Description
Digital Data
ภาพเขียนจิตรกรรมบริเวณมุมบนสุดของผนังด้านทิศเหนือ เขียนเล่าเหตุการณ์ครั้นพระกุมารีสุชาตดึงสาถูกงูเห่ากัด จนเป็นเหตุให้สิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา
ในบริเวณนี้มีภาษาล้านนาเขียนกำกับอยู่บริเวณด้านซ้ายมือของต้นไม้อ่านได้ความว่า “พุทโธหลวงไบ้หลวงงาว” แปลได้ว่า “พุทโธ งูมีขนาดใหญ่มาก” และบริเวณด้านขวามือของต้นไม้อ่านได้ความว่า “งูขบนางสุจจาฅ” แปลว่า “งูกัดนางสุชาตดึงสาตาย”
ในภาพพระนางสุชาตดึงสาแต่งกายแบบหญิงในราชสำนักล้านนา คือ นำผ้าแถบสีเรียบมาห่มเฉียงแบบสไบ หรือ คล้องทิ้งชายไปด้านหลัง คือนำผ้าแถบสีเรียบมาห่มเฉียงแบบสไบ หรือคล้องทิ้งชายไปด้านหลัง เรียกว่า “ห่มผ้าสะหว้ายแล่ง”หรือ “เบี่ยงบ้าย” ในภาษาล้านนา นุ่ง “ซิ่นตีนจกคำ” คือซิ่นตีนจกทองคำ เป็นซิ่นที่นิยมสวมใส่ในหมู่เจ้านายฝ่ายหญิงในล้านนา
ซิ่นตีนจกคำในภาพเป็นซิ่นที่มีรูปแบบเฉพาะซึ่งถือรูปแบบผ้าซิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองน่าน คือ ท้องซิ่นจะมีแนวขวางลำตัวดูแล้วคล้ายกับซิ่นป้อง ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของผ้าซิ่นที่มีรูปแบบพิเศษ มีลายในแนวขวางลำตัว ดูแล้วคล้ายกับ “ซิ่นต๋า” ของหญิงชาวไทยวนในล้านนา มีการตกแต่งผ้าซิ่นด้วยกรรมวิธีการทอแบบต่างๆในแนวขวางลำตัวที่ค่อนข้างหลากหลาย เเล้วเกิดลวดลายเพิ่มขึ้น พบได้เฉพาะที่เมืองน่านเท่านั้น
ในภาพน่าจะเป็นเทคนิคการทอที่ชาวเมืองน่านเรียกว่า “มัดก่าน” หรือที่ทั่วไปเรียกว่า “มัดหมี่” ส่วนของผ้าซิ่นด้านล่างต่อด้วย “ตีนจกคำ” คือ ตีนซิ่นที่ทอด้วยกรรมวิธีการจกและมีการสอดแทรกไหมทองคำ หรือไหมเงินลงไปเพื่อให้ดูมีค่ามากยิ่งขึ้น “ตีนจก”ซึ่งนิยมกันมากในหญิงชาวไทยวนในล้านนา
นอกจากนี้ “ตีนจก” ของเมืองน่านยังมีโครงสร้างเดียวกับตีนจกของหญิงชาวไทยวนในล้านนา แต่ตีนจกของเมืองน่านจะมีการใส่ลวดลายเฉพาะลงไป ทำให้เกิดเป็นผ้าซิ่นตีนจกรูปแบบเฉพาะที่สามารถพบได้เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น
ส่วนทรงผมของพระกุมารีในภาพนั้นทำผมมุ่นมวย เรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง” ไว้กลางศีรษะ ปักด้วยปิ่นทองคำ หรือในล้านนาเรียกว่า “ปิ่นคำ” มัดมวยด้วยสร้อยคำ หรือ สร้อยทอง เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นแบนๆคล้ายแผ่นใบลานที่ทำจากแผ่นเงินหรือทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป สวมสร้อยคอที่ทำจากทองคำ สวมรองเท้าแตะ
ส่วนนางกำนัลแต่งกายคล้ายกับหญิงทั่วไปในล้านนา คือ นำผ้าแถบสีเรียบมาห่มเฉียงแบบสไบหรือคล้องทิ้งชายไปด้านหลังเรียกว่า “สะหว้ายแหล้ง” หรือ “เบี่ยงบ้าย” นุ่งซิ่นตีนจกรูปแบบเฉพาะที่พบได้ในเมืองน่านเท่านั้น มีการไว้ผมในรูปแบบการเกล้าผมแบบต่างๆ เรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง” และ “ตั้งเกล้า” ไว้กลางศีรษะปักปิ่นทองคำ หรือในล้านนาเรียกว่า “ปิ่นคำ” นางกำนัลบางคนมัดมวยด้วยสร้อยคำ หรือสร้อยทอง บางคนมัดมวยด้วยสร้อยเงิน เจาะหูใส่ “ลานหู” และไม่สวมรองเท้า เป็นต้น
Physical Data