Description
Digital Data
ภาพจิตรกรรมบริเวณด้านหน้าศาลาที่พระมาลัย นั่งสนทนาธรรมกับพระอินทร์และพระศรีอริยะเมตไตรย มีเหล่าเทวบุตร เทวดาและนางฟ้า ที่มาเข้าเฝ้าพร้อมเพรียงกันอย่างมากมาย ในบริเวณนี้มีอักษรล้านนากำกับอยู่ ด้วยกัน 4 ชุด ชุดแรกล่างซ้ายอ่านได้ความว่า “เทวบุด” แปลได้ว่า “เทวดาหรือเทวบุตร” อักษรล้านนาชุดที่สองและสามอยู่บริเวณบนซ้าย ฝั่งซ้ายอ่านได้ความว่า “เทวบุด” แปลได้ว่า “เทวดาหรือเทวบุตร” ฝั่งขวาอ่านได้ความว่า “[นาง]เทว[ล]า” แปลได้ว่า “นางฟ้า” อักษรล้านนาชุดที่สี่อยู่บริเวณบนขวา อ่านได้ความว่า “เทวบุด” แปลได้ว่า “เทวดาหรือเทวบุตร” แสดงให้เห็นได้ว่า ทั้งหมดที่มาเข้าเฝ้าอยู่นี้คือเหล่าเทวบุตร เทวดาและนางฟ้า
ในภาพนี้มีการแสดงให้เห็นรูปแบบการผสมผสานการแต่งกายทั้งของพม่า ไทยวนและไทลื้อได้เป็นอย่างดี เป็นการให้รับรู้ได้ว่า สังคมตั้งแต่อดีตกาลมีหลากหลายชนชาติ ประกอบขึ้นเป็นสังคมขนาดใหญ่ที่มีความเจริญได้ ในที่นี้มีเทวบุตร เทวดาและนางฟ้า อยู่ทั้งหมด 3 กลุ่ม จึงขอแบ่งแยกอธิบายรายละเอียดเครื่องทรงทั้ง 3 กลุ่ม ดังต่อไปนี้
กลุ่มแรก เป็นเหล่าเทวบุตร เทวดาและนางฟ้า ที่ประทับอยู่ด้านล่างหน้า ศาลาที่ประทับ กลุ่มแรกเหล่านางฟ้าแต่งกายแบบหญิงชาวพม่า นางฟ้าองค์แรกที่นั่งอยู่ล่างซ้าย เห็นการแต่งกายได้ชัดเจนที่สุด มีการแต่งกายคือ ใส่เสื้อตัวในมีรูปแบบรัดรูป สูงเหนืออกเรียกว่า “บ่อลี” มีเสื้อตัวนอกคลุมอีกชั้น มีลักษณะเป็นเสื้อแขนยาวผ่าหน้า มีชื่อเรียกว่า “ถ่ายง์มะเตง” นุ่งผ้าซิ่น แต่ในภาพเขียนเพียงเล็กน้อยและลบเลือนจึงมิสามารถระบุได้ว่า เป็นผ้าซิ่นแบบใด ทำมวยผมที่เรยกกันในพม่าว่า “สะโดง” และใส่ตุ้มหู ส่วนนางฟ้าองค์อื่นๆแต่งกายคล้ายๆกัน บางองค์ก็มีผ้ามาึลึมไหล่ด้วย แต่นางฟ้างองค์ล่างขวาสุดมีการทำมวยผมแบบชาวไทลื้อและชาวไทยาว ที่เรียกว่า การทำมวยผมแบบ “วิดว้อง” ส่วนเทวบุตรทรงสวมชฏา ที่มีรูปแบบของเครื่องศิราภรณ์ทรงมงกุฎในรูปแบบของพม่า เรียกว่า “ตะระผู่” ใส่เสื้อแขนยาวมีกรองศอทับด้านบน
กลุ่มที่สองและสาม ที่อยู่บริเวณที่ประทับอยู่ด้านบนหน้า ศาลาที่ประทับ และกลุ่มทางขวาสุด นางฟ้าในกลุ่มนี้เขียนเป็นหญิงชาวไทยวนและไทลื้อ คือมีรูปแบบการแต่งกายที่เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นแบบหญิงชาวไทยวนและไทลื้อ คือมีการนำผ้าแถบสีเรียบและที่มีลวดลายมาห่มเฉียงแบบสไบ หรือคล้องทิ้งชายไปด้านหลัง ที่ในล้านนาเรียกว่า “ห่มผ้าสะหว้ายแล่ง”หรือ “เบี่ยงบ้าย” ทำผมมวยแบบ “วิดว้อง” เป็นที่นิยมของหญิงชาวไทยวนและชาวไทลื้อในยุคนั้น มัดมวยด้วยสร้อยคำ หรือ สร้อยทอง เจาะหูใส่ “ลานหู” มีลักษณะเป็นแผ่นแบนๆคล้ายแผ่นใบลานที่ทำจากแผ่นเงินหรือทองคำ นำมาม้วนแล้วใส่เข้าไป ส่วนเทวบุตรทรงสวมชฏา ที่มีรูปแบบของเครื่องศิราภรณ์ทรงมงกุฎในรูปแบบของพม่า เรียกว่า “ตะระผู่” ใส่เสื้อแขนยาวมีกรองศอทับด้านบน
Physical Data