Description
Digital Data
ภาพเขียนในช่วงแรกของกัณฑ์ที่ 7 ติรตนลภนกัณฑ์ เขียนภาพเหตุการณ์ตอนที่เจ้าจันทคาธขึ้นฝั่ง หลังจากที่เรือพระที่นั่งเกิดพายุพัดจนเรือเเตก เหตุการณ์นี้เจ้าจันทคาธกำลังเดินเข้าป่าทางทิศอุดร เมืองปาตลีบุตร เพื่อตามหานางเทวธิสังกาผู้เป็นชายา ครั้นมาถึงที่แห่งหนึ่งเจ้าจันทคาธแลเห็นครุฑและนาคกำลังสู้รบกัน นาคเป็นฝ่ายพ่ายจนสิ้นชีวิต เห็นกระนั้นเจ้าจันทคาธจึงเข้าไปช่วยนาคตนนั้น ด้วยการป้อนโอสถทิพย์แก่นาค นาคตนนั้นจึงฟื้นคืนชีวิตดังอัศจรรย์ แล้วจึงหายเข้าไปในป่า และย้อนกลับมาด้วยเพศมานพมานพผู้นั้นถามเจ้าจันทคาธ โดยมีบทสนทนาความว่า
มานพ : มหาบุรุษมาแต่ไหน
เจ้าจันทคาธ : เรามาสำเภา ๆ แตกขึ้นจากทะเลได้จึงเดินหลงทางมาที่นี่
มานพ : ข้าแต่มหาบุรุษ ท่านได้ให้ชีวิตแก่ข้าพเจ้า ๆ จะตอบแทนคุณของท่าน ท่านต้องการสิ่งใดจักให้สิ่งนั้น
เจ้าจันทคาธ : เราต้องการพบปะภรรยาที่พลัดกันเมื่อสำเภาแตก
มานพ : ข้าแต่มหาบุรุษ ไม่ว่าท่านต้องการจะดูสิ่งใด ๆ ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ ท่านหยิบดวงมณีนี้ใส่ปากแล้วดูเถิด อาจเห็นได้ตลอดนาคโลก มนุษยโลก เทวโลก ชั้นดาวดึงส์
ครั้นกล่าวดังนี้แล้วก็น้อมแก้วมณีเข้าถวายพระโพธิสัตว์แล้วหายวับไป
จากที่นั้น เจ้าจันทคาธทรงรับแก้ววิเศษดวงนั้นแล้วใส่พระโอษฐ์ ทอดพระเนตรสรรพสิ่งทั่วทิศ ทรงเห็นนางเทวธิสังกา ซึ่งขณะนั้นทรงออกผนวชอยู่ในปริพพาชิการาม เหาะไปเห็นมารดาบิดาที่อยู่ในนัมพคาม ในกรุงจัมปากะ เหาะไปเห็นพระเจ้าสุริยคาธ ผู้เป็นพระเชษฐาธิราช ในกรุงกาสี และเหาะไปเห็นพระมารดาและพระบิดาของนางเทวธิสังกา ในกรุงอินทปัตต์ ตลอดถึงนาคพิภพ สุบรรณพิภพ ดาวดึงส์พิภพ
ในบริเวณนี้มีภาษาล้านนา (ตัวเมืองล้านนา) เขียนกำกับอยู่ อ่านได้ความว่า “พุทโธคุดกินงู” แปลได้ว่า “เวรกรรมพญาครุฑกัดพญานาค” อักษรล้านนาชุดกลางสุดเหนือจันทคาธ (คนที่สอง ในอาการที่ยกมือทั้งสองขึ้น) อ่านได้ความว่า “เถ็ก” แปลว่า “ไปๆๆ” และอักษรล้านนาชุดขวาสุดเหนือจันทคาธ (คนที่สาม) อ่านได้ความว่า “จันทคาธยางู” แปลได้ความว่า “เจ้าจันทตาธรักษาพญานาค”
เจ้าจันทคาธสวมใส่เสื้อแขนยาวคอตั้งสีเข้มมีผ้ามาคล้องไหล่ ส่วนภาพต่อมานำผ้าคล้องไหลเคียนไว้ที่เอว สวมโจงกระเบนด้วยผ้าลายดอก ไว้ผมทรงมหาดไทย และไม่สวมรองเท้า
Physical Data