Description
Digital Data
ภาพเขียนเรื่องราวในตอนจบของชาดกเรื่องก่ำก๋าดำ ในตอนที่พระเจ้าพรหมทัต (พระเจ้าจิตตราช) นางจันทะเทวี และเจ้าราชบัณฑิต (ก่ำก๋าดำ) ได้กลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้งภายหลังจากถูกใส่ความจากนางสิงคีและปาละกะเสนา จนท้าวพรมทัตขับไล่พระเทวีและพระกุมารออกจากเมืองไป ในบริเวณนี้มีชุดอักษรล้านนาเขียนกำกับอยู่ด้วยกันหลายชุด ประกอบด้วย ชุดอักษรบริเวณด้านบน (กลางภาพ) อ่านได้ความว่า “เมืองอันนี้แม่นเมืองพรหมตั๊ดตี้ป๋าลกะเสนาเมืองสนส่อพญาว่านางจั๋นต๊ะเตวีเล่นจ่าหญ้าม้าว่าอั้นลวดขับนางหนีไปอยู่กับเฒ่าแก่ 2 ผัวเมียนอกเวียงนางเตวีก็ไปผะสูติลูกออกดําเหมือนก๋าวันนั้นแล แม่นเมืองอันนี้แล” แปลได้ว่า “เมืองนี้คือเมืองพรหมทัต ที่ปาลกะเสนาได้ใส่ความต่อนางจันทะเทวี ให้พระพรหมทัตว่านางเป็นชู้กับคนเลี้ยงม้าจึงเนรเทศนางจันทะเทวีให้ไปอาศัยอยู่กับแม่เฒ่าที่นอกเมือง นางจันทะก็ได้ประสูติราชบุตรออกมามีผิวสีดําเหมือนกา คือเกิดเหตุที่เมืองอันนี้”
ถัดมาเป็นชุดอักษรบริเวณด้านหน้าปราสาท (อ่านจากซ้ายไปขวา) อ่านได้ความว่า “เจ้าราชปั๋ณฑิตตะ” แปลได้ว่า “เจ้าราชบัณฑิตหรือก่ำก๋าดำ” “นางจั๋นต๊ะเตวี” แปลได้ว่า “นางจันทะเทวี”และ “พญาพรหมตั๊ด” แปลได้ว่า”พระเจ้าพรหมทัต”
ถัดมาเป็นชุดอักษรบริเวณมุมระเบียงหน้าปราสาท อ่านได้ความว่า “เสนาตังแปด” แปลว่า “เสนาทั้ง 8 คน”
ถัดมาเป็นชุดอักษรบริเวณด้านบน (เหนือระเบียงปราสาท) อ่านได้ความว่า “กะฎุมพี” แปลว่า “ชนชั้นสูงทั้ง 6 คน”
ถัดมาเป็นชุดอักษรบริเวณด้านหน้าเหล่าชนชั้นสูง อ่านได้ความว่า “นั้นหันเล่าก๋าผ่อดู้สู” แปลได้ว่า “ดูนั้น เห็นไหม”
ภาพเขียนปราสาทมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบล้านนา คล้ายกับวัดในยุคนั้น คือ หลังคามีลักษณะปีกนกลดสองชั้น ประดับด้วยช่อฟ้าและปั้นลมเป็นรูปตัวนาคและตัวเหงา
พระเจ้าพรหมทัตและเจ้าราชบัณฑิต (ก่ำก๋าดำ) ทรงเครื่องแบบกษัตริย์สวมกระบังหน้า มีกรรเจียก คือเครื่องประดับหูมีรูปเป็นกระหนก ใช้ประกอบกับพระมหามงกุฎ พระชฎา หรือรัดเกล้า และสวมกรองศอทับบนเสื้อแขนยาว มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน นุ่งสนับเพลา คือกางเกงขายาวประมาณครึ่งแข้งมีผ้าห้อยหน้าหรือชายไหวระหว่างชายแครง มีแถบผ้าปลายงอนหุ้มปลายขากางเกงทั้ง 2 ข้าง นุ่งโจงทับ ปัจจุบันยังหมายถึงกางเกงด้วย ราชาศัพท์ใช้ว่า พระสนับเพลา ส่วนนางจันทะเทวีเเต่งกายแบบสตรีในราชสำนักในล้านนา คือ เปลือยอกมีการนำผ้าแถบสีเรียบ นำมาห่มคล้องคอห้อยชายทั้งสองไปด้านหลัง นุ่งซิ่นต๋าต่อด้วยจกคำคือ ตีนซิ่นต่อด้วยตีนจกคำที่ทอด้วยดิ้นคำ (ทองคำ) ไว้ผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง” ไว้กลางศีรษะมัดมวยด้วยสร้อยคำหรือสร้อยทอง เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นใบลาน แผ่นเงิน หรือทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป สวมสร้อยคอและกำไลทองคำ และไม่สวมรองเท้า ส่วนเหล่าเสนาอมาตย์สวมใส่เสื้อคอตั้งแขนยาว ไว้ผมทรงมหาดไทย ส่วนนางกำนัลแต่งกายแบบหญิงในล้านนาทั่วไป คือ เปลือยอกนุ่งซิ่นต๋า ไว้ผมมุ่นมวยที่เรียกว่าทรง “ตั้งเกล้า”
Physical Data