วัดหนองบัว ทิศตะวันออก(กัณฑ์ที่ 12)1.4

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพเขียนเจ้าจันทคาธมาพบพระนางเทวธิสังกาที่เรือนของนางปริสุทธี เรื่องราวในตอนนี้เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญในการเชื่อมโยงเรื่องราวในกัณฑ์ต่างๆเข้าไว้ด้วยกัน ประกอบด้วยกัณฑ์ที่ 5 เทวธิสังการลภนวิโยคกัณฑ์ ที่เขียนไว้บริเวณฝั่งซ้ายมือ ในตอนที่พระนางเทวธิสังกาเรืออัปปางเเล้วขึ้นฝั่งได้ นางจึงเดินมาพบกับนางปริสุทธี เเละภาพเขียนบริเวณฝั่งขวาล่างเป็นกัณฑ์ที่ 6 พรหมจาริกภัณฑ์ เป็นเรื่องราวในตอนที่พระนางเทวธิสังกาไปตักน้ำ ทำให้พระเจ้าสุทัสสนจักรทอดพระเนตรเห็นและทรงมีพระหฤทัยปฏิพัทธ์ใคร่อยากได้เป็นพระมเหสี จึงเป็นเหตุให้พระนางเทวธิสังกาหนีไปบวชชีเพื่อหนีพระเจ้าสุทัสสนจักร และเรื่องราวสุดท้ายที่บริเวณฝั่งขวาบน กัณฑ์ที่ 12 เทวธสังกาปริเยสนกัณฑ์ เป็นเหตุการณ์ตอนที่พระนางเทวธิสังกาทรงทราบว่าเจ้าจันทคาธ ผู้เป็นพระสวามีมาหา นางจึงสึกจากการเป็นชี เเล้วไปพบพระสวามีที่บ้านของนางปาริสุทธี นับว่าผู้เขียนมีความหลักแหลมที่สามารถผูกเรื่องราวต่างๆไว้ในบริเวณเดียวกันได้เป็นอย่างดี ให้ผู้ชมได้เกิดการตีความจึงจะสามารถเข้าใจได้ ตามหลักคำสอยอย่างหนึ่งในพุทธศาสนา หากเมื่อได้รับฟัง หรือ รับรู้สิ่งใดแล้ว จักต้องมีการวิเคราะห์ พิจารณาให้ถี่ถ้วน

เเละภาพเขียนบริเวณนี้ เป็นเรื่องราวในตอนที่เจ้าจันทคาธเสร็จศึกที่เมืองอนุราธนคร ในกัณฑ์ที่ 11 กาวินทราชยุทธกัณฑ์ ได้ทรงระลึกถึงพระนางเทวธิสังกาผู้เป็นพระมเหสี จึงเข้าเฝ้าพระเจ้าธรรมขันตีเพื่อทูลลา ออกไปตามหาพระนางเทสธสังกาผู้เป็นมเหสี แต่มิได้แจ้งแก่พระนางพรหมจารี จึงส่องแก้วทิพยเนตรดู เห็นภาวะของนางปริพพาชิกา เเล้วใส่รองเท้าแก้วเหาะไปยังอนูปมนคร เวลาเย็นก็มาถึงจึงแวะลงยังประเทศแห่งหนึ่งริมบ้านยายปะขาว เพื่อหยุดพักเหนื่อย เเล้วจึงเดินเข้าไปหายายปะขาวเเล้วจึงกล่าวว่า “ฉันเป็นคนเดินทางเหน็ดเหนื่อยมา จักขออาศัยพักที่นี่” ยายปะขาวจึงตอบว่า “เราเป็นคนจนอยู่ในกระท่อมน้อยนี้แต่ผู้เดียว” เจ้าจันทคาธจึงตรัสว่า “ฉันเป็นคนเดินทางอนาถาหาที่พึ่งพามิได้ เมื่อหายเหน็ดเหนื่อยแล้วก็จักไปต่อไป” ยายปะขาวจึงตอบว่า “เจ้าจงอยู่ตามอัธยาศัยเถิด” เจ้าจันทคาธผู้มีความกตัญญูรู้คุณจึงไม่นิ่งนอนใจ ช่วยทำการงานแทน ปฏิบัติอย่างกับเป็นมารดาของตน ยายก็เกิดความเอ็นดูรักใคร่ 

อยู่มาวันหนึ่งเจ้าจันทคาธเดินไปเห็นนางเทวธิสังกาเดินมาหายายปะขาว จึงคิดว่าถ้านางเห็นเราจักเกิดเรื่องอันตราย เราจะยังไม่ให้เห็น คิดแล้วเลี่ยงลงจากทางเดินเข้าป่าไป ฝ่ายพระนางเทวธิสังกาเมื่อมาถึงเรือนของยายปะขาว เหลือบเห็นผ้าและข้าวของของเจ้าจันทคาธก็จำได้ว่าเป็นของพระสวามีของตน จึงไต่ถามว่า “ยาย ใครมาที่นี่” ยายจึงตอบว่า “คนเรือแตกเดินทางมาถึงนี่มาขอพัก” พระนางเทวธิสังกาจึงเอ่ยถามว่า “ยายรู้จักชาติและโคตรของเขาหรือไม่” ยายตอบว่า “ไม่รู้จัก” พระนางเทวธิสังกาจึงเอ่ยถามว่า “ทำไมไม่ถามเขาดู” ยายตอบว่า “เราไม่ได้ถาม” พระนางเทวธิสังกาจึงเอ่ยกับยายปะขาวว่า “ถ้าเช่นนั้นขอยายจงถามนามและโคตรของเขาด้วย จักใคร่จะรู้”

ต่อมาเจ้าจันทคาธกลับมาจากป่า จึงอาบน้ำเเล้วเสวยอาหารเสร็จ แล้วจึงหยุดนั่งอยู่ ยายปะขาวจึงเข้ามาถามว่า “นี่พ่อเจ้าชื่อไร” เจ้าจันทคาธได้ยินดังนั้นก็รู้ว่านางเทวธิสังกาให้ถาม จึงตอบว่า “ชื่อจันทคาธ” พ่อมาจากไหน จากอินทปัตถ์นคร เหตุไรจึงมาคนเดียว เจ้าจันทคาธจึงเล่าเรื่องราวให้ฟังทั้งหมด

สองสามวันต่อมาพระนางเทวธิสังกากลับมาถามยายปะขาวถึงเรื่องบุรุษผู้ที่มาขออาศัยอยู่ที่เรือนของยายปะขาว จึงเอ่ยถามยายเเล้วได้คำตอยว่า บุรุษผู้นั้นมีชื่อว่าเจ้าจันทคาธ เมื่อได้ยินว่าบุรุษนั้นเป็นพระสวามีของตนจึงเอ่นกับยายปะขาวว่า “ฉันไม่สบายจักลาสึก” ครั้นเมื่อได้รับอนุญาตก็สึกมาเป็นฆราวาสดังเดิม แล้วจัดหาอาหารต่าง ๆไว้แก่ยาย แล้วจัดส่วนหนึ่งไว้เพื่อเจ้าจันทคาธ เสร็จก็เข้าไปภายในกระท่อม ครั้นเจ้าจันทคาธกลับมาจากป่า เห็นอาหารส่วนของตนก็รู้ว่าพระนางเทวธิสังกาสึก เเละเป็นผู้จัดไว้ให้บริโภค แล้วจึงขึ้นนอนบนที่นอน

ถึงเวลากลางคืน พระนางเทวธิสังกาลุกขึ้นจะออกไปข้างนอก ยายปะขาวจึงยึดนางไว้ห้ามปรามว่าอย่าออกไป สตรีไม่ควรไปหาบุรุษ ห้ามถึง 2 ครั้ง ครั้งที่ 3 เจ้าลืมไปเเล้วเสียว่าพระเจ้าสุทัสสนจักรทรงรับสั่งไว้ว่า หากเจ้าสึกออกจากชีจักตั้งเป็นมเหสี ฉะนั้นรออีกสองสามวันค่อยไป เมื่อพระนางได้ยินดังนั้นก็นิ่งเฉยอยู่ เเล้วยายปะขาวก็นอนหลับไป พระนางจึงลุกขึ้นค่อย ๆ เเล้วย่องไปหาพระโพธิสัตว์ กราบพระบาทแล้วรำพันต่างๆว่า “ดิฉันครองชีวิตไว้เพื่อท่าน” พระโพธิสัตว์จึงสวมกอดพรอดวาจาว่า “เราเที่ยวได้ตามหาเสียหลายประเทศมาที่นี่จึงได้รู้เรื่อง ว่าจะคอยดูเหตุการณ์ต่างๆอยู่สัก 7 วัน” ฝ่ายยายปะขาวเมื่อตื่นขึ้นไม่เห็นพระนาง จึงลุกออกมาตาม ได้ยินเสียงรำพันดังนั้น จึงคิดว่าหนุ่มสาวคู่นี้รักใคร่กันมานาน หากพระราชาทรงทราบเรื่องเข้า จักประหารชีวิตเราเสียเป็นเเน่ นางจึงโกรธเเละด่าว่าต่างๆว่าอีคนว่ายาก ไฉนจึงไปนั่งกอดกันอยู่เล่า ถ้าทรงทราบเข้าทั้งเจ้าและข้าจะต้องตาย พระนางเทวธสังกาจึงเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟังว่า ​“เจ้าจันทคาธและดิฉันเป็นสามีภรรยากัน เดินทางจากเมืองอินทปัตถ์ เพื่อไปเยี่ยมพระเชษฐายังนครกาสี เรือเกิดอัปปางจึงได้พลัดพรากจากกัน เเละมาพบกันเข้าบัดนี้จึงนั่งกอดรำพันกันอยู่ เมื่อได้ยินดังนั้นยายปะขาวจึงเอ่ยว่า “เราไม่รู้เรื่อง เจ้าจงงดโทษให้แก่เรา จงอายุยืนปราศจากโรคภัยเถิด”

ในภาพเรือนของยายปริสุทธีเป็นเรือนกาแลขนาดเล็ก ที่มีรูปแบบเป็นเรือนอาศัยทั่วไปของชาวไทยวนในล้านนา บริเวณนี้มีภาษาล้านนาเขียนกำกับอยู่ ประกอบด้วย ชุดตัวอักษรล้านนาบริเวณฝั่งขวาล่าง อ่านได้ความว่า “นางเทวธิสังกาไปตักน้ำ” ถัดมาเป็นชุดอักษรล้านนาบริเวณฝั่งขวาบน อ่านได้ความว่า “นางเทวธิสังกาไพบวชเป็นผ้าขาว รู้ว่าเจ้าจันทคาธมาลวดสึกมา” แปลได้ความว่า “นางเทวธิสังกาที่บวชเป็นแม่ชี เมื่อรู้ว่าเจ้าจันทคาธมาจึงรีบสึกออกมา” ถัดมาเป็นชุดอักษรล้านนาบริเวณฝั่งซ้ายด้านหน้าของเรือนอ่านได้ความว่า “นางเทวธิสังกามาอยู่กับญ่าปริสุทธี เจ้าจันทคาธมาจวบหนี้แล” แปลได้ความว่า “นางเทวธิสังมาอาศัยกับย่าปริสุทธิ และเจ้าจันทคาธได้มาพบที่นี้” ถัดมาเป็นชุดอักษรล้านนาที่อยู่ใต้หน้าต่างของเรือน ซึ่งเป็นคำพูดของย่าปริสุทธี อ่านได้ความว่า “เอาเแต๋เอาหื้อพอใจอ้าย เจ็บปานหื้อก็อดเอา” แปลได้ความว่า “ตามสบายเลยท่าน เจ็บแล้วก็สมควรอดทนไว้บ้าง”   

ในภาพเจ้าจันทคาธใส่เสื้อแขนยาวคอตั้งสีเข้ม สวมโจงกระเบนด้วยผ้าลายดอก ไว้ทรงผมทรงมหาดไทย ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว แต่ไม่ได้แสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพ และไม่สวมรองพระบาท

ส่วนพระนางเทวธิสังกามีการแต่งกายแบบหญิงทั่วไปในล้านนา คือ นำผ้าแถบสีเรียบมาห่มคล้องทิ้งชายไปด้านหลัง ใส่สร้อยสังวาลย์ทองคำฝังทับทิมไขว้ที่อกห้อยชายสังวาลย์ไปด้านหลัง สวมกำไลทองคำฝังทับทิมทั้งสองแขน นุ่งซิ่นตีนจกแต่เป็นซิ่นตีนจกที่ทอจากฝ้าย สามารถพบเห็นหญิงชาวไทยวนสวมใส่กันทั่วไปทั้งในเมืองน่านและล้านนา ตีนจกของเมืองน่านนี้มีการใส่ลวดลายเฉพาะของตนลงไป ทำให้เกิดเป็นรูปแบบเฉพาะของซิ่นตีนจกของเมืองน่าน ที่สามารถพบได้แต่เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น ส่วนท้องซิ่นจะมีแนวขวางลำตัวที่ดูแล้วคล้ายกับซิ่นป้อง เป็นซิ่นที่มีรูปแบบพิเศษ ซึ่งเป็นซิ่นที่มีลายในแนวขวางลำตัว ดูแล้วคล้ายกับ “ซิ่นต๋า” ของหญิงชาวไทยวนในล้านนา ผ้าซิ่นป้องจะมีการตกแต่งผ้าซิ่นด้วยการทอด้วยกรรมวิธีต่างๆในแนวขวางลำตัวที่ค่อนข้างหลากหลาย ทำให้เกิดลวดลายเพิ่มเติมขึ้น ผ้าซิ่นที่ปรากฏในภาพน่าจะเป็นการตกแต่งการทอด้วยกรรมวิธีหลายอย่าง เรียกว่า “มัดก่าน” หรือที่ทั่วไปเรียกว่า “มัดหมี่” ส่วนบนศรีษะนำผ้าแถบสีเรียบมาปิดศีรษะเพื่อบดบังศีรษะที่โกนมา ที่หูใส่ลานหูไว้ ลานหู คือ เครื่องประดับที่มีลักษณะเป็นแผ่นคล้ายใบลาน เป็นแผ่นเงิน หรือ ทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป เเละไม่สวมรองพระบาท

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
07/02/2558
RESOURCE TYPE:
จิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
จิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
COVERAGE:
วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
000
SUBJECT AGE:
CATEGORY:
จิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
17.29 x 3.4 เมตร(ขนาดรวมทั้งฝาผนัง)
DIGITAL SIZE:
15,200 x 9,400 Pixels