Description
Digital Data
ภาพเขียนบริเวณด้านนอกกำแพง เขียนภาพบุรุษต่างๆยืนเรียงกันอยู่ 5 คน บุรุษคนซ้าย 3 คนแรก สัณนิษฐานว่าน่าจะเป็นชาวจีนที่มีการไว้หนวดแบบชายชาวจีน และสวมหมวกสาน ลักษณะคล้ายหมวกของชาวจีน ส่วนบุรุศ 2 คนฝั่งขวามือ น่าจะเป็นชาวพม่า มีรูปแบบการแต่งกายแบบชาวพม่า คือสวมเสื้อคอกลมด้านในสวมเสื้อคลุมแขนยาวตัวยาวทับด้านนอก นุ่งผ้าลุนตะยา-อเซะ ไว้หนวด และไว้ผมยาวโดยนำมาเกล้าไว้กลางศรีษะ บริเวณนี้มีอักษรล้านนาเขียนกำกับอยู่ อ่านได้ความว่า “ม่าน” ก็มี
ในส่วนของภาพเขียนบริเวณเหนือหน้าต่างช่องที่ 6 เป็นภาพเหตุการณ์ที่้เกิดขึ้นบริเวณด้านบน (ฝั่งขวาของพระเจ้าธรรมขันตี) สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นตอนที่เจ้าจันทคาธแจ้งความแก่พระนางพรหมจารี ถึงการลอบเข้ามาในพระนครของพระเจ้ากาวินทะและเหล่ากษัตริย์น้อยใหญ่ ซึ่งในบริเวณนี้มีอักษรล้านนาเขียนกำกับอยู่ บริเวณช่องกลางปราสาท อ่านได้ความว่า “….จันท..เอา..บ..พรหมจาลี…พระยาก…หนี้แล….” และบริเวณด้านขวาของปราสาท มีข้อความเขียนกำกับ อ่านได้ความว่า “นางพรหมจาลี”
ส่วนภาพเขียนบริเวณด้านบน (ลานด้านหน้าปราสาท) เขียนภาพเหล่านางกษัตริย์และทหาร สันนิษฐานว่าช่างเขียนน่าจะเขียนที่รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมของชาวไทลื้อ ขณะยืนกางขาและมองลงไปด้านล่าง ซึ่งภาพเขียนในบริเวณนี้ภาพส่วนใหญ่เลือนลางเป็นส่วนมาก จะเห็นแต่การแต่งกายของทหารชาวไทลื้อ คือสวมเสื้อแขนยาวนุ่งผ้าพื้นสีเรียบผืนเดียวที่เรียกว่านุ่งแบบ “นุ่งผ้าต้อย” หรือ “เค็ดม่าม” โดยจะม้วนผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมรหรือโจงกระเบน เผยให้เห็นลายสักยันต์ตั้งแต่ท้องน้อยจนถึงหัวเข่า ในล้านนาเรียกว่า “สักเตี่ยวก้อม” สักขาลาย นิยมสักเป็นลวดลายสัตว์หิมพานต์ อันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชายชาวไทลื้อและไทยวนในแถบนี้ และไว้ผมสั้นนิยมนำผ้าขาวมาโพกหัว และไม่สวมรองเท้า
ส่วนภาพเขียนบริเวณด้านบนลานด้านล่างเป็นเหตุการณ์ที่พระนางพรหมจารีและเหล่านักรบหญิง ได้รับอานุภาพจากแก้วมณีวิเศษ จึงสามารถเห็นเหล่ากษัตริย์ ที่ลอบเข้ามาในพระนคร เเละสามารถเข้าจับกุมตัวพระเจ้ากาวินทะและเหล่ากษัตริย์น้อยใหญ่ไว้ได้ทั้งหมด
ในบริเวณนี้มีอักษรล้านนากำกับอยู่ อักษรชุดบนอ่านได้ความว่า “นางพรมมจาลีมัดพระยากาวีนทะหนี้แล” และยังมีอักษรชุดล่างอ่านได้ความว่า “ขอเทอะเจ้า”
Physical Data