Description
Digital Data
ภาพเขียนจิตรกรรมกัณฑ์ที่ 5 เทวธิสังการลภนวิโยคกัณฑ์ เขียนเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นบริเวณปราสาทของพระญาพรหมจักรพรรดิ ณ เมืองอินทปัตถ์ โดยเรื่องราวที่เกิดขึ้นบริเวณปราสาทหลังนี้มีด้วยกันถึง 7 เหตุการณ์ ประกอบด้วย
เหตุการณ์ที่ 1 เกิดที่ฝั่งขวามือของปราสาท เป็นเหตุการณ์ตอนกำเนิดพระนางเทวธิสังกา และมีโหรามมาทำนายชะตาชีวิตของพระนางเทวธิสังกา
เหตุการณ์ที่ 2 เกิดที่ฝั่งซ้ายมือด้านหน้าของปราสาท ในบริเวณนี้ภาพเขียนลบเลือนไปเกือบทั้งหมด เป็นเหตุการณ์ตอนที่นางเทวธิสังกาถูกเขี้ยวเสือ ที่ปลายด้ามมีดตกลงใส่หลังพระบาท จนเป็นเหตุให้สิ้นพระชนม์ ดังคำทำนายของโหราที่ทำนายไว้ครั้นประสูติ
เหตุการณ์ที่ 3 เกิดที่ด้านในฝั่งกลาง บริเวณซ้ายมือของปราสาท เป็นตอนที่พระนางเทวธิสังกาสิ้นพระชนม์ นำมาซึ่งความโศกเศร้าแก่พระราชบิดาเเละพระมารดา
เหตุการณ์ที่ 4 เกิดที่ฝั่งด้านกลางซ้ายด้านหน้าของปราสาท ในบริเวณนี้ภาพเขียนลบเลือนไปเกือบทั้งหมด สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นตอนที่นายสำเภานามว่า “โคษฐะ” เข้าเฝ้าพระญาพรหมจักรพรรดิ และทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระธิดา จึงกราบทูลว่าเจ้าเมืองว่า “ข้าแต่มหาราช บุตรของข้าพระพุทธเจ้าไปเที่ยวป่า ถูกเสือกัดตายได้ประมาณ 7 วัน และได้ทราบว่าบุตรของอุกัษฐะเศรษฐีนามว่า “จันทคาธ” สามารถรักษาคนตายให้ฟื้นคืนได้ ตนจึงไหว้วานให้รักษาบุตรของตน จนฟื้นคืนจากความตาย” ครั้นสดับได้ดังนั้นพระญาเจ้าพรหมจักรพรรดิจึงรับสั่งให้นายสำเภาไปเชิญจันทคาธมารักษาพระธิดา ณ เมืองอินทปัตถ์
เหตุการณ์ที่ 4 เกิดที่ฝั่งด้านซ้ายสุดของปราสาท บริเวณริมกำแพงพระราชวัง ในบริเวณนี้ภาพเขียนลบเลือนไปเกือบทั้งหมด สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นตอนที่จันทคาธมาถึงยังเมืองอินทปัตถ์ จึงเข้ากราบทูลพระญาพรหมจักรพรรดิว่าตนนั้นมีทิพยโอสถ สามารถรักษาคนตายให้ฟื้นคืนได้
เหตุการณ์ที่ 5 เกิดที่บริเวณระเบียงฝั่งด้านหน้าขวาของปราสาท เป็นตอนที่จันทคาธรักษาพระนางเทวธสังกาด้วยทิพยโอสถ ครั้นเมื่อจันทคาธเคี้ยวทิพยโอสถใส่พระโอษฐ์ของพระราชบุตรีในวาระแรก พระสรีระของพระราชบุตรีก็มีอาการอบอุ่นขึ้น วาระที่ 2 ทรงหายใจเข้าออกได้ วาระที่ 3 ทรงพลิกพระกายได้ วาระที่ 4 ทรงขอน้ำเสวยได้ วาระที่ 5 ทรงเสวยพระกระยาหารได้ วาระที่ 6 แผลที่ถูกเขี้ยวเสือหายเป็นปรกติ วาระที่ 7 ทรงลุกขึ้นถวายบังคมพระราชบิดามารดาได้ และมีพระรูปโฉมเป็นปรกติ”
เหตุการณ์ที่ 6 เกิดที่ฝั่งด้านกลางและด้านขวาของปราสาท เป็นเรื่องราวภายหลังจากที่พระนางเทวธิสังกาฟื้นคืนจากความตาย จึงได้อภิเษกกับจันทคาธ เเละครองเมืองอินทปัตถ์ในเวลาต่อมา
ภาพเขียนบริเวณด้านในกลางปราสาทนั้น เป็นตอนที่เจ้าจันทคาธขึ้นครองเมืองอินทปัตถ์ โดยมีพระนางเทวธิสังกาเป็นมเหสีประทับอยู่ด้านข้าง
เหตุการณ์ที่ 7 เป็นเหตุการณ์สุดท้ายที่เกิดขึ้นบริเวณระเบียงฝั่งขวาของปราสาทด้านริมกำแพงพระราชวัง ใกล้กับศาลาทางเข้าออกของพระราชวัง เขียนภาพจันทคาธเเละพระนางเทวธสังกา เป็นเรื่องราวในตอนที่เจ้าจันทคาธระลึกถึงบิดามารดาเเละพระเชษฐา เเละใคร่กลับไปเยี่ยมพระเชษฐา ที่เมืองกาสี
ภาพเขียนปราสาทเมืองอินทปัตถ์มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีความคล้ายคลึงกับวัดในภาคเหนือในยุคนั้น คือ มีลักษณะเป็นปราสาททรงตรีมุข ส่วนหลังคามีลักษณะเป็นปีกนกลดสองชั้น ส่วนกลางของหลังคาเป็นทรงสูงสามชั้นมียอดแหลม มุงด้วยกระเบื้องสี ช่อฟ้าลวดลายเป็นหัวนาค ซึ่งน่าจะรับเอาอิทธิพลความนิยมในการสร้างมาจากกรุงเทพ เเล้วนำมาผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบล้านนา ส่วนหน้าแหนบ หรือ หน้าบันแกะสลักสวดลายพันธ์พฤกษา ด้านข้างทั้งสองฝั่งเป็นอาคารทรงโถง มีพระวิสูตรกางกั้น ภายในห้อยโคมแก้วที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
Physical Data