Description
Digital Data
ภาพเขียนเจ้าคัทธณะกุมารเเละชายเกวียนร้อยเล่ม ขณะเดินทางออกจากป่าเข้าสู่เมืองชวาทวดี
ในภาพเจ้าคัทธณะกุมารทรงเครื่องเเต่งกายอย่างกษัตริย์ของไทย คล้ายกับการแต่งกายในละครนาฏศิลป์ของทางภาคกลาง (กรุงเทพ) คือ สวมพระมาลายอดเกี้ยว หรือ หมวกทรงกลมยอดแหลม สวมกรองศอและอินทรธนูทับบนเสื้อแขนยาว มีทับทรวงและสายสังวาลสะพายแล่ง สวมพาหุรัดที่ต้นแขน นุ่งสนับเพลา คือ กางเกงขายาวประมาณครึ่งแข้ง นุ่งโจงกระเบนทับทำมาจากผ้าที่มีลวดลาย รัดด้วยปั้นเหน่งหรือเข็มขัด มีผ้าห้อยหน้าหรือชายไหวระหว่างชายแครง มีแถบผ้าปลายงอนหุ้มปลายขากางเกงทั้ง 2 ข้าง ปัจจุบันยังหมายถึงกางเกง ในคำราชาศัพท์เรียกว่า “พระสนับเพลา” เเละเหน็บดาบศรีกัญไชยไว้ที่เอว
ส่วนชายเกวียนร้อยเล่มแต่งกายคล้ายชาวไทยวนและไทลื้อในล้านนาในยุคนั้น ซึ่งรับอิทธิพลจากทางภาคกลาง (กรุงเทพ) คือ สวมเสื้อแขนยาวคอกลมทำจากผ้าสีเรียบ มีการตกแต่งที่สาปเสื้อด้านหน้าและที่ต้นแขน นุ่งผ้าผืนเดียวที่มีลวดลายเรียกว่านุ่งแบบ “นุ่งผ้าต้อย” หรือ “เค็ดม่าม” โดยจะม้วนผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมร หรือ โจงกระเบน มัดเอวด้วยผ้าพื้นสีแดง เผยให้เห็นลายสักยันต์ตั้งแต่ท้องน้อยจนถึงหัวเข่า อันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชายชาวไทยวนและไทลื้อในแถบนี้ เเละสวมหมวกทรงกลมที่นิยมกันในหมู่ชายชาวตะวันตกในยุคนั้น ในมือถือไม้เท้าต้นชี้ตายปลายชี้เป็นแบกไว้บนบ่า ส่วนปลายห้อยย่ามสีแดง ซึ่งเป็นย่ามที่นิยมใช้กันในหมู่ชาวไทลื้อ เเละมีดาบห้อยอยู่ข้างๆ ฝักดาบในภาพนั้นน่าจะทำด้วยเงินในล้านนาเรียกว่า “ดาบหลูบเงิน” ส่วนด้านหลังห้อยย่ามสีขาว ซึ่งเป็นย่ามที่นิยมใช้กันในหมู่ชาวไทยวน และมีพิณวิเศษห้อยอยู่ข้างๆ พิณลักษณะนี้ในเมืองน่านเรียกว่า “ปิน” หรือในล้านนาเรียกว่า “ซึง” ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่พบได้เฉพาะในเมืองน่านเท่านั้น เเละยังนิยมใช้กันทั่วไปในหมู่ชาวไทยวนและไทลื้อในเมืองน่านอีกด้วย
Physical Data