Description
Digital Data
ภาพเขียนบริเวณฝั่งด้านซ้ายสุดของปราสาท ในบริเวณที่ภาพจิตรกรรมลบเลือนไปทั้งหมด น่าจะเป็นตอนที่จันทคาธมาถึงเมืองอินทปัตถ์ เเละเข้ากราบทูลพระญาเจ้าพรหมจักรพรรดิ ว่าตนมีทิพยโอสถ สามารถทำให้คนตายฟื้นคืนขึ้นมาได้
ภาพเขียนภาพนี้เล่าเรื่องราวในตอนที่จันทคาธกำลังปรุงทิพยโอสถโดยมีพระญาพรหมจักรพรรดินอนประทับอยู่ในปราสาท กำลังทอดพระเนตรจันทคาธปรุงทิพยโอสถ บริเวณเบื้องพระบาทมีพระมเหสีคอยนวดพระชงฆ์อยู่ ส่วนบริเวณด้านข้างมีภาพเขียนขวดแก้วขนาดใหญ่วางอยู่ ซึ่งน่าจะเป็นของที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ นอกจากนี้ภายในปราสาทมีห้อยโคมแก้วห้อยอยู่ ซึ่งก็น่าจะเป็นของที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
จันทคาธและเหล่าเสนา อำมาตย์ เเละเหล่าบริพารด้านหลัง สวมเครื่องแต่งกายแบบชายชาวบางกอกในยุคนั้น คือ ใส่เสื้อคอตั้งแขนยาวสีขาว นุ่งโจงกระเบน ไว้ทรงผมทรงมหาดไทย ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว แต่ไม่ได้แสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพ
พระญาพรหมจักรพรรดิทรงเครื่องเเต่งกายแบบกษัตริย์ คือ สวมกระบังหน้ามีกรรเจียก คือ เครื่องประดับหูมีรูปเป็นกระหนก ใช้ประกอบกับพระมหามงกุฎ พระชฎา หรือรัดเกล้า และสวมกรองศอทับบนเสื้อแขนยาว มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน นุ่งสนับเพลา คือ กางเกงขายาวประมาณครึ่งแข้งมีผ้าห้อยหน้า หรือ ชายไหวระหว่างชายแครง มีแถบผ้าปลายงอนหุ้มปลายขากางเกงทั้ง 2 ข้าง นุ่งโจงทับ ปัจจุบันยังหมายถึงกางเกงด้วย ราชาศัพท์ใช้คำว่า “พระสนับเพลา” ไม่สวมฉลองพระบาท ส่วนพระมเหสีแต่งกายแบบหญิงในราชสำนักล้านนา คือ นำผ้าแถบสีเรียบมาห่มคล้องทิ้งชายไปด้านหลัง นุ่งซิ่นตีนจกแต่เป็นซิ่นตีนจกที่ทอจากฝ้าย สามารถพบเห็นหญิงชาวไทยวนสวมใส่กันทั่วไปทั้งในเมืองน่านและล้านนา ตีนจกของเมืองน่านนี้มีการใส่ลวดลายเฉพาะของตนลงไป ทำให้เกิดเป็นรูปแบบเฉพาะของซิ่นตีนจกของเมืองน่าน ที่สามารถพบได้แต่เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น ส่วนท้องซิ่นจะมีแนวขวางลำตัวที่ดูแล้วคล้ายกับซิ่นป้อง เป็นซิ่นที่มีรูปแบบพิเศษ ซึ่งเป็นซิ่นที่มีลายในแนวขวางลำตัว ดูแล้วคล้ายกับ “ซิ่นต๋า” ของหญิงชาวไทยวนในล้านนา ผ้าซิ่นป้องจะมีการตกแต่งผ้าซิ่นด้วยการทอด้วยกรรมวิธีต่างๆในแนวขวางลำตัวที่ค่อนข้างหลากหลาย ทำให้เกิดลวดลายเพิ่มเติมขึ้น ผ้าซิ่นที่ปรากฏในภาพน่าจะเป็นการตกแต่งการทอด้วยกรรมวิธีหลายอย่าง เรียกว่า “มัดก่าน” หรือที่ทั่วไปเรียกว่า “มัดหมี่” ส่วนบนศรีษะไว้ผมยาว เกล้าผมแบบที่เรียกว่า “ตั้งเกล้า” ใส่ลานหู คือเครื่องประดับที่มีลักษณะเป็นแผ่นคล้ายใบลาน เป็นแผ่นเงิน หรือ ทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป
Physical Data