Description
Digital Data
ภาพเขียนเรื่องราวในตอนที่ก่ำก๋าดำ เข้ามาตอบปริศนาของนางเทพกัญญาและนางพิมพา โดยมีพระยาพาราณสีประทับในศาลา เบื้องหน้าศาลามีนางเทพกัญญาและนางพิมพากำลังสนทนาปริศนาปัญหาที่ตนถามจากก่ำก๋าดำ ในบริเวณนี้มีชุดอักษรล้านนาด้วยกันหลายชุด ประกอบด้วย ชุดอักษรชุดแรก (ในศาลา) อ่านได้ความว่า “พญาปาราณสี” แปลได้ว่า “พระเจ้าพาราณสี” ต่อมาเป็นชุดอักษรล้านนาบริเวณด้านหน้าศาลา ซึ่งลบเลือนไปมาก อ่านได้ความว่า “เจ้าก๋าดําแก้ปั๋ญหา 2 นางปี๋น้องแล” แปลได้ความว่า “เจ้ากาดําแก้ปริศนาคําถามของ 2 นางพี่น้อง” ถัดมาเป็นชุดอักษรอีกชุดอ่านได้ความว่า “สังมาดํา ลิ้นจ๊าดดําขนาดเดผ่อดู้” แปลได้ความว่า “ทําไมตัวดํา ลิ้นก็ดํามาก ดูซิ” พระยาพาราณสีทรงเครื่องแบบกษัตริย์ สวมกระบังหน้ามีกรรเจียก คือเครื่องประดับหูมีรูปเป็นกระหนก ใช้ประกอบกับพระมหามงกุฎ พระชฎา หรือรัดเกล้า และสวมกรองศอทับบนเสื้อแขนยาว มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน นุ่งสนับเพลา คือกางเกงขายาวประมาณครึ่งแข้งมีผ้าห้อยหน้า หรือชายไหวระหว่างชายแครง มีแถบผ้าปลายงอนหุ้มปลายขากางเกงทั้ง 2 ข้าง นุ่งโจงทับ ปัจจุบันยังหมายถึงกางเกงด้วย ราชาศัพท์ใช้ว่า พระสนับเพลา ส่วนนางเทพกัญญาและนางพิมพาแต่งกายแบบสตรีในราชสำนักในล้านนา คือ เปลือยอกมีการนำผ้าแถบสีเรียบและมีลวดลาย นำมาห่มคล้องคอห้อยชายไปด้านหลังปลายผ้าทอประดับด้วยคำ (ทองคำ) และห่มแบบที่เรียกว่า “สะหว้ายแหล้ง” หรือ “เบี่ยงบ้าย” นุ่งซิ่นต๋าคำจกคำ คือ ท้องซิ่นต๋าทอด้วยดิ้นคำ(ทองคำ) ตีนซิ่นต่อด้วยตีนจกคำที่ทอด้วยดิ้นคำ (ทองคำ) ไว้ผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง”ไว้กลางศีรษะมัดมวยด้วยสร้อยคำหรือสร้อยทอง เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นใบลาน แผ่นเงิน หรือทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป สวมสร้อยคอ กำไลข้อมือและกำไลข้อเท้าทองคำ และไม่สวมรองเท้า ส่วนก่ำก๋าดำ แต่งกายคล้ายกับชายชาวกรุงเทพ คือ สวมเสื้อผ้าพื้นเรียบคอตั้งแขนยาว นุ่งโจงกระเบนมีลวดลายไว้ผมทรงมหาดไทย ไม่สวมรองเท้า
ด้านหน้าปราสาทเขียนภาพเครื่องใช้ต่างๆซึ่งมีความคล้ายคลึงกับเครื่องใช้ในราชสำนักภาคเหนือ (ล้านนา) ประกอบด้วย ขันหมากคำ (ขันหมากที่ทำจากเครื่องเขินปิดด้วยทองคำเปลว) กระโถนคำ (กระโถนทองคำ) เครื่องทองน้อยทำจากทองคำ และคนโฑคำ (คนโฑทองคำ) เป็นต้น
Physical Data