วัดหนองบัว ทิศใต้ช่องที่ 3-4(กัณฑ์ที่ 10)1.4

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพเขียนจิตรกรรมในกัณฑ์ที่ 10 พรหมจาริยาอภิสิญจนกัณฑ์ เล่าเหตุการณ์ตอนที่นางพรหมจารีตามหานางสุริยโยธา เมื่อนางได้พบกับนางสุริยโยธา จึงเล่าความที่ผ่านมาให้นางสุริยโยธาฟัง เเม้นจะติดตามบุรุษผู้พึ่งเคยพบ แต่เจ้าจันทคาธก็มิเคยคิดล่วงเกิน เมื่อสดับได้ดังนั้นนางสุริยโยธา จึงชื่นชมเจ้าจันทคาธเป็นยิ่งนัก 

กล่าวถึงนางสุริยโยธา นางผู้นี้ร่ำเรียนจนจบไตรเพท เป็นผู้สอนยุทธศิลปะและศัสตราศิลปะ แก่พวกเจ้านายในเมืองปัญจาลนคร 

ครั้นพระนางพรหมจารี จึงขอเล่าเรียนยุทธศิลปะและศัสตราศิลปะจากนางสุริยโยธา โดยจะต้องให้ค่าตอบแทนเป็นทองคำพันลิ่มเป็นค่าครู นางจึงขอเจ้าจันทคาธความว่า “ขอท่านจงช่วยสงเคราะห์ทีเถิด” เมื่อเจ้าจันทคาธทรงทราบความดังนั้นแล้ว จึงเอาแก้ววิเสษส่องดู ก็แลเห็นขุมทองแห่งหนึ่งมีประมาณแสนลิ่ม จึงลุกขึ้นไปขุดหยิบเอาทองนั้นมาให้แก่นางพรหมจารี นางจึงรับเอาทองนั้นไปให้นางสุริยโยธาเพื่อเล่าเรียนศิลปวิทยาเป็นระยะเวลาอยู่เดือนหนึ่ง ในบริเวณนี้มีภาษาล้านนาเขียนกำกับอยู่ บริเวณด้านขวามือล่างอ่านได้ความว่า “.เจ้าจันทคาดนั่ง” ด้านขวามือด้านบนอ่านได้ความว่า “เจ้าจันทคาดขุดฆำหื้อนางพรมมจาลีไปเรียนสาด…กับญ่าสู…เญาคา…” น่าจะแปลได้ประมาณว่า “เจ้าจันทคาธไปขุดทองให้พระนางพรหมจารี เพื่อเป็นค่าเรียนศาสตร์กับนางสุริยโยธา” และชุดอักษรล้านนาบริเวณชานหน้าบ้านอ่านได้ความว่า “นางพรมมจาลี”  

เจ้าจันทคาธสวมเครื่องเเต่งกายแบบชายชาวบางกอกในยุคนั้น คือ สวมเสื้อคอตั้งแขนยาวนุ่งโจงกระเบนพร้อมผ้าคาดเอว ไว้ผมทรงมหาดไทย ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว แต่ไม่ได้แสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพ และไม่สวมรองพระบาท

พระนางพรหมจารีแต่งกายแบบหญิงในราชสำนักล้านนา คือ นำผ้าแถบสีเรียบมาห่มคล้องทิ้งชายไปด้านหลัง ใส่สร้อยสังวาลย์ทองคำฝังทับทิมไขว้ที่อกห้อยชายสังวาลย์ไปด้านหลัง สวมกำไลทองคำฝังทับทิมทั้งสองแขน นุ่งซิ่นตีนจกแต่เป็นซิ่นตีนจกที่ทอจากฝ้าย สามารถพบเห็นหญิงชาวไทยวนสวมใส่กันทั่วไปทั้งในเมืองน่านและล้านนา ตีนจกของเมืองน่านนี้มีการใส่ลวดลายเฉพาะของตนลงไป ทำให้เกิดเป็นรูปแบบเฉพาะของซิ่นตีนจกของเมืองน่าน ที่สามารถพบได้แต่เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น ส่วนท้องซิ่นจะมีแนวขวางลำตัวที่ดูแล้วคล้ายกับซิ่นป้อง เป็นซิ่นที่มีรูปแบบพิเศษ ซึ่งเป็นซิ่นที่มีลายในแนวขวางลำตัว ดูแล้วคล้ายกับ “ซิ่นต๋า” ของหญิงชาวไทยวนในล้านนา ผ้าซิ่นป้องจะมีการตกแต่งผ้าซิ่นด้วยการทอด้วยกรรมวิธีต่างๆในแนวขวางลำตัวที่ค่อนข้างหลากหลาย ทำให้เกิดลวดลายเพิ่มเติมขึ้น ผ้าซิ่นที่ปรากฏในภาพน่าจะเป็นการตกแต่งการทอด้วยกรรมวิธีหลายอย่างเรียกว่า “ยกมุก” หรือที่ทั่วไปเรียกว่า “ยกขิด” หรืออาจจะเป็นการทอด้วยกรรมวธีที่เรียกว่า “จก” ก็อาจจะเป็นไปได้ ซิ่นป้องถือเป็นผ้าซิ่นที่มีโครงสร้างชนิดพิเศษและมีเอกลักษณ์ สามารถพบได้แต่เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น ส่วนบนศรีษะไว้ผมยาว เกล้าผมแบบที่เรียกว่า “วิดว้อง” กลางศีรษะปักปิ่นทองคำ หรือในล้านนาเรียกว่า “ปิ่นคำ” มัดมวยด้วยสร้อยคำหรือสร้อยทอง สวมกำไลทองคำ เจาะหูใส่ลานหู คือ เครื่องประดับที่มีลักษณะเป็นแผ่นคล้ายใบลาน เป็นแผ่นเงิน หรือ ทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป 

ส่วนนางสุริยโยธาแต่งกายแบบหญิงในล้านนา คือ เปลือยอกนำผ้าแถบสีเรียบมาห่มคลุมไหล่ นุ่ง “ซิ่นป้อง” เป็นซิ่นที่มีรูปแบบพิเศษซึ่งเป็นซิ่นที่มีลายในแนวขวางลำตัว ดูแล้วคล้ายกับ “ซิ่นต๋า” ของหญิงชาวไทยวนในล้านนา ผ้าซิ่นป้องมีการตกแต่งผ้าซิ่นด้วยการทอกรรมวิธีต่างๆในแนวขวางลำตัวที่ค่อนข้างหลากหลาย ให้เกิดลวดลายเพิ่มเติม ซิ่นป้องถือเป็นผ้าซิ่นที่มีโครงสร้างชนิดพิเศษและมีเอกลักษณ์ สามารถพบได้แต่เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น ส่วนบนศรีษะไว้ผมยาว มุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง” ไว้กลางศีรษะ เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นคล้ายใบลาน เป็นแผ่นเงินหรือทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป และไม่สวมรองเท้า

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
07/02/2558
RESOURCE TYPE:
จิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
จิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
COVERAGE:
วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
000
SUBJECT AGE:
CATEGORY:
จิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
17.29 x 3.4 เมตร(ขนาดรวมทั้งฝาผนัง)
DIGITAL SIZE:
15,200 x 9,400 Pixels