาของเจ้าคัทธณะกุมารที่เมืองจำปานคร ส่วนภาพเขียนเรื่องราวสุดท้ายในฝาผนังด้านนี้ อยู่บริเวณเหนือประตูฝั่งซ้าย เป็นเหตุการณ์ในตอนต่อของชาดกที่เขียนไว้บนฝาผนังด้านนี้ ซึ่งเป็นเรื่องราวในตอนที่พญาไม้ร้อยกอ ผู้ปกครองอยู่เมืองขวางทะบุรี (นครราศ) ได้ยกทัพไปยังเมืองจำปานครเพื่อหมายจะชิงนางสีดาไปถวายคัทธนกุมาร

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
07/02/2558
RESOURCE TYPE:
จิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
จิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
000
SUBJECT AGE:
CATEGORY:
จิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
11.43×6.82 เมตร(ขนาดรวมทั้งฝาผนัง)
DIGITAL SIZE:
76,603×25,593 Pixels