Description
Digital Data
ภาพเขียนบริเวณด้านหลังคอก (กรง) เขียนภาพเสนาผู้หนึ่ง ขณะกำลังจ้องมองช้าง ม้า และโคทั้ง 100 ในกรง บริเวณนี้มีภาษาล้านนากำกับอยู่ อ่านได้ความว่า “โถบ่มีสักตัว” แปลได้ว่า “ไม่เห็นมีสักตัว”
เสนาในภาพแต่งกายแบบชายในล้านนา คือ สวมเสื้อผ้าสีเรียบแขนยาว นุ่งผ้ามีลวดลายผืนเดียวที่เรียกว่านุ่งแบบ “นุ่งผ้าต้อย” หรือ “เค็ดม่าม” โดยจะม้วนผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมรหรือโจงกระเบน เผยให้เห็นลายสักยันต์ตั้งแต่ท้องน้อยจนถึงหัวเข่าที่มีลวดลายสัตว์หิมพานต์ อันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชายชาวไทลื้อและไทยวนในแถบนี้ ไว้ผมสั้นทรงมหาดไทย และไม่สวมรองเท้า
ส่วนชายด้านหลัง คือ เจ้าจันทคาธ ซึ่งเป็นผู้เปิดคอกช้าง ม้า และโคทั้ง 100 กลับสู่ป่าหิมพานต์ จะเห็นได้ว่าในมือของเจ้าจันทคาธแบกขวานที่มีคมสองด้านไว้สำหรับเปิดคอก
เจ้าจันทคาธสวมเสื้อแขนยาวคอตั้งสีเข้ม นำผ้าคล้องไหล่มาเคียนเอว สะพายพระขรรค์แก้วกายสิทธิ์ไว้ด้านหน้า สวมโจงกระเบนด้วยผ้าลายดอก ไว้ทรงผมทรงมหาดไทย ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว แต่ไม่ได้แสกกลางแบบทางภาคกลางของไทย ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพ และสวมพระบาทเชิงงอน
Physical Data