Description
Digital Data
ภาพเขียนบริเวณด้านล่างของช่องนี้ เขียนเรื่องราวที่เกิดขึ้นบริเวณหน้าเมืองกาสี เป็นตอนที่เจ้าสุริยคาธและจันทคาธกลับไปเยี่ยมบิดามารดาที่เมืองจัมปากนคร
ครั้นเมื่อกาลล่วงไป 3 ปี เจ้าสุริยคาธกุมารทรงใคร่จะเห็นบิดาเเละมารดา จึงหารือกับผู้เป็นน้อง เเล้วตรัสว่า “ดูก่อนพ่อเราทั้ง 2 ไม่ทราบความตายและความเป็นของมารดาบิดาเลย ควรจะกลับไปเยี่ยมเยียนท่าน” เมื่อจันทคาธผู้เป็นน้องสดับดังนั้นเเล้ว จึงตบรับคำผู้เป็นพี่ว่า เเล้วลากลับไปแจ้งแก่อุกัษฐเศรษฐีถึงความประสงค์ของตนที่อยากจะกลับไปเยี่ยมบิดาเเละมารดาที่เมืองจัมปากนคร
ฝ่ายเจ้าสุริยคาธกุมารตรัสแจ้งแก่พระนางสุชาตดึงสาว่า “ดูก่อนพระน้องนาง พี่จักต้องอำลาไปเยี่ยมมารดาบิดา” เมื่อพระนางสดับได้ดังนั้นจึงตอบว่า “ถ้าพระองค์เสด็จไปหม่อมฉันก็จักตามเสด็จด้วย” เจ้าสุริยคาธจึงตรัสต่อไปว่า “ดูก่อนพระน้องผู้ที่เป็นที่รัก หนทางไกลกันดารมาก ขออย่าเสด็จเลย จงอยู่กับพระชนกชนนีเถิด พี่จักรีบกลับในไม่ช้า” ครั้นพระนางสุชาตดึงสาผู้เป็นมเหสีได้ยินดังนั้นจึงเอ่ยไปว่า “ถ้าอย่างนั้นโปรดเสด็จกลับโดยด่วนเถิด”
รุ่งขึ้นเจ้าสุริยคาธจึงเสด็จไปเฝ้าพระเจ้าเมืองกาสี เเล้วทรงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ข้าพระพุทธเจ้าขอกราบถวายบังคมลาไปสู่จัมปากนคร เพื่อเยี่ยมเยียนมารดาบิดา” ความเดิมของเรื่องราวในตอนี้กล่าวย้อนไปครั้นเจ้าสุริยคาธกุมารได้ถูกบิดาเเละมารดาขับไล่ออกจากเรือน ต่างพากันเร่รอนเข้าไปในป่าตั้งเเต่เยาว์วัย บัดนี้ทรงเจริญวัยแล้ว (เออกจากเรือนตั้งเเต่อายุ 12 ขวบ จากมา 10 ปี จนถึงบัดนี้รวมพระชนม์ได้ 22 ขวบ) การเดินทางไปพบบิดามารดาในครานี้ สองกุมารหารือกันว่า “บิดาเเละมารดาของเราจักจำเราไม่ได้ อีกอย่างหนึ่ง มารดาบิดาของเราก็เป็นคนขัดสน ถ้าเราไปทางบกจักได้ทรัพย์ไปน้อย เราควรจะไปทางเรือ” กระนั้นจึงรับสั่งให้จัดเรือใหญ่ และให้เหล่าบริพารจัดหาไม้ไผ่สดมาตัดเป็นปล้อง ๆ เเล้วนำเเก้วเเหวนเงินทองบรรจุลงไปในปล้องไม้ไผ่นั้น เเละให้ขนลงเรือบรรทุก ครั้นถึงวันฤกษ์ดี พระกุมารทั้งสองแวดล้อมด้วยพาณิชลงสู่เรือ แล่นไปในท่ามกลางมหาสมุทร
ในภาพเขียนเรื่องราวที่เกิดขึ้นบริเวณริมเเม่น้ำหน้าเมืองกาสี ในบริเวณนี้เขียนภาพผู้คนหลากหลายชนชาติ เช่น ชนชาวพื้นเมืองและชาวจีน ส่วนภาพเขียนบริเวณกลางภาพสันนิษฐานว่าน่าจะเขียนภาพของเจ้าสุริยคาธที่กำลังร่ำลาผู้เป็นมเหสี เเละพระนางก็ร่ำไห้ที่ต้องผลัดพรากจากพระสวามีไปสู่เมืองไกล
เจ้าสุริยคาธแต่งกายแบบชายไทยวนและไทลื้อในล้านนา คือ สวมเสื้อผ้าพื้นสีเรียบแขนยาว นุ่งผ้ามีผ้าพื้นสีเรียบผืนเดียวที่เรียกว่านุ่งแบบ “นุ่งผ้าต้อย” หรือ “เค็ดม่าม” โดยจะม้วนผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมร หรือ โจงกระเบน เผยให้เห็นลายสักยันต์ตั้งแต่ท้องน้อยจนถึงหัวเข่าที่มีลวดลายสัตว์หิมพานต์ อันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชายชาวไทลื้อและไทยวนในแถบนี้ สวมแหวนทองคำ ไว้ทรงผมที่เรียกว่า “ทรงมหาดไทย” ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว แต่ไม่ได้แสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพ และไม่สวมรองเท้า
ส่วนนางสุชาตดึงสาสวมเครื่องแบบ แบบหญิงในเมืองน่านและหญิงชาวไทยวนในล้านนา คือ นำผ้าแถบสีเรียบมาห่มเฉียงแบบสไบ หรือ คล้องทิ้งชายไปด้านหลังเรียกว่า “สะหว้ายแหล้ง” หรือ “เบี่ยงบ้าย” นุ่งซิ่นตีนจกแต่เป็นซิ่นตีนจกที่ทอจากฝ้าย สามารถพบเห็นหญิงชาวไทยวนสวมใส่กันทั่วไปทั้งในเมืองน่านและล้านนา แต่ตีนจกของเมืองน่านมีการใส่ลวดลายเฉพาะของตนลงไป ทำให้เกิดเป็นรูปแบบเฉพาะของซิ่นตีนจกเมืองน่าน ซึ่งสามารถพบได้แต่เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น และท้องซิ่นก็เป็นรูปแบบเฉพาะที่พบได้แต่ในเมืองน่านเท่านั้น คือ ท้องซิ่นจะมีแนวขวางลำตัวที่ดูแล้วคล้ายกับซิ่นป้อง เป็นซิ่นที่มีรูปแบบพิเศษซึ่งเป็นซิ่นที่มีลายในแนวขวางลำตัว ดูแล้วคล้ายกับ “ซิ่นต๋า” ของหญิงชาวไทยวนในล้านนา ผ้าซิ่นป้องมีการตกแต่งผ้าซิ่นด้วยการทอกรรมวิธีต่างๆในแนวขวางลำตัวที่ค่อนข้างหลากหลาย ให้เกิดลวดลายเพิ่มเติม พบได้เฉพาะที่เมืองน่านเท่านั้น ในภาพน่าจะเป็นการตกแต่งการทอด้วยกรรมวิธีหลายอย่าง คือตกแต่งด้วยกรรมวิธีการทอที่ในเมืองน่านเรียกว่า “มัดก่าน” หรือที่ทั่วไปเรียกว่ามัดหมี่ เกล้าผมแบบต่างๆที่เรียกว่า ”ตั้งเกล้า” เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นคล้ายใบลาน เป็นแผ่นเงินหรือทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป และไม่สวมรองเท้า
ส่วนชายที่กำลังเดินเข้าประตูเมืองแต่งกายเช่นเดียวกับสุริยคาธ เเละชาวจีนในภาพมีอยู่ด้วยกันหลายกลุ่ม ตั้งแต่นั่งอยู่ด้านหลังของนางสุชาตดึงสาที่ใส่ชุดสีแดง แต่ภาพเขียนเลือนลางไปมากจนไม่สามารถอธิบายรายละเอียดการแต่งกายได้หมด นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชาวจีนที่ยืนอยู่ริมฝั่งน้ำชาวจีนที่อยู่ในเรือกลไฟ ล้วนแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์เเสดงให้เห็นได้ว่าเป็นชนชาวจีนในยุคนั้น คือ ใส่เสื้อตัวหลวมคอตั้งทรงจีนแขนยาวที่มีสาปเสื้อป้ายไปด้านข้าง และสวมกางเกงขายาวตัวหลวม สวมหมวกทรงกลมแบบของชาวตะวันตก ส่วนเรือลำซ้ายทางหัวเรือมีกุลีชาวจีน กำลังขนของลงเรือ เเละคนที่อยู่บนฝั่งแต่งกายแบบชาวจีนทั่วไป คือ สวมเสื้อคอตั้งแขนยาวสีน้ำเงินสวมกางเกงขากว้างสีแดง
ในบริเวณนี้มีภาษาล้านนาเขียนกำกับอยู่ อ่านได้ความว่า “นา(วา)…เมื่อจิ่มมีน้ำ จูงจันทฅาธ” น่าะแปลได้ประมาณว่า “ยามเมื่อมีน้ำไหลหลาก ก็จูงมือจันทคาธเดินโดยทางเรือ”
ส่วนภาพเขียนเรือที่อยู่ในแม่น้ำนั้น เป็นเรือกลไฟแบบชาวตะวันตก ซึ่งสันนิษฐานว่าช่างเขียนน่าจะเคยพบเห็นเรือดังกล่าวในลำน้ำโขง
Physical Data