จิตรกรรมทิศใต้ฝั่งตะวันตก 1.3

Category:

Description

Digital Data

TITLE:
น่าน
AUTHOR:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
KEYWORDS:
DESCRIPTION:

ภาพเขียนจิตรกรรมบริเวณช่วงบนข้างหน้าต่าง เขียนภาพเจ้าคัทธณะกุมารกับนางสีไว ในบริเวณนี้มีชุดอักษรล้านนาเขียนกำกับอยู่ อ่านได้ความว่า “เจ้าคัทธณะมาแอ่วหานางสีไวลูกเสรฏฐีนั้นแล” แปลว่า “เจ้าคัทธณะกุมารมาเที่ยวหา เพื่อเกี้ยวนางสีไว บุตรสาวของเศรษฐีเมืองจำปานคร เพื่อจะมาเป็นภรรยา” 

ในภาพเจ้าคัทธณะกุมารกำลังเกี้ยวนางสีไว ที่กำลังปั่นฝ้ายที่ชานเรือน ภายหลังเจ้าคัทธนกุมารเเละนางสีไวได้เข้าอภิเษกกัน เเละมีบุตรร่วมกันนามว่า “คัทธเนตร”

การปั่นฝ้ายนี้ถือเป็นกิจวัตรในยามค่ำคืนที่หญิงสาวในล้านนาจะปฎิบัติกันเป็นประจำ ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีที่ชายหนุ่มจะมาเกี้ยวสาว ซึ่งเจ้าคัทธณะได้ใช้โอกาสนี้เกี้ยวนางสีไวมาเป็นภรรยา 

เรือนอาศัยในภาพ เป็นเรือนที่พักอาศัยที่พบได้ในเมืองน่านในยุคนั้น คือ มีหลังคาทรงแหลม มีจั่วด้านหน้า มุงด้วยกระเบื้องดินเผา เรียกว่ากระเบื้อง “ดินขอ” ในภาษาล้านนา รอบเรือนมีกำแพงก่อด้วยอิฐล้อมรอบบริเวณบ้าน จะเห็นได้ว่าช่างเขียนได้เขียนภาพต้นมะพร้าว ซึ่งเป็นของหายากในดินเเดนเเถบนี้ที่จะต้องนำขึ้นมาจากภาคกลางเท่านั้น   

ในภาพเจ้าคัทธณะกุมารเเต่งกายอย่างกษัตริย์ คือ สวมเสื้อแขนยาว สวมกรองศอและอินทรธนูทับบนเสื้อ มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน นุ่งโจงกระเบนผ้าลายดอก ซึ่งน่าจะเป็นผ้าที่มาจากต่างประเทศ ไว้ผมทรงทรงมหาดไทย ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว แต่ไม่ได้แสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพ 

ส่วนนางสีไวแต่งกายอย่างหญิงในล้านนา คือ เปลือยอก มีผ้าสีเข้มคล้องคอไปด้านหลัง นุ่งซิ่นซิ่นป้อง คือ ผ้าซิ่นที่มีลายในแนวขวางลำตัว ดูแล้วคล้ายกับ “ซิ่นต๋า” ของหญิงชาวไทยวนในล้านนา มีการตกแต่งด้วยกรรมวิธีการทอในเส้นแนวขวางลำตัวมากกว่าซิ่นต๋า ซิ่นป้องถือเป็นผ้าซิ่นที่มีโครงสร้างชนิดพิเศษและมีเอกลักษณ์เฉพาะที่สามารถพบได้เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น ส่วนบนศรีษะทำผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง” เเล้วมัดมวยด้วยสร้อยคำ หรือ สร้อยทอง ที่หูใส่ลานหู คือ แผ่นใบลาน แผ่นเงิน หรือ ทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป ที่เเขนสวมกำไลทองคำ และไม่สวมรองเท้า

ที่ปั่นฝ้ายในภาพ ในเเถบล้านนาจะเรียกว่า “กวง” หรือ “เผี่ยน” หรือ “เพียน” ซึ่งจะเรียกเเตกต่างกันออกไปในเเต่ละพื้นที่ของทางภาคเหนือ เครื่องปั่นฝ้าย หรือ กรอไหม เป็นเครื่องมือที่อาศัยหลักเกณฑ์ในเรื่องของล้อและเพลา มีลักษณะกลมใหญ่กว่าหัวแม่มือเล็กน้อย มีรูตรงกลางสำหรับเสียบไม้ปั่นด้าย ต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้เครื่องปั่นฝ้าย หรือ ไน ลักษณะทั่วไปของไน จะเป็นวงกลม ติดตั้งอยู่ระหว่างขาสองอันที่ทำจากไม้เนื้อแข็ง และมีเหล็กสอดเป็นคันสำหรับหมุนวงล้อ ส่วนขาติดตั้งอยู่บนส่วนหัวของฐานที่ทำด้วยไม้ท่อนยาวประมาณ 30 นิ้ว โดยที่ส่วนปลาย   ของท่อนไม้จะมีเหล็กไนสอดอยู่กับขาตั้ง โดยโผล่เหล็กไนออกมา ไว้สำหรับเป็นที่สวมของหลอดไม้ไผ่ที่ทำเป็นที่กรอด้าย และระหว่างวงล้อจะมีสายพานทำด้วยเชือกโยงมาเพื่อหมุนเหล็กไน ดังนั้นเมื่อมีการหมุนวงล้อเหล็กไนก็จะหมุนไปด้วย 

ส่วนบริเวณด้านหลังของเจ้าคัทธนกุมาร เขียนภาพเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งไว้ ในล้านนาจะเรียกเรื่องดนตรีชนิดนี้ว่า “ปิน” หรือ “พิณ” คือเครื่องดนตรีประเภทเครื่องดีดสายคู่ แบ่งออกเป็นสายคู่บนและสาย              คู่ล่าง รวมทั้งสิ้น 4 สาย ให้เสียงทุ้ม นิยมใช้บรรเลงประกอบการขับซอ เป็นต้น

PUBLISHER:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
OTHER CONTRIBUTORS:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์
DATE:
07/02/2558
RESOURCE TYPE:
จิตรกรรมฝาผนัง
FORMAT:
Image/jpeg
RESOURCE IDENTIFIER:
คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหอภาพถ่ายล้านนา ในกำกับของกรรมการอำนวยการหอภาพถ่ายล้านนา
SOURCE:
จิตรกรรมฝาผนัง
LANGUAGE:
ไทย/อังกฤษ
RELATION:
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย
RIGHT MANAGEMENT:
หอภาพถ่ายล้านนา โดย มูลนิธิรองศาสตราจารย์ กันต์ พูนพิพัฒน์

Physical Data

COLLECTION NAME:
น่าน
IMAGE CODE:
000
SUBJECT AGE:
CATEGORY:
จิตรกรรมฝาผนัง
PROVENANCE:
ศาสตราจารย์กันต์ พูนพิพัฒน์
COVERAGE:
วัดภูมินทร์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน ภาคเหนือ ประเทศไทย view map
ORIGINAL SIZE:
11.43×6.82 เมตร(ขนาดรวมทั้งฝาผนัง)
DIGITAL SIZE:
62,342×20,703 Pixels