Description
Digital Data
ภาพเขียนจิตรกรรมบริเวณสุดฝาผนังด้านทิศเหนือ เขียนเรื่องราวตอนที่ขบวนเสด็จของพระญาธรรมสุชาต พร้อมพระนางสุชาตดึงสาได้เสด็จมาถึงและประทับยังพลับพลาภายในอุทยาน ในบริเวณใต้เสลี่ยงที่กษัตริย์ธรรมสุชาตมีอักษรล้านนากำกับอยู่ อ่านได้ความว่า “พระญาธัมมชาตพาลูกสาวมาเข้าอุนยานแล” น่าจะแปลได้ประมาณว่า “พระญาธรรมสุชาตพาพระนางสุชาตดึงสาได้เสด็จเข้ามาถึงอุทยาน” ในภาพฝั่งล่างซ้ายจะเห็นเสลี่ยงที่ประทับของพระญาธรรมสุชาตวางอยู่หน้าพลับพลา ด้านบนพลับพลามีพระญาธรรมสุชาตพร้อมนางพระนางสุชาตดึงสา ประทับอยู่บนพลับพลาภายในอุทยาน ด้านหน้ามีเสนาอมาตย์และเหล่านางสนมกำนัล หมอบเฝ้าอยู่เต็มลานทั้งด้านบนและล่างของศาลา
ตัวศาลาเป็นพลับพลาทรงโถงโล่งมีระเบียงรอบ ตัวศาลาเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมจากกรุงเทพ ด้านหน้าพระญาธรรมสุชาตทอดขันหมาก ที่จากเครื่องเขินปิดด้วยทองคำเปลว หรือที่ในล้านนาเรียกว่า “ขันหมากคำ” พร้อมหม้อทรงโถสีดำ ด้านข้างมีรองเท้าแตะวางอยู่ 1 คู่ รอบระเบียงตั้งปืนคาบศิลาและมีง้าวผูกผ้าสีแดงปักเป็นแถวเรียงรายโดยรอบ พระญาธรรมสุชาตทรงเครื่องแบบกษัตริย์สวมกระบังหน้ามีกรรเจียกคือเครื่องประดับหูมีรูปเป็นกระหนก ใช้ประกอบกับพระมหามงกุฎ พระชฎา หรือรัดเกล้า และสวมกรองศอทับบนเสื้อแขนยาว มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน นุ่งสนับเพลาคือกางเกงขายาวประมาณครึ่งแข้งมีผ้าห้อยหน้าหรือชายไหวระหว่างชายแครง มีแถบผ้าปลายงอนหุ้มปลายขากางเกงทั้ง 2 ข้าง นุ่งโจงทับ ปัจจุบันยังหมายถึงกางเกงด้วย ราชาศัพท์ใช้ว่า พระสนับเพลา
พระนางสุชาตดึงสาแต่งกายแบบหญิงในราชสำนักล้านนาคือนำผ้าแถบสีเรียบมาห่มเฉียงแบบสไบหรือคล้องทิ้งชายไปด้านหลัง คือนำผ้าแถบสีเรียบมาห่มเฉียงแบบสไบหรือคล้องทิ้งชายไปด้านหลัง ในล้านนาเรียกว่า “ห่มผ้าสะหว้ายแล่ง”หรือ “เบี่ยงบ้าย” นุ่ง “ซิ่นตีนจกคำ” แปลว่าซิ่นตีนจกทองคำ เป็นซิ่นที่นิยมสวมใส่ในหมู่เจ้านายฝ่ายหญิงในล้านนา แต่“ซิ่นตีนจกคำ” ที่พระนางสุชาตดึงสาใส่นั้น เป็น “ซิ่นตีนจกคำ” ที่มีรูปแบบเฉพาะและเป็นเอกลักษณ์ของเมืองน่าน คือท้องซิ่นจะมีแนวขวางลำตัวที่ดูแล้วคล้ายกับซิ่นป้อง เป็นซิ่นที่มีรูปแบบพิเศษซึ่งเป็นซิ่นที่มีลายในแนวขวางลำตัว ดูแล้วคล้ายกับ “ซิ่นต๋า” ของหญิงชาวไทยวนในล้านนา ผ้าซิ่นป้องมีการตกแต่งผ้าซิ่นด้วยการทอกรรมวิธีต่างๆในแนวขวางลำตัวที่ค่อนข้างหลากหลาย ให้เกิดลวดลายเพิ่มเติม พบได้เฉพาะที่เมืองน่านเท่านั้น ในภาพน่าจะเป็นการตกแต่งด้วยกรรมวิธีการทอที่ในเมืองน่านเรียกว่า “มัดก่าน” หรือที่ทั่วไปเรียกว่ามัดหมี่ ด้านล่างต่อด้วย”ตีนจกคำ” คือตีนซิ่นที่ทอด้วยกรรมวิธีการจกและมีการสอดแทรกไหมทองคำหรือไหมเงินลงไปเพื่อให้ดูมีค่ามากยิ่งขึ้น “ตีนจก” นี้เป็นตีนซิ่นลักษณะนี้เป็นที่นิยมกันในหญิงชาวไทยวนในล้านนา ส่วน “ตีนจก” ของเมืองน่านยังมีโครงสร้างเดียวกับตีนจกของหญิงชาวไทยวนในล้านนา แต่ตีนจกของเมืองน่านมีการใส่ลวดลายเฉพาะของตนลงไป ทำให้เกิดเป็นรูปแบบเฉพาะของซิ่นตีนจกของเมืองน่าน ที่สามารถพบได้แต่เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น ทำผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง”ไว้กลางศีรษะปักปิ่นทองคำ หรือในล้านนาเรียกว่า “ปิ่นคำ” มัดมวยด้วยสร้อยคำหรือสร้อยทอง เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นแบนๆคล้ายแผ่นใบลาน ที่ทำจากแผ่นเงินหรือทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป สวมสร้อยคอและสร้อยตัวทองคำ และสวมรองเท้าแตะที่ถอดวางอยู่หน้าพลับพลา ส่วนเหล่านางกำนัลเห็นแต่เฉพาะครึ่งบน แต่งกายแบบมีรูปแบบหญิงสาวในเมืองน่านและในล้านนาในสมัยนั้น คือด้านบนเปลือยอกและนำมาแถบมาห่มแบบสไบ ในล้านนาเรียกว่า “ห่มผ้าสะหว้ายแล่ง” หรือ “เบี่ยงบ้าย” ทำผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง”ไว้กลางศีรษะ เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นแบนๆคล้ายแผ่นใบลาน ที่ทำจากแผ่นเงินหรือทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป
ส่วนเหล่าเสนาอมาตย์มีการแต่งกายแบบชาวบางกอกในยุคนั้นคือ สวมเสื้อผ้าสีเรียบแขนยาวนุ่งโจงกระเบนไว้ผมทรงมหาดไทย บางคนสวมหมวกสีดำและสีขาวแบบทหารของชาวตะวันตกที่นิยมช่วงนั้น
Physical Data