ภาพเขียนบนกระดาษ (ปั๊บสา) วัดหนองบัว – คู่ที่ 5 (ด้านหลัง)

SKU: DC_MR_02_29_20191008_MR29-02.1_16 Category:

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:
ภาพปั๊บสาวัดหนองบัวคู่ห้าด้านหลัง
ภาพลายเส้นในปั๊บสาคู่ห้าด้านหลังนี้จะวาดลงบนปั๊บสาด้วยกันสองคู่คือ 4 หน้า มีภาพลายเส้นฝั่งซ้ายมือเป็นภาพของนางมโนราห์โดนพรานบุญใช้บ่วงนาคโยนลงไปเป็นงูรัดเท้านางมโนราห์ไว้ และนำไปถวายพระสุธน เนื้อเรื่องเริ่มตั้งแต่นางเทพกินรี มเหสีท้าวทุมพร เจ้าเมืองกินรา พระมารดาของนางมโนราห์ฝันและโหรทำนายฝันว่านางมโนราห์ พระธิดาองค์ที่ 7 ซึ่งเป็นองค์สุดท้องกำลังเคราะห์ร้าย ห้ามไปเล่นน้ำที่สระ นางมโนราห์ไม่เชื่อฟัง นางเทพกินรีจึงยึดปีกหางมาเก็บไว้ แต่นางมโนราห์กับพี่ ๆ ก็ขโมยปีกหางมาได้ และพากันไปเล่นน้ำในสระ แม้นางมโนราห์จะระแวงภัยในตอนแรก แต่ในที่สุดก็ยอมถอดปีกถอดหาง ลงเล่นน้ำตามคำชวนของพี่ ๆ ฝ่ายพรานบุญซึ่งมาคอยซุ่มดูอยู่ ก็ใช้บ่วงนาคโยนลงไปเป็นงูรัดเท้านางมโนราห์ไว้ พี่ ๆ ทั้ง 6 นางไม่สามารถช่วยได้ จึงสวมปีกหางบินหนีกลับเมืองไปทูลเรื่องราวแก่พระบิดาและพระมารดา นางมโนราห์พยายามอ้อนวอนและหลอกล่อพรานบุญให้คืนปีกหางของนางแต่ก็ไม่สำเร็จ ต่อจากนั้นพรานบุญก็พานางไปถวายพระสุธน
นับว่าเป็นเรื่องแปลกที่เรื่องของมโนราห์จะมาปรากฎในเมืองน่าน เนื่องจากเรื่องมโนราห์เป็นเรื่องที่นิยมในแถบปักษ์ใต้และทางกรุงเทพ น่าจะเป็นที่ผู้วาดปั๊บสาฉบับนี้น่าจะได้เดินทางไปในแถบกรุงเทพหรือหัวเมืองทางใต้และได้นำมาวาดเก็บไว้ ซึ่งการวาดก็เป็นในรูปแบบของตนเองเพราะได้กลายเป็นมโนราห์ในแบบฉบับของเมืองน่าน เพราะสามารถดูได้จากการแต่งกายของมโนราห์คือกลับพบว่าท่อนล่างนุ่งผ้าซิ่นที่มีเพียงลายเส้นของหมึกสีดำในแนวขวางลำตัว ส่วนด้านบนสวมชฎายอดแหลมมีกรรเจียกคือเครื่องประดับหูมีรูปเป็นกระหนก ใช้ประกอบกับพระมหามงกุฎ พระชฎา หรือรัดเกล้า สวมเสื้อแขนยาวสวมทับด้วยกรองศอ มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน มีปีกอยู่กลางลำตัวมีหางขนาดใหญ่และไม่สวมรองเท้า
ส่วนพรานบุญอยู่ฝั่งขวาล่างเป็นภาพลายเส้น ในตอนที่พรานบุญใช้บ่วงนาคโยนลงไปเป็นงูรัดเท้านางมโนราห์ไว้ การแต่งกายของพรานบุญเป็นรูปแบบการแต่งกายของชายในล้านนาในอดีตคือไม่สวมเสื้อใว้ผมสั้น นุ่งผ้าพื้นสีเรียบผืนเดียวที่เรียกว่านุ่งแบบ “นุ่งผ้าต้อย”หรือ“เค็ดม่าม”โดยจะม้วนผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมรหรือโจงกระเบน 
 ส่วนฝั่งขวาบนเป็นภาพลายเส้นของนายพรานที่อยู่ในท่าทางออกล่าสัตว์ อยู่ในท่าถือปืนยาวล่ากระต่ายที่อยู่ด้านหน้า การวาดภาพในลักษณะนี้น่าจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงวิธีในการล่าสัตว์ในสมัยนั้น ที่มีปืนยาวของชาวตะวันตกได้แพร่หลายมีใช้งานในแถบนี้ ปืนยาวสันนิษฐานว่าเริ่มใช้ ครั้งแรกในประเทศไทยในสมัยอยุธยา ปืนยาวที่ใช้ในสมัยโบราณมีด้วยกันหลายชนิดที่ใช้กันแพร่หลาย ได้แก่ ปืนคาบชุด ปืนคาบศิลา และปืนนกสับ ทั้งสามชนิดนี้มีความแตกต่างตรงกลไกในการยิง “ปืนคาบชุด” เป็นอาวุธขั้นพื้นฐาน ผลิตขึ้นในยุโรปเมื่อประมาณ พ.ศ.1993 “ปืนคาบศิลา” ปืนชนิดนี้มีระบบติดไฟ และถูกพัฒนามาจากปืนคาบชุด ส่วน “ปืนนกสับ” เป็นปืนที่มีการ ปรับปรุงรูปแบบมาจากปืนคาบศิลา
การแต่งกายของพรานเป็นรูปแบบการแต่งกายของชายในล้านนาในอดีตคือไม่สวมเสื้อใว้ผมสั้นและมีการนำผ้าขาวมาโพกศีรษะ นุ่งผ้าพื้นสีเรียบผืนเดียวที่เรียกว่านุ่งแบบ “นุ่งผ้าต้อย”หรือ“เค็ดม่าม”โดยจะม้วนผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมรหรือโจงกระเบน
PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
07/02/2558
RESOURCE TYPE:
ปั๊บสา (คัมภีร์ธรรมล้านนา)
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
ปั๊บสา (คัมภีร์ธรรมล้านนา)
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
COVERAGE:
วัดหนองบัว อ.ท่าวังผา จ.น่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
DC_MR_02_29_20191008_MR29-02.1_16
SUBJECT AGE:
CATEGORY:
จิตรกรรมบนปั๊บสา (คัมภีธรรมล้านนา)
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
ORIGINAL SIZE:
85.5 x 140 cm
DIGITAL SIZE:
2998 x 4642 Pixels