Description
Digital Data
ภาพเขียนจิตรกรรมฝั่งด้านเหนือของฝาผนังด้านทิศตะวันออก (เริ่มเรื่อง) ในกัณฑ์ที่ 5 เทวธิสังการลภนวิโยคกัณฑ์ ส่วนต้นและส่วนท้าย โดยภาพเขียนส่วนใหญ่ในฝั่งนี้ลบเลือนไปมาก
ภาพเขียนในส่วนนี้เขียนเล่าเรื่องในส่วนต่อของกัณฑ์ที่ 5 เทวธิสังการลภนวิโยคกัณฑ์ จากจิตรกรรมฝาผนังทิศเหนือด้านล่างของช่องที่ 6
ภาพเขียนในส่วนด้านเหนือของฝาผนังทิศตะวันออกนี้ เขียนเรื่องราวตั้งแต่การเกิดของนางเทวธิสังกา พระธิดาของพระญาพรหมจักรพรรดิ แห่งเมืองอินทปัตถ์ ครั้นเมื่อประสูติพระราชธิดา จึงรับสั่งให้โหราทำนายจักดวงชะตาความว่า “พระราชธิดาจะมีพระองค์บริบูรณ์ด้วยพระลักษณะ แต่ประสูติในพระฤกษ์ไม่ดี จักสิ้นพระชนม์ ด้วยถูกเสือกัด มีพระชนม์ได้ 12 ขวบ แล้วจักกลับได้พระชนม์ในภายหลัง และจักได้พระสวามีเป็นบุรุษทุคคตะมาจากต่างประเทศ พระสวามีนั้นจักเป็นผู้มีบุญมาก มีอานุภาพมาก จักปรากฏในชมพูทวีปทั้งสิ้น” ครั้นสดับความเช่นนั้นพระญาพรหมจักรพรรดิจึงรับสั่งให้พระราชกุมารีอยู่แต่ในปราสาท มิให้เสด็จลงประพาส ณ พื้นดินเพราะหวั่นจากภยันตรายสองอย่าง คือ ภัยอันเกิดแต่เสือโคร่ง และภัยอันเกิดแต่บุรุษทุคคตะ
กาลต่อมามีพ่อค้าสำเภาต่างประเทศคนหนึ่งเข้ามาค้าขายในเมือง จึงได้นำมีดเล็กด้ามหนึ่ง ปลายด้ามทำด้วยเขี้ยวเสือถวายแก่พระราชกุมารี พระนางทรงพอพระทัยมากจึงเก็บรักษาไว้ในที่สูง ครั้นมีดนั้นพลัดตกลง ปลายด้ามที่ทำด้วยเคี้ยวเสือตกลงถูกหลังพระบาท เเละมีพระโลหิตออก หมอหลวงจึงรีบทำการรักษา ทว่าแผลนั้นกลับกลายเป็นแผลใหญ่ขึ้น จนเป็นเหตุให้สิ้นพระชนม์ดังคำทำนายของโหราที่ทำนายไว้ครั้นทรงประสูติ นำมาซึ่งความโศกเศร้าของพระบิดาเเละบริพารเป็นอันมาก ครั้นมีนายสำเภาผู้หนึ่งนามว่า “โคษฐะ” เข้ามาค้าขายที่เมืองอินทปัตถ์ จึงได้นำเครื่องราชบรรณาการเข้าถวายพระญาเจ้าพรหมจักรพรรดิ และทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระธิดา จึงกราบทูลว่าเจ้าเมืองว่า “ข้าแต่มหาราช บุตรของข้าพระพุทธเจ้าไปเที่ยวป่า ถูกเสือกัดตายได้ประมาณ 7 วัน และได้ทราบว่าบุตรของอุกัษฐะเศรษฐีนามว่า “จันทคาธ” สามารถรักษาคนตายให้ฟื้นคืนได้ ตนจึงไหว้วานให้รักษาบุตรของตน จนฟื้นคืนจากความตาย” ครั้นสดับได้ดังนั้นพระญาเจ้าพรหมจักรพรรดิจึงรับสั่งให้นายสำเภาไปเชิญจันทคาธมารักษาพระธิดา เมื่อจันทคาธมาถึงจึงเข้ารักษาพระนางเทวธิสังกาด้วยทิพยโอสถจนฟื้นคืนจากความตาย เเละอภิเษกกับพระนางเทวธิสังกาในเวลาต่อมา ภายหลังจากอภิเษกได้ปีกว่าๆเจ้าจันทคาธใคร่อยากกลับไปเยี่ยมเจ้าสุริยคาธผู้เป็นพระเชษฐา ที่เมืองกาสี พระนางเทวธิสังกาจึงขอติดตามไปด้วย ทั้งสองจึงทูลลาพระญาเจ้าพรหมจักรพรรดิและเดินทางด้วยเรือสู่เมืองกาสี ครั้นเดือนทางได้ระยะหนึ่งเกิดพายุและคลื่นใหญ่ขึ้นกลางสมุทร เรือพระที่นั่งเกิดอัปปาง คนทั้งหลายในเรือตกเป็นเหยื่อแห่งเต่าปลาทั้งสิ้น เว้นเสียเเต่เจ้าจันทคาธและพระนางเทวธิสังกาที่เกาะกระดานแผ่นหนึ่งไว้ลอยไปตามกระแสน้ำ ไม่ช้าก็หลุดจากแผ่นกระดานพลัดกันไปคนละทาง ฝ่ายพระนางเทวธิสังกาถูกคลื่นซัดเข้าฝั่ง เมื่อเสด็จขึ้นฝั่งได้แล้วก็ทรงกรรแสงถึงพระสวามีไปตามฝั่งได้ 2 – 3 วันก็ทรงพบทาง จึงเสด็จไปตามทางนั้นจนบรรลุถึงบ้านป่าแห่งหนึ่ง ทอดพระเนตรเห็นแสงไฟในเรือนหลังหนึ่ง จึงเสด็จเข้าไปใกล้ แลเห็นหญิงชราคนหนึ่งนามว่า “ปริสุทธี” จึงตรัสกับปริสุทธิว่า “ข้าแต่ยาย ฉันขออาศัยสักคืนหนึ่งเถิด” นางปริสุทฑีจึงถามกลับไปว่า “แม่มาจากไหน” ฉันมาเรือๆ แตกไม่มีที่พึ่ง จึงมาขออาศัยด้วย เมื่อนางปริสุทธิเห็นรูปร่างอันสมบูรณ์ด้วยลักษณ์ของพระนางเจ้าจึงเป็นที่เจริญใจก็มีจิตยินดี ได้ให้ข้าวน้ำผ้าผ่อนแก่พระนางเจ้า รับไว้เป็นบุตรีที่รักของตน เเละเรื่องราวในกัณฑ์ที่ 5 เทวธิสังการลภนวิโยคกัณฑ์ ได้จบลงที่ฝั่งทิศเหนือของฝาผนังทิศตะวันออกนี้
ขอขอบคุณภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนัง บริเวณฝั่งซ้ายขอปราสาทของพระพรหมจักรพรรดิ ซึ่งเป็นส่วนลบเลือนไป จากเว็ปไซด์วารสารเมืองโบราณ http://www.muangboranjournal.com/post/Chinese-and-the-Thai-life-style ซึ่งหอภาพถ่ายล้านนาได้นำมาตัดต่อลงไปในภาพ เพื่อให้ได้ภาพมีเรื่องราวที่สมบูรณ์
Physical Data