Description
Digital Data
ภาพจิตรกรรมบริเวณฝั่งด้านซ้ายของปราสาทเป็นการเริ่มเรื่อง เนมิราชชาดก เป็นเหตุการณ์ที่พระเจ้าเนมิราชขึ้นเวชยันตราราชรถไปท่องแดนนรกและสวรรค์ เป็นภาพพระมหาเทวีทรงยืนอยู่ข้างปราสาทเมืองมิถิลา เอาพระหัตถ์ป้องพระพักตร์ และทอดพระเนตรขึ้นไปบนท้องฟ้า รอบข้างพระมหาเทวีมีเสนาอมาตย์และเหล่าสนมกำนัล เฝ้าแหนแวดล้อมเป็นจำนวนมาก ด้านนอกกำแพงวังมีชาวยาง 2 คน (ชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในเมืองน่าน) ชี้ชวนกันดูเวชยันตราราชรถ ในบริเวณนี้มีอักษรล้านนากำกับ อยู่ด้วยกัน 2 ชุดคือ ชุดแรกอญุ่ที่บริเวณกำแพงเมือง อ่านได้ความว่า “เทวี” แปลว่า “พระเทวีหรือพระชายา” และด้านบนเหนือชาย 2 คน อ่านได้ความว่า “ยาง” คือชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในเมืองน่าน
การแต่งกายของพระเทวี เนื่องจากบริเวณนี้จิตรกรรมลบเลือนไป จึงเห็นแต่ท่อนบนเท่านั้น เป็นแต่งกายแบบหญิงชาวไทยวนในล้านนา คือนำผ้าแถบมาห่มห้อยชายไปด้านหลัง คล้ายการห่มสไบที่ในล้านนาเรียกว่า “ห่มผ้าสะหว้ายแล่ง” ทำผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง”ไว้กลางศีรษะ ไว้กลางศีรษะปักปิ่นทองคำ หรือในล้านนาเรียกว่า “ปิ่นคำ” มัดมวยด้วยสร้อยคำหรือสร้อยทอง เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นใบลาน แผ่นเงิน หรือทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป และสวมสร้อยคอทองคำ ส่วนเหล่านางสนมกำนัลจิตรกรรมลบเลือนเช่นกัน สามารถเห็นเฉพาะส่วนบนเท่านั้นคือ แต่งกายแบบหญิงชาวไทยวนทั่วไปในล้านนา โดยนำผ้าแถบมาห่มห้อยชายไปด้านหลัง คล้ายการห่มสไบที่ในล้านนาเรียกว่า “ห่มผ้าสะหว้ายแล่ง” ทำผมมุ่นมวยเรียกว่าเกล้าแบบ “วิดว้อง”ไว้กลางศีรษะ
ส่วนเหล่าเสนาอมาตย์ที่นั่งเฝ้าด้านหน้าปราสาท มีการแต่งกายคล้ายชาวไทยวนและไทลื้อในล้านนาในยุคนั้น ที่ได้รับอิทธิพลการแต่งกายรูปแบบจากทางกรุงเทพคือ ใส่เสื้อแขนยาวคอกลมทำจากผ้าที่เป็นผ้าพื้นเรียบและผ้าที่มีลวดลาย นุ่งผ้าที่มีลวดลายผืนเดียวที่เรียกว่านุ่งแบบ“นุ่งผ้าต้อย”หรือ“เค็ดม่าม”โดยจะม้วนผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมรหรือโจงกระเบน เผยให้เห็นลายสักยันต์ตั้งแต่ท้องน้อยจนถึงหัวเข่า อันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชายชาวไทยวนและไทลื้อในแถบนี้ ไว้ทรงผมที่เรียกทรงผมนี้ว่า “ทรงมหาดไทย” ลักษณะคือ ไว้ผมกลางศีรษะและด้านข้างโกนผมบริเวณโดยรอบ คล้ายกับการนำกะลามาครอบหัว แต่ไม่ได้แสกกลางแบบทางกรุงเทพ น่าจะอีกสิ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากทางกรุงเทพเช่นกัน
และในภาพจิตรกรรมส่วนนี้ มีการวาดภาพชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในเมืองน่าน ในบริเวณนี้เป็นชนชาติยาง ที่มีการแต่งกายเป็นเสื้อตัวยาวจนถึงหัวเขา ทำจากผ้าทอมือของชนเผ่าเป็นผ้าพื้นสีขาว คั่นด้วยเส้นสีแดงเป็นลายทางตามยาวลำตัว
Physical Data