Description
Digital Data
เจ้าจันทคาธ: มิได้เป็น
เศรษฐี: นี่มิได้เป็นสามีของเจ้าดอกหรือ
ธิดา: เป็นแต่มิได้สมรสกัน
เศรษฐี: เพราะเหตุไร
ธิดา: เพราะบิดามารดายังไม่อนุญาต เขาจึงไม่รื่นรมย์ด้วย
เศรษฐีทั้ง 3 ต่างก็พากันสรรเสริญและชมเชยว่าแปลกยิ่งนัก ยังไม่เคยได้ยินเรื่องเช่นนี้ บุรุษผู้นี้ซื่อตรงจริงและพร้อมกันยกธิดาของตนให้ แล้วจึงเชิญให้เจ้าจันทคาธไปบ้าน แต่มิอาจไปบ้านของใครได้ จึงได้เอ่ยขึ้นมาว่า “ถ้าท่านยกธิดาให้ก็จงปลูกเรือนให้ในที่นี้เถิด ถ้าผู้ใดเสร็จก่อนผู้นั้นก็ได้ทำการมงคลก่อน” เศรษฐีทั้ง 3 ต่างก็ทำปราสาทคนละหลัง ปราสาทของนางทิพโสดาเสร็จก่อนจึงได้ทำการมงคลก่อน ต่อมาเป็นปราสาทของนางประทุมบุปผา แล้วจึงตามด้วยนางสุคนธเกศี พระโพธิสัตว์ (เจ้าจันทคาธ) อยู่แห่งละ 3 วันๆ ถึงวันที่ 22 ก็ระลึกถึงนางเทวธิสังกา จึงบอกลาชายาทั้ง 3 ว่า “เราพลัดจากนางเทวธิสังกามานาน เมื่อระลึกถึงใคร่จักลาเจ้าไปตามหานาง” ธิดาเศรษฐีได้ยินดังนั้นประหนึ่งว่าหฤทัยจะแตกสลาย ต่างร่ำไรรำพัน แล้วจึงไปแจ้งแก่เศรษฐีผู้เป็นพ่อตาแม่ยาย แล้วจึงอำลา
เหล่าเศรษฐีต่างพากันห้ามปราม พวกเราตั้งแต่งพ่อไว้ในฐานะบุตรหวังเป็นที่พึ่งพาอาศัย อย่างไรจักกลับเสียเล่า อย่าลืมพวกเราเสีย ถ้าพบนางแล้วจงมานี่อีกไม่ลืม พบนางแล้วจะเลยไปหาพี่ชายแล้วจักกลับมาอีก เมื่อเจ้าจันทคาธฝากชายาทั้ง 3 ไว้ในสำนักบิดามารดาแล้ว จึงใส่เกือกแก้ว ถือพระขรรค์กายสิทธิ์เหาะเรื่อยไปตามอากาศ แล้วลงริมฝั่งแม่น้ำอจิรวดี และนั่งอยู่ ณ โคนไม้แห่งหนึ่งลงอาบน้ำ แล้วขึ้นมานั่งบริโภคโภชนาหารอยู่ที่เดิม
ภาพเขียนบริเวณเหนือกำแพง มีภาษาล้านนาเขียนกำกับอยู่ อ่านได้ความว่า “เจ้าจันทคาดเอานางทัง…..ม…มหาถ..ในเมิงสังกาสะ” และ “ลูกเศรีษฐี”
ภาพเขียนภาพนี้เขียนภาพเศรษฐี ภรรยาและธิดาทั้ง 3 นั่งอยู่ในเรือนคล้ายวิหารโถง รูปแบสถาปัตยกรรมคล้ายกับวิหารของวัดในล้านนา
ส่วนการแต่งกายของเจ้าจันทคาธและเศรษฐีทั้ง 3 และบริวารชาย สวมเครื่องแต่งกายแบบชาวบางกอก คือ สวมเสื้อคอตั้งแขนยาว นุ่งโจงกระเบนพร้อมผ้าคาดเอว ไว้ผมทรงมหาดไทย และไม่สวมรองเท้า ส่วนธิดาเศรษฐีทั้ง 3 แต่งกายแบบหญิงในล้านนา คือนำผ้าแถบสีเรียบมาห่มเฉียงแบบสไบหรือคล้องทิ้งชายไปด้านหลังเรียกว่า “สะหว้ายแหล้ง” หรือ “เบี่ยงบ้าย” นุ่งซิ่นตีนจก (คือซิ่นที่ต่อด้วยตีนจก ที่นิยมใช้ในหญิงไทยวนของล้านนา ส่วนท้องซิ่นก็เป็นรูปแบบเฉพาะที่พบได้แต่ในเมืองน่านเท่านั้น) ไว้ผมแบบมุ่นมวย เรียกว่าเกล้าแบบ “ตั้งเกล้า” หรือ “วิดว้อง” ไว้กลางศีรษะ เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นใบลาน แผ่นเงิน หรือทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป และไม่สวมรองเท้า
Physical Data