Description
Digital Data
ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังทิศตะวันออก (บริเวณฝั่งซ้าย) เขียนเรื่องราวหลังจากก่ำก๋าดำไปอ้อนวอนขอให้พระอินทร์ พระพรหม พระวิสสุกรรม เหล่าเทวดา นางฟ้า ฯลฯ ช่วย ครั้นเมื่อได้ยินคำขอของก่ำกาดำดังนั้น เหล่าเทวดาทั้งมวลต่างก็พากันแห่แหน ดีดสีตีเป่า สร้างบ้าน สร้างเมือง และนําเครื่องราชบริภัณฑ์ต่างๆ มาให้ก่ำก๋าดำ ในขณะเดียวกัน พระอินทร์ก็ได้เหาะไปยังเมืองมิถิลา อุ้มนางจันทเทวี ผู้เป็นแม่ของก่ำก๋าดำ ให้มาพบกันด้วยภาพเขียนบริเวณกลางภาพ เขียนภาพก่ำก๋าดำนั่งอยู่บนปราสาทที่พระอินทร์ พระพรหม พระวิสสุกรรม และเหล่าเทวดา นางฟ้าทั้งหลายทั้งปวง ช่วยกันเนรมิตปราสาทหลังงามให้ก่ำก๋าดำ ส่วนภาพเขียนบริเวณฝั่งซ้ายมือด้านบนของปราสาท มีชุดอักษรล้านนา อ่านได้ความว่า “พญาอินทร์เอานางจั๋นต๊ะเตวีมาหื้อเจ้าก๋าดําหนี้แล” แปลได้ความว่า “พระอินทร์นําเอานางจันทะเทวีมาให้เจ้ากาดําที่นี้” และชุดอักษรล้านนาตั้งแต่ด้านซ้ายของปราสาท ความว่า “มหาพรหม หรือพระพรหม” บริเวณในปราสาท เขียนว่า “เจ้ากาดำ” แปลว่า “ก่ำก๋าดำ” บริเวณข้างปราสาทด้านขวามือ เขียนว่า “พญาอินทร์ หรือ พระอินทร์” ถัดไปด้านขวาเขียนว่า “วิสุก๋รรม หรือ พระวิษณุกรรม” ถัดไปด้านขวา อ่านได้ความว่า “เวสสุวรรณ หรือ ท้าวเวสสุวรรณ” ถัดไปเขียนว่า “ยักษ์” และสุดท้าย เขียนว่า “พญาครุฑ” ส่วนบริเวณด้านล่าง (ด้านขวาของปราสาท) มีชุดอักษรล้านนาเขียนกำกับอยู่ด้วยกัน 2 ชุด ประกอบด้วย ชุดเเรกชุดอักษรบริเวณฝั่งซ้ายมือ อ่านได้ความว่า “สองคนนี้พญาปาราณสีใจ๊มาแล” แปลได้ว่า “สองคนนี้พระยาพาราณสีใช้มา” และชุดอักษรชุดที่สอง บริเวณฝั่งขวามือ อ่านได้ความว่า “พญานาค”
ภาพเขียนปราสาทเป็นปราสาทรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบล้านนาผสมพม่า มีลักษณะคล้ายกับธรรมาสน์ในพระวิหารของวัดในล้านนา
ก่ำก๋าดำแต่งกายคล้ายคลึงกับชายชาวกรุงเทพ คือ สวมเสื้อผ้าพื้นเรียบคอตั้งแขนยาว นุ่งโจงกระเบนมีลวดลาย ไว้ผมทรงมหาดไทย และไม่สวมรองเท้า ส่วนนางจันทะเทวีแต่งกายแบบสาวชาวไทยวนในล้านนา คือ เปลือยอกนำผ้าแถบสีเรียบมาห่มคล้องทิ้งชายไปด้านหลัง นุ่งซิ่นตีนจกคือซิ่นต๋าที่ต่อด้วยตีนจกคำ (ตีนจกใสดิ้นทองคำ) ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในราชสำนักล้านนา ไว้ผมมุ่นมวย เรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง” ไว้กลางศีรษะมัดมวยด้วยสร้อยคำหรือสร้อยทอง เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นใบลาน แผ่นเงิน หรือทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป สวมกำไลทองคำ และไม่สวมรองเท้า ส่วนพระอินทร์ พระพรหม พระวิสสุกรรม ยักษ์ พญาครุฑและพญานาค ทรงเครื่องแบบกษัตริย์ คือสวมกระบังหน้ามีกรรเจียก คือเครื่องประดับหูมีรูปเป็นกระหนก ใช้ประกอบกับพระมหามงกุฎ พระชฎา หรือรัดเกล้า และสวมกรองศอทับบนเสื้อแขนยาว มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน ด้านล่างบางองค์ นุ่งสนับเพลา คือกางเกงขายาวประมาณครึ่งแข้งมีผ้าห้อยหน้าหรือชายไหวระหว่างชายแครง ส่วนครุฑเเละพญานาคช่วงล่างยังคงเป็นครึ่งสัตว์ ส่วนชายสองคนด้านล่างแต่งกายแบบที่คล้ายกับชายชาวกรุงเทพ คือ สวมเสื้อผ้าพื้นเรียบคอตั้งแขนยาว นุ่งโจงกระเบนมีลวดลายไว้ผมทรงมหาดไทย และไม่สวมรองเท้า
Physical Data