Description
Digital Data
ภาพเขียนในส่วนซ้ายสุดของฝาผนังด้านทิศตะวันออก ภาพเขียนบริเวณนี้ลบเลือนไปค่อนข้างมาก แต่ก็ยังพอหลงเหลือให้ทราบเรื่องราวได้บ้าง ภาพเขียนบริเวณนี้น่าจะเป็นเรื่องราวที่ต่อมาจากด้านล่างของจิตรกรรมในช่อง 6 ในฝาผนังด้านทิศเหนือ เป็นเรื่องราวในตอนที่นายสำเภานามว่า “โคษฐะ” พาจันทคาธมายังปราสาทของพระญาพรหมจักรพรรดิ ณ เมืองอินทปัตถ์ เพื่อมารักษาพระนางเทวธิสังกา
ในภาพด้านหน้าด้านขวาจะเห็นชายชาวจีนผู้หนึ่งเดินนำหน้าอยู่ สวมเครื่องแต่งกายเเบบชายชาวจีน คือใส่เสื้อตัวหลวมคอตั้งทรงจีนแขนยาวที่มีสาปเสื้อป้ายไปด้านข้าง เเละไว้หนวด ไว้ผมเปียยาว ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ชายชาวจีนในสมัยนั้น และสวมหมวกทรงกลมแบบชาวตะวันตก ส่วนที่กลุ่มชายที่เดินอยู่ด้านหลังน่าจะเป็นจันทคาธและบริวาร ซึ่งไม่สามารถเห็นรายละเอียดที่ชัดเจน เนื่องจากภาพเลือนลางไปมาก
ส่วนภาพเขียนบริเวณด้านล่างของภาพ เป็นภาพเรือกลไฟที่ใช้ไอน้ำแบบมีกงล้อวิดน้ำ ซึ่งการเขียนภาพเรือดังกล่าวผู้เขียนน่าจะเคนเห็นเรือของชาวตะวันตกที่แล่นอยู่ในลำน้ำโขง จึงนำมาเป็นเเรงบันดาลใจในการเขียนภาพ ถัดไปบริเวณด้านขวาเป็นภาพของช้างที่ยืนอยู่ริมฝั่งน้ำ เบื้องล่างมีควาญช้างที่กำลังพยายามแกะโซ่คล้องช้าง ในบริเวณมีภาษาล้านนาเขียนกำกับอยู่ ซึ่งน่าจะเป็นคำสบถอ่านได้ความว่า “เหาอ..ย้ายหีแม่” แปลได้ได้ประมาณ “เอา ช้างขยับเท้าหน่อยนะ”
ควาญช้างในภาพสวมเสื้อผ้าสีเรียบแขนยาว นุ่งผ้าพื้นสีเรียบผืนเดียวเรียกว่านุ่งแบบ “นุ่งผ้าต้อย” หรือ “เค็ดม่าม” โดยจะม้วนผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมร หรือ โจงกระเบน เผยให้เห็นลายสักยันต์ลวดลายสัตว์ป่าหิมพานต์ ตั้งแต่ท้องน้อยจนถึงหัวเข่า ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชายชาวไทลื้อและไทยวนในแถบนี้ บนศรีษะไว้ทรงผมทรงมหาดไทย ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว แต่ไม่ได้แสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพ และไม่สวมรองเท้า
Physical Data