Description
Digital Data
ภาพเขียนจิตรกรรมบริเวณเหนือและข้างประตูฝั่งขวา เขียนเล่าเรื่องราวของเจ้าคัทธณะกุมารที่ออกเดินทางเพื่อตามหาพระบิดา พร้อมกับชายเกวียนร้อยเล่ม ครั้นเวลาล่วงมาได้ 1 เดือน ก็มาถึงเมืองร้างเมืองหนึ่งชื่อ “เมืองชวาทวดีศรีมหานคร” เมื่อเข้าไปภายในเมืองก็พบว่าเมืองกลายเป็นเมืองร้างเช่นเดียวกับเมืองขวางทะบุรี จึงพากันเข้าไปสำรวจในท้องพระโรง ครั้นนั้นชายเกวียนร้อยเล่มนำเอาไม้มาเคาะตามเสาต่างๆในท้องพระโรง เมื่อมาถึงเสาต้นหนึ่งจึงนำไม้เคาะดู ก็ได้ยินเสียงร้องของหญิงสาวร้องเรียกจากภายในเสา จึงพากันเปิดเสาให้เป็นโพรง เเละพบกับหญิงสาวผู้หนึ่งนามว่า “นางคำสิง” หญิงสาวผู้นี้เป็นพระธิาของเจ้าเมืองชวาทวดีศรีมหานคร เจ้าคัทธณะกุมารจึงได้ไตร่ถามถึงเหตุอันเกิดเเก่เมืองชวาทวดีศรีมหานคร พระนางจึงได้เล่าเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นแก่เจ้าคัทธณะกุมารฟัง ความว่า เมืองชวาทวดีนี้เป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์มาโดยตลอด หากแต่มีเคราะห์กรรมมาเยือน เมื่อเจ้าเมืองเสด็จประพาสเข้าป่า ได้ประทับพักผ่อนใต้ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง บนต้นไม้ต้นนั้นมีอีกาตัวหนึ่งเกาะอยู่ จึงได้ถ่ายมูลลงมาถูกพระบิดา พระองค์ทรงพิโรธเป็นอันมาก จึงสังหารอีกาตัวนั้นเสีย ไม่เพียงเท่านั้นพระบิดายังรับสั่งให้ชาวเมืองพากันฆ่าพวกแร้ง กา ที่พบเห็นให้สิ้นพระนคร กรรมอันเกิดเเต่คำสั่งของพระบิดาร้อนถึงพญาแถน จึงส่งนกรุ้ง นกแร้ง และหงส์ทองจำนวนมาก บินลงมาจิกกัดกินชาวเมืองเสียสิ้น เหลือเพียงนางผู้เดียวที่รอดชีวิต เพราะถูกพระบิดาและพระมารดานำนางมาซ่อนในโพรงเสาของท้องพระโรงนี้
ในภาพบริเวณฝั่งขวามือ เป็นภาพเหตุการณ์ในตอนที่เจ้าคัทธณะกุมาร เเละชายเกวียนร้อยเล่มที่มาพบนางคำสิงที่ซ่อนอยู่ในโพรงเสาของท้องพระโรงของเมืองชวาทวดีศรีมหานคร ถัดไปเป็นภาพเขียนบริเวณด้านซ้ายเหนือประตู เป็นเหตุกาณ์ในตอนที่นางคำสิงได้เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่เมืองชวาทวดีให้เจ้าคัทธณะกุมารฟัง
ภาพเขียนปราสาทในภาพ เป็นปราสาททรงสูงยอดแหลม ส่วนของหลังคาลดสองชั้น มีจั่วกลางเป็นยอดแหลมสูง ซึ่งมีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมล้านนา แบบเมืองน่าน และสถาปัตยกรรมไทยภาคกลาง (กรุงเทพ) ส่วนบนมีช่อฟ้าแบบทางกรุงเทพ และปั้นลมแบบทางล้านนา ส่วนปราสาทเล็กด้านหลังมีลักษณะเป็นอาคารสี่เหลี่ยมจตุรัส หลังคาเป็นทรงสูงสองชั้นมียอดแหลม ลักษณะคล้ายกับวิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุกเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ส่วนประตูเมืองทำเป็นซุ้มหลังคาทรงซ้อนขึ้นไปหลายชั้นมียอดแหลม ดูคล้ายกับประตูกำแพงเมืองของทางกรุงเทพ ส่วนเรือนด้านหลังซึ่งก็น่าจะเป็นเรือนอาศัยของชาวเมืองชวาทวดี ซึ่งมีลักษณะเป็นเรือนของผู้มีฐานะดี โดยมีลักษณะเป็นเรือนทรงตึกสองชั้น ก่อด้วยอิฐถือปูนผสมกับไม้ ส่วนของหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา เป็นต้น
Physical Data