วัดหนองบัว ทิศใต้ช่องที่ 3-4(กัณฑ์ที่ 10)1.11

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพเขียนเรื่องราวที่เกิดขึ้นบริเวณด้านหน้าของปราสาทพระญาธรรมขันตี ณ เมืองอนุราธบุรี ซึ่งเป็นเรื่องราวในตอนท้ายของกัณฑ์ที่ 10 และตอนต้นของกัณฑ์ที่ 11 

ภาพเขียนบริเวณลานด้านหน้าปราสาท เขียนภาพพระนางพรหมจารีลักษณะหันไปเเล้วโบกมือปฎิเสธต่อคณะฑูตที่หมอบอยู่บริเวณด้านหน้าท้องพระโรง ซึ่งเป็นคณะฑูตของพระญากาวินทะที่เข้ามาสู่ขอพระนางพรหมจารีครั้งที่ 2 

ภายในปราสาทมีพระญาธรรมขันตีเเละพระมเหสีประทับอยู่ ในบริเวณนี้มีอักษรล้านนาเขียนกำกับไว้ด้วยกันหลายชุด อักษรล้านนาชุดเเรกบริเวณฝั่งด้านซ้าย (บริเวณรั้วด้านนอก) อ่านได้ความว่า “นางพรมมจาลีไปเมิงอณุราช..ม..กิ..มา..เ…”  แปลได้ประมาณว่า “พระนางพรหมจารีเดินทางไปเมืองอนุราธบุรี..ม..กิ..มา..เ…” ถัดมาเป็นชุดอักษรล้านนาบริเวณฝั่งด้านซ้าย (บริเวณด้านในรั้ว) อ่านได้ความว่า “พระยากาวินทะใช้เสนามาขอเอาพรมมจาลีหนี้แล…” แปลได้ว่า “พระญากาวินทะให้เสนาอมาตย์มาสู่ขอพระนางพรหมจารี…” ถัดมาบริเวณบนลานหน้าปราสาท (บริเวณหน้าเหล่าราชฑูต) อ่านได้ความว่า “พุ…วาแทวาต” ไม่สามารถแปลได้เนื่องจากข้อความไม่ครบ ถัดมาเป็นชุดอักษรบริเวณบนปราสาทด้านหน้า อ่านได้ความว่า “พระเจ้าธรรมขันตี” บริเวณกลางปราสาท อ่านได้ความว่า “จันท…เอาพรหมจาลี..พระญากิตติหนี้แล..” (เนื่องจากข้อความไม่ครบจึงมิสามารถแปลได้) และชุดอักษรบริเวณฝั่งขวามือด้านในปราสาท อ่านได้ความว่า “นางพรหมจาลี” แปลได้ว่า “พระนางพรหมจารี”

ในภาพพระญาธรรมขันตีและเจ้าจันทคาธทรงเครื่องแบบกษัตริย์ สวมกระบังหน้ามีกรรเจียก คือเครื่องประดับหูมีรูปเป็นกระหนก ใช้ประกอบกับพระมหามงกุฎ พระชฎา หรือ รัดเกล้า และสวมกรองศอทับบนเสื้อแขนยาว มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน นุ่งสนับเพลา คือ กางเกงขายาวประมาณครึ่งแข้งมีผ้าห้อยหน้า หรือ ชายไหวระหว่างชายแครง มีแถบผ้าปลายงอนหุ้มปลายขากางเกงทั้ง 2 ข้าง นุ่งโจงทับ ปัจจุบันยังหมายถึงกางเกงด้วย ราชาศัพท์ใช้ว่า พระสนับเพลา 

ฝ่ายพระมเหษีและพระนางพรหมจารีแต่งกายแบบหญิงในราชสำนักล้านนา  คือ นำผ้าแถบสีเรียบมาห่มคล้องทิ้งชายไปด้านหลัง ใส่สร้อยสังวาลย์ทองคำฝังทับทิมไขว้ที่อกห้อยชายสังวาลย์ไปด้านหลัง สวมกำไลทองคำฝังทับทิมทั้งสองแขน นุ่งซิ่นตีนจกแต่เป็นซิ่นตีนจกที่ทอจากฝ้าย สามารถพบเห็นหญิงชาวไทยวนสวมใส่กันทั่วไปทั้งในเมืองน่านและล้านนา ตีนจกของเมืองน่านนี้มีการใส่ลวดลายเฉพาะของตนลงไป ทำให้เกิดเป็นรูปแบบเฉพาะของซิ่นตีนจกของเมืองน่าน ที่สามารถพบได้แต่เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น ส่วนท้องซิ่นจะมีแนวขวางลำตัวที่ดูแล้วคล้ายกับซิ่นป้อง เป็นซิ่นที่มีรูปแบบพิเศษ ซึ่งเป็นซิ่นที่มีลายในแนวขวางลำตัว ดูแล้วคล้ายกับ “ซิ่นต๋า” ของหญิงชาวไทยวนในล้านนา ผ้าซิ่นป้องจะมีการตกแต่งผ้าซิ่นด้วยการทอด้วยกรรมวิธีต่างๆในแนวขวางลำตัวที่ค่อนข้างหลากหลาย ทำให้เกิดลวดลายเพิ่มเติมขึ้น ผ้าซิ่นที่ปรากฏในภาพน่าจะเป็นการตกแต่งการทอด้วยกรรมวิธีหลายอย่างเรียกว่า “ยกมุก” หรือที่ทั่วไปเรียกว่า “ยกขิด” หรืออาจจะเป็นการทอด้วยกรรมวธีที่เรียกว่า “จก” ก็อาจจะเป็นไปได้ ซิ่นป้องถือเป็นผ้าซิ่นที่มีโครงสร้างชนิดพิเศษและมีเอกลักษณ์ สามารถพบได้แต่เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น ส่วนบนศรีษะไว้ผมยาว เกล้าผมแบบที่เรียกว่า “วิดว้อง” กลางศีรษะปักปิ่นทองคำ หรือในล้านนาเรียกว่า “ปิ่นคำ” มัดมวยด้วยสร้อยคำ หรือ สร้อยทอง สวมกำไลทองคำ เจาะหูใส่ลานหู คือ เครื่องประดับที่มีลักษณะเป็นแผ่นคล้ายใบลาน เป็นแผ่นเงิน หรือ ทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป เเละไม่สวมรองพระบาท

ส่วนคณะราชฑูตบริเวณด้านหน้าปราสาท สวมเครื่องเเต่งกายที่น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากกรุงเทพ คือ สวมเสื้อแขนยาวนุ่งโจงกระเบนผ้าลายดอก ไว้ผมทรงมหาดไทย ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว แต่ไม่ได้แสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพ และไม่สวมรองเท้า 

ภาพเขียนบริเวณเบื้องหน้าพระญาธรรมขันตีที่เหล่าคณะฑูตนำมาบรรณาการนั้น มีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมสองใบ และพาน หรือ ขัน ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องเขินที่พบได้ทั่วไปในล้านนา

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
07/02/2558
RESOURCE TYPE:
จิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
จิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
COVERAGE:
วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
000
SUBJECT AGE:
CATEGORY:
จิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
17.29 x 3.4 เมตร(ขนาดรวมทั้งฝาผนัง)
DIGITAL SIZE:
15,200 x 9,400 Pixels